สมัคร จวก นาม พวกมีปัญหา
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน และอดีตผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงกรณีที่นายนาม ยิ้มแย้ม ประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)
ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง ระบุว่า หนังสือคัดค้านการทำหน้าที่ประธานอนุกรรมการฯ เป็นเหตุผลเก่าที่เคยยื่นคัดค้านตัวอนุกรรมการมาแล้วว่า ยืนยันที่ต้องคัดค้านการทำหน้าที่ของนายนาม และสงสัยเรื่องหัวสมองของนายนาม เพราะคราวที่แล้วที่มีการส่งรายชื่ออนุกรรมการไต่สวนฯมาให้ดู ไม่รู้จักใครเลยสักคนจึงไม่ได้คัดค้าน แต่ครั้งนี้ที่ส่งเหตุผลการคัดค้านมา 5 ข้อ ก็มี 3 ข้อที่เข้าล็อกที่ขอคัดค้านคือ 1. กรณีที่นายนามรู้เรื่องนี้มาก่อน 2. เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีมาก่อนด้วย และ 3. เป็นบุคคลที่มีปัญหา เพราะมีการฟ้องร้องเป็นคดีความกัน ถ้าหัวสมองของนายนามเป็น แบบนี้ แล้วจะมาทำงานตรวจสอบคดีนี้ได้อย่างไร และไม่เดือดร้อนแย่หรือ จะหาความเป็นกลางได้จากไหน เรื่องนี้ต้องคัดค้านเต็มที่ เพราะถ้านายนามคิดอย่างคนธรรมดาสามัญจึงพึงคิด ต้องไปถามนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯกทม.คนปัจจุบันดูบ้างว่า ถ้าเห็นว่ามันทำให้รัฐเสียหายแล้ว กทม.ไปยอมจ่ายเงินให้ผู้ขายไปแล้ว 2 งวดทำไม
เปรียบสัญญาจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง
วันเดียวกัน ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นายบรรเจิด สิงคะเนติ กรรมการ คตส. และอนุกรรมการไต่สวนการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้เชิญผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จากสำนักงบประมาณ มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำสัญญาจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงดังกล่าว เพื่อที่จะมาเทียบกันว่า การทำสัญญาจีทูจีในภาคกลาโหม จะต้องทำเช่นเดียวกับภาคพลเรือนหรือไม่ ทั้งนี้ต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญจากกรมสนธิสัญญาต่างประเทศ มาให้ข้อมูลเพื่อที่จะนำมาเปรียบเทียบกัน ถ้าหากมีความแตกต่างกันก็ต้องยึดหลักกลาโหมเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการไต่สวนต้องสอบถามไปยังแต่ละกระทรวงว่า เคยทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐหรือไม่ เหตุที่ต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งสามหน่วยงานมาให้ข้อมูล ก็เพื่อต้องการทราบสัญญาแบบรัฐต่อรัฐมีกระบวนการอย่างไร เมื่อคณะอนุกรรมการไต่สวนได้หลักการแล้ว ก็จะนำสัญญาแบบจีทูจีมาเทียบกับการทำสัญญาของ กทม.ในการจัดซื้อรถดับเพลิงดังกล่าว ที่มีการทำสัญญาแบบจีทูจีกับประเทศออสเตรีย มีความแตกต่างกับกรณีนี้อื่นๆอย่างไร