ยัน พ.ร.บ.ความรุนแรงในครอบครัวเน้นคุ้มครอง-ไม่ละเมิดสิทธิสื่อ
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชน และผู้สูงอายุ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าววานนี้ (23 ก.ย.) ถึงกรณีสื่อมวลชนโดยเฉพาะสายอาชญากรรมโจมตีร่าง พ.ร.บ.การควบคุมการใช้ความรุนแรงในครอบครัว มาตรา 9 เป็นการขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ จำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เน้นคุ้มครองเฉพาะความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว หมายถึงกรณีผู้กระทำและผู้ถูกกระทำอยู่ในครอบครัวเดียวกัน
ประธานกรรมาธิการกิจการสตรีฯ กล่าวว่า สื่อมวลชนต้องระมัดระวังไม่นำเสนอข่าวที่ทำให้สาธารณชนรู้ว่าผู้กระทำและผู้ถูกกระทำดังกล่าวเป็นใคร ส่วนกรณีผู้กระทำไปกระทำความรุนแรงกับบุคคลต่างครอบครัว นำเสนอข่าวได้ตามปกติ การนำเสนอข่าวโดยไม่ระวัง อาจทำให้สาธารณชน ทราบตัวผู้เสียหายหรือผู้ถูกกระทำว่าถูกคนในครอบครัวข่มขืนหรือทำร้ายร่างกาย ย่อมทำให้บุคคลนั้นใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ยาก
ด้าน น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า เมื่อมีความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้น เห็นว่าควรมีการนำเสนอปัญหานี้ในข่าว แต่อยากให้สื่อมวลชนระมัดระวังการนำเสนอ คำนึงถึงผลกระทบต่อตัวผู้เสียหายเป็นสำคัญ ต้องถามความสมัครใจของผู้ถูกกระทำ ไม่อยากให้เน้นการสร้างความสนใจเพื่อขายข่าว แต่อยากให้มุ่งนำเสนอว่าเกิดเหตุทำร้ายกันภายในครอบครัว
หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวต่อว่า ที่สำคัญไม่จำเป็นต้องนำเสนอชื่อนามสกุลหรือที่อยู่ เพราะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้ การนำเสนอยังเป็นผลร้ายกับผู้ตกเป็นข่าว ต้องย้ายอพยพตัวเองออกจากสังคม เด็กบางคนอับอายจนไปโรงเรียนเดิมไม่ได้ การที่สื่อมวลชนไม่เปิดเผยผู้เสียหาย แต่เปิดเผยญาติผู้กระทำผิดจะทำให้สังคมทราบได้อยู่ดีว่าเป็นใคร
หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี กล่าวด้วยว่า ขอเรียกร้องให้สมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งหมดหารือร่วมกัน พร้อมเชิญนักกฎหมาย นักวิชาการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ องค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมกันกำหนดเป็นกรอบ แนวทาง ในการนำเสนอข่าวการกระทำความรุนแรงในครอบครัวอย่างชัดเจน ลักษณะคล้ายกับจรรยาบรรณ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนต่อผู้ปฏิบัติงาน