"ชวน หลีกภัย" แนะหนีภัยโรคหัวใจด้วยการออกกำลังควบคู่กับการกินที่มีคุณภาพ คุยผ่าตัดหัวใจมา 5 ปี ยังปึ๋งปั๋ง ทำงานได้เหมือนปกติ
มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานวันหัวใจโลก เดินเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ที่สวนหลวง ร.9 โดยมีประชาชนนับพันคนสวมเสื้อเหลืองเข้าร่วมกิจกรรมเดินเป็นระยะทาง 2.4 กิโลเมตร เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา และเพื่อร่วมกิจกรรมวันหัวใจโลก จัดขึ้นพร้อมกันกว่า 90 ประเทศทั่วโลก กระตุ้นให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพให้ปลอดจากการเป็นโรคหัวใจ
วันหัวใจโลกปีนี้ จัดเป็นครั้งที่ 8 มีคำขวัญว่า Team Up For Healthy Heart หรือร่วมกันทำให้หัวใจแข็งแรง
มีนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานเปิดงาน และกล่าวเชิญชวนให้ประชาชนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูง อายุออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดปัญหาโรคหัวใจ ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ได้เปิดสวนสาธารณะเพิ่มอีก 10 แห่ง รวมเป็น 24 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นสถานที่ออกกำลังกาย สวนทุกแห่งจะมีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย และอำนวยความสะดวก หากเป็นไปได้ขอให้ประชาชนใช้บริการสวนสาธารณะใกล้บ้าน โดยไม่ขับรถยนต์ไป อาจขี่รถจักรยานไปจอดไว้ในสวนแทน และหลายแห่ง เช่น สวนรถไฟ ก็มีลู่จักรยานให้ขี่อย่างปลอดภัยด้วย
ชวนเปิดหลักสูตรดูแลหัวใจปึ๋งปั๋ง
ในโอกาสนี้นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยผ่าตัดหัวใจมาก่อน เปิดเผยถึงการดูแลหัวใจให้แข็งแรง ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการออกกำลังกาย
"ผมเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วตั้งแต่กำเนิด ต่อมาอายุมากแพทย์แนะนำให้ผ่าตัด เนื่องจากภาวะหัวใจโต มีความเสี่ยงสูงต่อหัวใจล้มเหลว ช่วงนั้นยังติดภาระกิจดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงผัดผ่อนมาเรื่อยๆ จนกระทั่งพ้นวาระเข้ารับการผ่าตัดที่สถาบันโรคทรวงอก กระทรวงสาธารณสุข เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งขีดความสามารถของแพทย์ไทยทัดเทียมกับแพทย์ต่างประเทศ และการผ่าตัดลิ้นหัวใจรั่วในกรณีของผมนั้นมีความเสี่ยงแค่ร้อยละ 1-2" นายชวนกล่าวและว่า ภายหลังการผ่าตัดได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ถือว่าตนเป็นคนไข้ที่ดีของหมอคนหนึ่ง สั่งให้รักษาร่างกาย ออกกำลังกายตามกำหนดเวลา รวมทั้งเรื่องอาหารการกิน อีกทั้งประสิทธิภาพการทำงานก็ไม่เคยลดลง
"หลังผ่าตัดใหม่ๆ หมอบอกว่าวันหนึ่งควรเดินขึ้นบันไดกี่ขั้น ต้องย่างเท้าใดก่อน ผมทำตามที่หมอสั่งทั้งหมด เดินวันละกี่นาที จนกระทั่งล่วงไปกี่วันถึงจะเดินเร็วขึ้น เพิ่มเรื่อยๆ จนเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ว่าหลังผ่าตัด ตอนแรกหัวใจเต้นไม่ปกติอยู่หลายเดือน แต่ต่อมาวันหนึ่งหมอตรวจสุขภาพก็ตกใจ หัวใจผมกลับมาเต้นปกติแล้ว ทุกปีต้องไปตรวจสุขภาพประจำ ปีละ 1 ถึง 2 ครั้ง" นายชวนกล่าว และเปิดเผยอีกว่า ปัจจุบันออกกำลังกายได้นานและหนักขึ้น จากเดิมวันละ 40 นาที หลังผ่าตัดออกกำลังกายได้เป็นวันละกว่า 1 ชั่วโมง ท่าโหนบาร์ห้อยศีรษะ ตนก็ยังทำได้เพราะเคยทำมาตั้งแต่เป็นเด็ก
อย่างไรก็ตาม ของโปรดที่เคยชอบที่สุดในชีวิตคือ ทุเรียนกวน
นายชวนกล่าวว่า ปัจจุบันเลิกรับประทานโดยเด็ดขาด เพราะแพทย์ห้าม เนื่องจากอายุมาก ระบบการย่อยจะเสื่อมลง อีกทั้งอาหารที่เสี่ยงต่อสุขภาพ พวกหวานเกินไป เค็มเกินไป มันเกินไปก็ต้องหยุด สิ่งที่ดีที่สุดคือป้องกันตัวเอง ไม่มียาอะไรวิเศษเท่ากับการออกกำลังกาย ซึ่งตนก็ไม่ขี้เกียจ ทุกวันนี้ยังออกกำลังกาย คุมอาหารสม่ำเสมอ.