นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยวานนี้ (14 ต.ค.) ว่า ขณะนี้บรรยากาศโดยรวมทางเศรษฐกิจถือว่าดีมาก และมีภาพชัดเจนมากขึ้นว่าเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในเกณฑ์บวก โดยเฉพาะประเด็นการแข็งค่าของเงินบาทที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าจะทำให้การส่งออกชะลอตัว ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นแล้ว ค่าเงินบาทของไทยไม่แข็งค่าไปกว่าประเทศเพื่อนบ้านนัก เพราะที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถบริหารจัดการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างดีและจะดูแลอย่างเต็มที่ต่อไป ขณะเดียวกัน ก็มีความชัดเจนเรื่องการลงทุนมากขึ้น ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ทยอยประกาศการลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการลงทุนจากต่างประเทศในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่มีเงินทุนไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีในช่วงต่อไป ส่วนการปรับขึ้นราคาสินค้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ได้ดูแลอย่างเต็มที่อยู่แล้ว
ด้านนายพงษ์เทพ ถิฐาพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (พพพ.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของ พพพ.ในปีงบประมาณ 2550 สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนด โดยคาดว่าเร็ว ๆ นี้จะสามารถปิดโครงการทั้งหมดโดยโอนเงินที่เหลือไม่ถึง 1,000 ล้านบาทให้กับหมู่บ้านที่ได้รับอนุมัติวงเงินทั้งหมดได้ ซึ่งเท่ากับว่า พพพ.สามารถใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนทั่วประเทศประมาณ 20,000 หมู่บ้าน นำเงินไปพัฒนาชุมชน เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยแต่ละโครงการเป็นโครงการที่มีศักยภาพและเป็นประโยชน์ที่แท้จริงต่อชุมชน
นายพงษ์เทพ กล่าวว่า เมื่อ พพพ.โอนเงินได้ครบทั้ง 20,000 หมู่บ้านแล้ว จะว่าจ้างให้มหาวิทยาลัยสุรนารีเข้าไปประเมินโครงการของทุกชุมชนภายในสิ้นปีนี้ ว่าได้รับประโยชน์ที่แท้จริงมากน้อยเพียงใด ก่อนจัดทำรายงานเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณารายละเอียดต่อไป และหลังจากปิดโครงการ พพพ.แล้ว ต้องรอผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาส่งต่อให้รัฐบาลชุดใหม่ว่าจะดำเนินโครงการนี้ต่อไปหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2551 พพพ.ไม่ได้รับงบประมาณเพิ่มเติมแต่อย่างใด เท่ากับว่าเป็นการปิดโครงการ พพพ.ไปโดยปริยาย
ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการ พพพ. กล่าวอีกว่า การพิจารณาแต่ละโครงการของ พพพ. เข้มงวด เพราะต้องการให้ทุกโครงการที่ได้รับเงินงบประมาณมีคุณภาพ มีการใช้เงินอย่างคุ้มค่า มีประโยชน์หรือต่อยอดให้กับชุมชนได้จริง ไม่ต้องการให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนกับหลายโครงการที่ผ่านมา ที่สังคมเห็นว่าเป็นการแจกเงิน มากกว่าการพัฒนาชุมชน เนื่องจากเมื่อให้งบประมาณไปแล้ว ต้องมีกระบวนการติดตามการใช้เงินอย่างเข้มงวด เพื่อให้เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้รับโอนไปแล้วตกไปถึงชุมชนที่แท้จริง ไม่ได้ไปอยู่ในบัญชี