เอแบคโพลล์ชี้1 ปีรัฐบาล "สุรยุทธ์" ดัชนีความสุขมวลรวมของคนไทยทรุดฮวบทุกเรื่อง แม้กระทั่งความเป็นธรรม ที่นายกฯ ประกาศจุดยืน ยังสอบตก พลังประชาชนจี้ กกต.จับตา "สนธิ" แทรกเลือกตั้ง "นพดล" เผย "แม้ว" เตรียมออกซีดีสอนเศรษฐกิจ
ภายหลังเผยแพร่ผลการสำรวจประชาชนเกี่ยวกับผลงานรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่สอบตกแทบทุกด้านไปแล้ว ล่าสุดเอแบคโพลล์ได้เผยแพร่ผลการสำรวจประชาชนเกี่ยวกับความสุขในชีวิต หลังรัฐบาลครบรอบ 1 ปี ก็พบว่าทุกเรื่องมีคะแนนลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ศูนย์วิจัยเอแบคโพลล์มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเกี่ยวกับความสุขคนไทยในรอบ 1 ปีรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผ่านการรายงานดัชนีความสุขมวลรวม (Gross Domestic Happiness Index, GDHI) ของประชาชนภายในประเทศในช่วงเดือนกันยายน 2550 โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนใน 21 จังหวัดของประเทศ จำนวน 4,885 คน ผลปรากฏว่า ความสุขของประชาชนเพิ่มขึ้นจาก 5.02 ในเดือนกรกฎาคม มาอยู่ที่ 5.94 ในเดือนกันยายน
เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายนปีที่แล้วซึ่งเป็นเดือนที่มีการปฏิรูปการปกครองโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) พบว่า ความสุขของประชาชนลดลงจาก 6.30 เหลือ 5.94 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
นายนพดลกรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า การที่นายกรัฐมนตรีเคยกล่าวไว้ในวันรับตำแหน่งว่า จะบริหารประเทศโดยเน้นความผาสุกของประชาชนและความเป็นธรรมในสังคม มากกว่าตัวชี้วัดอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่จากการวิจัยประเมินความสุขของประชาชนตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา พบว่า ความสุขของคนไทยลดต่ำลงมาโดยตลอด แม้แต่เรื่องความเป็นธรรมในสังคม ที่นายกฯ เคยประกาศเป็นวาระสำคัญของประเทศ แต่กลับไม่พบว่าการทำงานของนายกรัฐมนตรีทำให้ความสุขของคนไทยในเรื่องดังกล่าวสูงขึ้นแต่อย่างใด
ยิ่งไปกว่านั้นถ้าเปรียบเทียบผลวิจัยครั้งล่าสุดในเดือนกันยายน ปี 2550 กับเดือนกันยายน ปีที่แล้ว พบว่าความสุขของคนไทยลดลงในเกือบทุกเรื่อง เช่น ความสุขของคนไทยต่อความเป็นธรรมในสังคม ลดลงจาก 5.80 เหลือ 5.47 และถ้านายกรัฐมนตรีไม่สามารถลดความเคลือบแคลงสงสัยในหมู่ประชาชนกรณีที่ดินเขายายเที่ยงแล้ว ยิ่งน่าเป็นห่วงต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชน เพราะความเป็นธรรมในสังคมไม่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม หากกรณีเดียวกันเกิดขึ้นกับชาวบ้านธรรมดาทั่วไป คงโดนเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการไปนานแล้ว ดังนั้นนายกรัฐมนตรีควรรีบลดความเคลือบแคลงสงสัยในหมู่ประชาชนโดยเร็ว
นายนพดลกล่าวว่า นอกจากนี้ความสุขของคนไทยอีกหลายตัวลดลงเช่นกัน ได้แก่ ความสุขคนไทยต่อบรรยากาศของคนในครอบครัว ลดลงจาก 7.88 ในเดือนกันยายน ปีที่แล้ว เหลือเพียง 6.14 ในเดือนกันยายนปีนี้ ยิ่งล่าสุดมีข่าวในทางเสื่อมเสียต่อสถาบันครอบครัวไทย โดยเฉพาะข้าราชการชั้นสูงของหน่วยงานราชการต่างๆ และบุคคลต้นแบบทางสังคมคนอื่นๆ ด้วยแล้ว รัฐบาลชุดนี้น่าจะกลับใจอีกครั้งในการออกกฎหมายเสริมสร้างบรรยากาศที่เข้มแข็งให้ครอบครัวในสังคมไทย
เมื่อสอบถามความสุขของคนไทยต่อหน้าที่การงานและรายได้ก็พบว่าลดลงเช่นกัน คือ ลดลงจาก 7.18 ในเดือนกันยายน ปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 6.11 ในเดือนกันยายนปีนี้ นอกจากนี้ ความสุขคนไทยต่อสุขภาพกายลดลงจาก 6.56 เหลือ 6.07 ความสุขต่อสุขภาพใจลดลงจาก 6.22 เหลือ 5.84 ตามลำดับ และเมื่อสอบถามถึงระดับความทุกข์ของคนไทย พบว่า คนไทยที่ไม่มีความทุกข์เลยมีเพียงร้อยละ 4.7 เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นคนกลุ่มน้อยของสังคม ในขณะที่กว่าร้อยละ 90 ที่ยังคงมีความทุกข์ และเมื่อวิเคราะห์ค่าความทุกข์เฉลี่ยของคนไทยทั้งประเทศอยู่ที่ระดับ 4.67 จากคะแนนเต็ม 10 ถือว่าเป็นค่าคะแนนที่ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนทั่วไปยังคงมีความทุกข์และเป็นทุกข์ นายนพดล กล่าว
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคมกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ความสุขของประชาชนต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ กลับสูงขึ้นจาก 3.74 ในเดือนกรกฎาคม มาอยู่ที่ 4.88 ในการวิจัยครั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า การที่รัฐบาลชุดปัจจุบันประกาศจุดยืนชัดเจนว่าจะให้มีการเลือกตั้งในปลายปีนี้ และการส่งสัญญาณที่ชัดเจนไม่ให้มีการสืบทอดอำนาจของกลุ่มบุคคลในคณะปฏิรูปน่าจะเป็นตัวช่วยที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่ตัว ที่ทำให้ประชาชนมองภาพลักษณ์ของรัฐบาลชุดนี้และมีความสุขขึ้นได้บ้าง
นอกจากนี้ผลวิจัยยังพบว่า ความสุขของประชาชนต่อสภาพแวดล้อมสูงขึ้นจาก 3.88 ในเดือนกันยายน ปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 5.91 และความสุขต่อบรรยากาศภายในชุมชนสูงขึ้นจาก 5.16 มาอยู่ที่ 5.87