หมอประเวศ เสนอ 5 มาตรฐาน ISO พรรคการเมืองที่ดี

'หมอประเวศ' ชูมาตรา 87 ช่วยส่งเสริมปชต.ไทยให้เข้มแข็งได้


จี้รบ.เร่งนำมาใช้เลยไม่ต้องรอรบ.ใหม่ เสนอ 5ตราฐาน ISO พรรคการเมืองที่ดี แนะดึงสสส.มาช่วยขับเคลื่อนให้สังคมเข้มแข็ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ได้เขียนบทความเกี่ยวกับมาตรฐานของพรรคการเมืองที่ดี โดยใช้ชื่อหัวข้อว่า 'ISO พรรคการเมืองและการใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 87' โดยระบุว่า ขณะนี้ดูจะมีความวิตกกังวลกันอยู่ทั่วๆ ไปว่า การเมืองจะย่ำเท้าเข้าวงจรเดิมๆ มีการใช้เงินซื้อเสียงแล้วก็เข้ามาโกงกินกันอีกแล้วก็วิกฤตทางการเมืองซ้ำซากๆ อยู่อย่างนั้น อย่างไรก็ตาม เห็นว่าความวิกฤตกังวลดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้ช่วยกันทำให้การเมืองดีขึ้น อย่าลืมว่าการเมืองดีไม่มีขายอยากได้ต้องร่วมสร้าง ลำพังนักการเมืองจะพัฒนาตัวเองก็คงจะได้บ้างแต่ยาก สังคมต้องเข้ามาเอาใจใส่ดูแลการเมืองจึงจะดีขึ้น
 

'ขนาดพระสงฆ์ที่มีพระบรมศาสดาเป็นครูและมีพระธรรมวินัยเป็นเครื่องกำกับก็ยังเอาดีด้วยตัวเองได้ยาก ถ้าอุบาสกอุบาสิกาไม่มาเอาใจใส่ดูแล หรืออย่างพระสงฆ์ที่กรุงโกสัมพีทะเลาะกัน พระศาสดาเสด็จไปห้าม ยังไม่ยอมหยุด ประชาชนต้องเข้ามาจัดการ จึงหยุดทะเลาะกัน นี้ก็จะเข้าใจว่าทำไมพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงสอนเรื่องดีๆ แล้วจึงไม่ได้ผล ก็ขนาดพระพุทธเจ้าห้ามพระยังไม่หยุดทะเลาะกัน เราจึงควรจำไว้เสมอว่า ประชาธิปไตยจะดีขึ้นอยู่ที่ประชาชน อย่าไปมองเป็นเรื่องของนักการเมืองโดดๆ' บทความดังกล่าวระบุ


บทความดังกล่าวยังแนะนำว่า หากจะยกระดับคุณภาพการเมืองและกระบวนการทางสังคม ควรทำเรื่องเฉพาะหน้า 3 เรื่อง ดังต่อไปนี้

1.ทำให้การเลือกตั้งยุติธรรม การใช้เงินจำนวนมากซื้อตัวผู้สมัครและซื้อเสียงทำให้การเมืองบิดเบี้ยวและในที่สุดเข้าไปสู่ทางตัน การใช้อำนาจรัฐให้คุณให้โทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็เช่นเดียวกัน บางคราวอำนาจเงินถืออำนาจรัฐด้วย ทำให้การแข่งขันขาดความเป็นธรรม ทำให้ไม่มีใครอยากแข่งขันด้วยในเกมที่ไม่ยุติธรรม การแข่งขันจะต้องแข่งกันที่นโยบายและความดี ไม่ใช่ด้วยเงินหรือด้วยอำนาจรัฐ ดังนั้น กกต. องค์กรกลาง สถาบันพระปกเกล้า สื่อมวลชน มหาวิทยาลัย รวมทั้งกลุ่มและองค์กรอื่นๆ ควรรวมตัวกันเป็นภาคีพัฒนาการเมือง สร้างกรอบ กติกา และกลไกการควบคุมดูแลให้การเลือกตั้งมีความถูกต้องเป็นธรรมที่สุดเท่าที่จะทำได้

2.ปฏิรูปพรรคการเมือง ให้พรรคการเมืองเป็นสถาบัน โดยให้ภาคีพัฒนาการเมืองควรเข้ามาส่งเสริมตรวจสอบพรรคการเมือง อาจจัดให้มีการทำ ISO พรรคการเมือง ไม่ใช่เพื่อประณาม แต่เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพ


ทั้งนี้ พรรคการเมืองที่มีคุณภาพ น่าจะมีลักษณะ 5 ประการ ดังต่อไปนี้


1) เป็นองค์กรสาธารณะที่มีประชาชนเป็นเจ้าของ ไม่ใช่บริษัทค้ากำไรส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง ต้องมีโครงสร้างที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่เผด็จการโดยเจ้าของพรรค และมีหน้าที่สร้างประชาธิปไตย
2) มีความโปร่งใสทางการเงิน ให้สาธารณะตรวจสอบที่มาและที่ไปได้
3) มีปัญญาและความดี หากพรรคการเมืองขาดปัญญาแล้วไม่มีทางจะแก้ปัญหาของประเทศชาติได้ พรรคการเมืองจะต้องเป็นองค์กรเรียนรู้ (Learning Political Party) ควรมีสถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะ เพื่อเป็นเครื่องมือให้พรรคสามารถทำนโยบายสาธารณะที่ดี พรรคต้องตั้งอยู่ในความถูกต้อง เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เยาวชนและคนทั่วไป
4) มีนโยบายที่สะท้อนเป้าหมายและวิสัยทัศน์ใหญ่ในการพัฒนาประเทศ พร้อมทั้งมาตรการที่จะบรรลุความสำเร็จ
5) สามารถให้การศึกษาแก่ประชาชน เพื่อนำสังคมไปสู่แสงสว่างทางปัญญา

3.ร่วมสร้างสังคมเข้มแข็ง สังคมเข้มแข็งทำให้เศรษฐกิจดี การเมืองดี และศีลธรรมดี (Robert Putman: Making Democracy Work)


นอกจากนี้ บทความยังได้กล่าวยกย่องรัฐธรรมนูญมาตรา 87 ว่า เป็นบทส่งเสริมประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุด

เพราะกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนี้

1) ส่งเสริมให้มีประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
2) ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะ
3) ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ ในรูปแบบองค์กรทางวิชาชีพหรือตามสาขาอาชีพที่หลากหลายหรือรูปแบบอื่น
4) ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้มแข็งในทางการเมือง และจัดให้มีกฏหมายจัดตั้งกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง เพื่อช่วยเหลือการดำเนินกิจกรรมสาธารณะของชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการของกลุ่มประชาชนที่รวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายทุกรูปแบบ ให้สามารถแสดงความคิดเห็นและเสนอความต้องการของชุมชนในพื้นที่
5) ส่งเสริมและให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการพัฒนาการเมืองและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเลือกตั้งโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

ที่สำคัญคือ การมีส่วนร่วมของประชาชนตามมาตรานี้ ต้องคำนึงถึงสัดส่วนของหญิงและชายทีใกล้เคียงกัน


นพ.ประเวศ แนะนำว่า ให้เร่งศึกษามาตรา 87 กันอย่างทั่วถึง เพราะหากปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรานี้กันอย่างจริงจัง บ้านเมืองจะเกิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จะแก้ความยากจนได้ เศรษฐกิจดี เกิดความเป็นธรรมทางสังคม

'อย่าไปรอรัฐบาลหน้า รัฐบาลนี้ควรนำการเคลื่อนไหวปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรานี้ได้เลย โดยเฉพาะกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพราะสังคมเข้มแข็งคือการพัฒนาสังคมอย่างยิ่ง คือความมั่นคงของมนุษย์อย่างยิ่ง'


นอกจากนี้ บทความดังกล่าวแนะนำเพิ่มว่า ในมาตรา 87 ระบุให้ออกกฎหมายตั้งกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง

ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องที่ชักช้า แต่หากทำให้องค์กรที่มีอยู่แล้วเกิดความเข้มแข็งมีความชำนาญที่จะตรวจสอบได้ เช่น สสส.(สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) มาช่วยขับเคลื่อน เพราะสุขภาพก็เกี่ยวข้องกับสังคมเข้มแข็งทั้งเนื้อทั้งตัว ฉะนั้น ในยามที่บ้านเมืองติดขัดเช่นนี้ สสส.ควรจะเข้ามาสนับสนุนการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 87 หรือกระบวนการสังคมเข้มแข็งอย่างเต็มตัว การแก้ความยากจนและเศรษฐกิจพอเพียงจะอยู่ในบริบทนี้


รัฐบาลควรจะขอให้ สสส.สนับสนุนการขับเคลื่อนตามมาตรา 87

โดยจะจัดงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมหรือไม่ก็ตามที งานของ สสส. ในเรื่องสนับสนุนสังคมเข้มแข็งนี้จะปูทางให้ว่าในที่สุดเมื่อมีการออกกฎหมายจัดตั้งกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองจะทำงานกันอย่างไรให้ได้ผล สุดท้าย ข้อเสนอของนพ.ประเวศ ย้ำว่า 'ขอให้ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 87 สร้างสังคมเข้มแข็ง สังคมเข้มแข็งจะทำให้เศรษฐกิจดี การเมืองดี และศีลธรรมดี สังคมเข้มแข็งหรือประชาสังคมคือสาระของประชาธิปไตย'


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์