สุรยุทธ์ยันต้นปีมีนายกฯใหม่ เผยกฎหมายลูกคุมเข้ม-แรง

"เสนาะ" วอน "ศุภชัย" เสียสละเพื่อชาติ นำทัพสู้เลือกตั้ง เผยทาบ 3 กลุ่มร่วมมือ "ประดิษฐ์" ชี้พรรค "เพื่อแผ่นดิน"

ชัดเจน 11 ก.ย. “สุรยุทธ์” การันตีสิงคโปร์ ไทยได้นายกฯ ใหม่ต้นปีหน้า เผยกฎหมายลูก เข้ม-แรง อุดช่องทางซื้อเสียง ทนายแม้ว เย้ย คตส.ทำตัวเป็นอินเดียนน่าโจนส์หาขุมทรัพย์



นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช กล่าวว่า

ความเป็นไปได้ที่ 4 กลุ่มการเมืองจะมารวมกันเพื่อต่อสู้ในสนามเลือกตั้งนั้น มีความเป็นไปได้สูง ซึ่งขณะนี้ยังเหลือเพียงคำตอบจากนายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการอังค์ถัด ว่าจะเสียสละเพื่อบ้านเมืองมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคหรือไม่ เพราะนับจากวันนี้เป็นต้นไป แม้จะมีการเลือกตั้ง หากสถานการณ์และการรวมกลุ่มการเมืองยังคงเป็นเช่นนี้ บ้านเมืองไม่มีทางสงบสุขได้แน่


"ก็ต้องขอฝากไปว่า อยากให้ท่าน (นายศุภชัย) ได้พิจารณา ตัดสินใจเสียสละเพื่อชาติบ้านเมืองอีกครั้ง ถึงแม้ท่านจะยังอยู่ในตำแหน่งเลขาฯ อังค์ถัดไม่ครบเทอม แต่งานนี้เพื่อชาติบ้านเมืองจริงๆ" นายเสนาะ กล่าวและว่า หากนายศุภชัยตอบรับ ก็จะทำให้การเมืองไทยเปลี่ยนไป เพราะตนเชื่อว่าอดีต ส.ส.หลายคนที่กลับไปพรรคพลังประชาชน จะตัดสินใจกันใหม่


ด้าน นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ แกนนำกลุ่มรวมใจไทย

ให้สัมภาษณ์ปฏิเสธข่าวที่ระบุว่า กลุ่มมัชฌิมาของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน กลุ่มสมานฉันท์ของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ และพรรคประชาราชของ นายเสนาะ จะร่วมกับกลุ่มรวมใจไทย จัดตั้งพรรคเพื่อแผ่นดิน


นายประดิษฐ์ ยอมรับว่า แม้จะได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานกับกลุ่มต่างๆ ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยอมรับว่ายังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งนี้ ขอให้รอดูวันอังคารที่ 11 กันยายน ที่มีข่าวว่าจะมีกลุ่มการเมืองแถลงข่าวเรื่องตั้งพรรคเพื่อแผ่นดิน คงต้องรอดูวันนั้น เวลานี้ยืนยันว่ากลุ่มรวมใจไทยไม่รู้เรื่องการตั้งพรรค แม้ที่ผ่านมาจะได้คุยกับนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ จากพรรคประชาราช แต่ไม่มีความคืบหน้า


อย่างไรก็ตาม กลุ่มรวมใจไทยก็จะเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งอย่างเต็มที่

และเตรียมเสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาให้บ้านเมือง โดยจะมีความชัดเจนเรื่องการตั้งพรรครวมใจไทยช่วงกลางเดือนนี้ และคิดว่าในอนาคตหลังการเลือกตั้งแล้ว อาจจะมีความร่วมมือทางด้านการเมืองของกลุ่มการเมือง หรือ พรรคการเมืองเกิดขึ้นได้ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ แกนนำกลุ่มรวมใจไทย กล่าวว่า

หากไม่สามารถรวมกลุ่มการเมืองได้ ก็จะมีการพิจารณาเรื่องการจัดตั้งพรรครวมใจไทย ซึ่งขณะนี้มีการเตรียมตัวบุคคลที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคไว้แล้ว รอเพียงความชัดเจนทางการเมืองเท่านั้น และไม่วิตกเรื่องกระแสพรรคพลังประชาชน ที่เวลานี้ค่อนข้างชัดเจน และมีผู้สมัคร ส.ส.หลายคน ที่อาจจะเป็นคู่แข่งของกลุ่มรวมใจไทย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มรวมใจไทยได้จัดพิธีย้ายศาลพระภูมิ

บริเวณอาคาร ณ ถลาง ซึ่งเป็นที่ทำการกลุ่ม เพื่อความเป็นสิริมงคล และเชื่อว่าจะทำให้การดำเนินการทางการเมืองของกลุ่มได้รับการตอบรับจากประชาชน โดยมีนายประดิษฐ์ และนายเอนก ร่วมพิธี นอกจากนี้ ยังมี พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร สมาชิกพรรคประชาราช มาร่วมด้วย"อภิสิทธิ์"ย้ำจุดยืนไม่ร่วมสังฆกรรมพปช.


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่กลุ่มมัชฌิมา กลุ่มรวมใจไทย กลุ่มสมานฉันท์ และพรรคประชาราช จะรวมตัวตั้งพรรคเพื่อแผ่นดินว่า ถ้า 4 กลุ่มนี้มีจุดยืนร่วมกันก็เป็นสิ่งที่ดี จะทำให้ความชัดเจนในการกำหนดทางเลือกของประเทศทำได้ง่ายขึ้น พรรคที่ได้แข่งขันในการเลือกตั้งจะได้มีไม่มากเกินไป ความชัดเจนในทางเลือกของประชาชนจะง่ายขึ้น พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้กลัวเรื่องการแข่งขัน และพร้อมร่วมงานการเมืองกับทุกพรรค โดยจะพิจารณาจากจุดยืน และนโยบาย ยกเว้นพรรคพลังประชาชน ที่ไม่ได้มีจุดยืนเพื่อประเทศชาติ แต่ทำเพื่อตัวเอง
 

อย่างไรก็ตาม การเมืองในขณะนี้ยังอยู่ในวิสัยที่พรรคการเมืองจะพบปะพูดคุยกันได้ อย่าเพิ่งตีความว่ามีการเลือกข้างแล้ว
 


นายกฯเผยไทยได้นายกฯใหม่ม.ค.นี้


พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ครั้งที่ 15 ที่นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย โดยได้มีการหารือทวิภาคีกับนายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ที่โรงแรม The Observatory ซึ่งเป็นที่พักของคณะรัฐบาลไทย ที่ทางการออสเตรเลียจัดไว้ให้


ทั้งนี้ ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.สุรยุทธ์ เล่าให้นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ฟังถึงความคืบหน้าในการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยของไทย ที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น และนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ซักถามว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยจะเข้าสู่ตำแหน่งเมื่อไร

ซึ่งพล.อ.สุรยุทธ์ บอกว่าน่าจะเป็นช่วงปลายเดือนมกราคม


ในวันเดียวกัน พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวในรายการ "เปิดบ้านพิษณุโลก" ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ว่าเรื่องที่ทางสหภาพยุโรป(อียู) และอีกหลายประเทศจะขอเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งของประเทศไทยนั้น

เราก็ยินดีเพื่อต้องการให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรมที่สุด แต่การทำข้อตกลงต่างๆ และเซ็นบันทึกข้อตกลงทำเอ็มโอยูนั้นก็ขึ้นอยู่ที่ดุลยพินิจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยที่กระทรวงการต่างประเทศจะเข้าไปช่วยนิดหน่อย ซึ่งรัฐบาลอยากจะทำให้โปร่งใส และไม่มีคนมาบอกว่าการเลือกตั้งของเราไม่ดี ไม่อยากจะเห็นอย่างนั้น


นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความเห็นกรณีทหารจะลงเล่นการเมืองเหมาะสมหรือไม่นั้น เป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ไม่สมควรหากอยู่ในอายุราชการก็ต้องลาออกเสียก่อน ซึ่งไม่เฉพาะทหารเท่านั้นรวมถึงข้าราชการทั่วไปด้วย


ย้ำ 23 ธ.ค.เลือกตั้งแน่
 

พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวอีกว่า เรื่องการเลือกตั้งถือเป็นวาระเร่งด่วนที่สุด และวันที่ 23 ธันวาคมนี้ เหมาะสมแล้ว เมื่อถึงกำหนดเวลาก็หมายถึงว่าวันที่จะเป็นวันกำหนดการเลือกตั้งจริงๆ นั้น ก็จะต้องรอหลังจากกฎหมายลูก 3 ฉบับเสร็จแล้ว ถึงจะได้ข้อยุติว่าเราจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อพระราชทานวันที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม


ส่วนกรณีที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 3 ฉบับ เกรงว่าหากกฎหมายลูกส่งผลกระทบเลื่อนวันเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม ออกไปนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กำหนดไว้ว่า หาก 45 วันแล้วก็ยังร่างแก้กฎหมายลูก 3 ฉบับนี้ไม่เสร็จ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็สามารถที่จะนำส่วนที่ไม่เสร็จนี้ขึ้นนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และใช้เป็นกฎหมายได้เลย ดังนั้น ยังเชื่อมั่นว่าวันเลือกตั้งยังคงเป็นวันที่ 23 ธันวาคมนี้ ตามกำหนดเดิม
 

กกต.ชี้มีทางเลือกไม่ต้องเซ็นเอ็มโอยู
 

ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ตนได้นำผลการหารือกับอียูรายงานให้ กกต.ทราบแล้ว และสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของ กกต.ได้อย่างเร็วในวันที่ 11 กันยายนนี้ ซึ่งเรื่องการทำเอ็มโอยูนั้นเรามองประเด็นต่างกัน โดยในส่วนของไทยเห็นว่า การทำข้อตกลงดังกล่าวน่าจะเข้าลักษณะผูกพัน และเข้าเงื่อนไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่จะเป็นสนธิสัญญาและต้องขอความเห็นชอบจากสภา ซึ่งนักกฎหมายของไทยหลายคนก็มองเช่นนี้ แต่ทางอียูมองว่าไม่น่าจะเข้าข่าย แต่ต้องไม่ลืมว่า เวลาตีความฝ่ายกฎหมายไทยจะต้องเป็นผู้ตีความ


“ดังนั้น จึงคิดว่าในเมื่อมีทางเลือกอื่นที่มีปัญหาน้อยกว่าก็น่าจะไปทางนั้น เพราะจากการพูดคุยกับอียู ก็เปิดช่องว่า หากไทยเห็นว่าการทำเอ็มโอยูไม่เหมาะสม และมีประเด็นความห่วงใย มีปัญหาในประเทศ จะเข้าเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ไทยก็สามารถเชิญกลุ่มประเทศในอียูให้เข้ามาร่วมสังเกตการณ์โดยไม่เซ็นเอ็มโอยู และไม่เข้าโครงการก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้ตนจะนำไปเรียน กกต.ให้พิจารณาด้วย” นายสุทธิพล กล่าว


ขณะที่ น.ต.ประสงค์ ท้วงติงกรณีที่นายกรัฐมนตรีระบุว่า จะให้ กกต.เป็นผู้ตัดสินใจเรื่องเซ็นเอ็มโอยูว่า ตามรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดว่า การทำสนธิสัญญาใดกับต่างประเทศ จะต้องผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อน หากรัฐบาลจะทำข้อตกลง หรือสัญญากับต่างประเทศ จะต้องระมัดระวังให้มาก ดังนั้น ขอให้รัฐบาลระมัดระวังให้มากหากลงนามข้อตกลงโดยไม่ระมัดระวัง อาจจะมีปัญหาต่อรัฐบาลเอง



"ประสงค์"ชี้ก.ม.ลูกอุดช่องซื้อเสียง
 

สำหรับความคืบหน้าในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 3 ฉบับนั้น น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า ในภาพรวมร่างกฎหมายบางฉบับได้พิจารณาเกือบสมบูรณ์แล้ว แต่บางฉบับยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งในวันที่ 9 กันยายนนี้ ทางกรรมาธิการชุดใหญ่จะนำร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ มาพิจารณาความคืบหน้าทั้งหมด เชื่อว่า ภายใน 1-2 วันกรรมาธิการจะพิจารณาให้ร่างกฎหมายมีความสมบูรณ์มากที่สุด
 

ส่วนประเด็นที่เป็นห่วง คือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว.นั้น เชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีการเตรียมการซื้อเสียงกันพอสมควร ซึ่งกรรมาธิการได้กำหนดมาตรการลงโทษไว้แล้ว

และกรณีที่อนุกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ได้กำหนดบทลงโทษขั้นรุนแรงกับพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคที่กระทำความผิดนั้น น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า การกำหนดบทลงโทษเพื่อป้องกันการเมืองที่สกปรกเลอะเทอะ โดยมุ่งให้เกิดความหลาบจำ แต่ขณะนี้ยังไม่เป็นข้อยุติ เป็นเพียงความเห็นของกรรมาธิการเท่านั้น


"มีชัย"พอใจก.ม.ลูกปิดช่องโหว่


นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน สนช. กล่าวภายหลังการร่วมสังเกตการณ์การประชุมเพื่อจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ ว่า ภาพรวมการจัดทำร่างฯ ดำเนินการได้รวดเร็วมากขึ้น จึงเชื่อว่า การพิจารณาจะเสร็จทันตามกำหนด

เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการคณะใหญ่ต่อไป และเชื่อว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ จะสามารถปิดช่องโหว่ที่เคยเป็นปัญหา โดยกรรมาธิการได้เพิ่มเติมสาระสำคัญลงไปหลายส่วน เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนแปลงไป
 

ส่วนที่มีความกังวลว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ จะลิดรอนสิทธิของนักการเมือง นายมีชัย กล่าวว่า เท่าที่พิจารณายังไม่มีบทบัญญัติที่ลิดรอน หรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักการเมือง อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวได้ฝากประเด็นปัญหาที่ต้องการเสนอไปแล้ว จึงขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกรรมาธิการ
 

มช.ห่วงซื้อตัวย้ายพรรคจนวินาทีสุดท้าย
 

นายอรรคพล สรสุชาติ รองหัวหน้าพรรคมหาชน กล่าวถึงการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ว่า ที่ผ่านมาได้หารือกับหลายพรรคการเมือง ซึ่งเป็นห่วงหลายประการ โดยเฉพาะในเรื่องรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ผู้สมัคร ส.ส.ต้องเป็นสมาชิกพรรค 30 วันก่อนการเลือกตั้ง เพราะหากวันเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม

ผู้สมัครจะต้องเป็นสมาชิกพรรคก่อนวันที่ 23 พฤศจิกายน แต่ กกต.กำหนดวันประกาศรับสมัครในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจุดนี้พรรคการเมืองกลัวว่า ผู้สมัครได้รับการอนุมัติจากพรรคแล้วไปเปลี่ยนพรรคในวันสุดท้าย เนื่องจากมีการซื้อตัว ใครจ่ายเงินมากกว่าก็ลงพรรคนั้น นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดให้พรรคส่งผู้สมัครให้ครบ 3 คนต่อ 1 เขต ฉะนั้น หากใครเปลี่ยนพรรคในช่วงวินาทีสุดท้ายจะมีปัญหามาก เรื่องอย่างนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต


“แนวทางแก้ไขที่พอเป็นไปได้ คือ กกต.อาจเลื่อนวันรับสมัครให้อยู่ในช่วง 30 วันก่อนวันเลือกตั้ง แต่ก็จะมีผลถึงวันเลือกตั้ง หรือหาวิธีที่จะทำให้หัวหน้าพรรคที่ส่งผู้สมัครเซ็นรับรองกับผู้สมัคร และนำหลักฐานดังกล่าวไปไว้กับ กกต. เพื่อป้องกันไม่ให้มีการสมัครซ้ำซ้อน ซึ่งประเด็นทั้งหมดนี้พรรคฝ่ายค้านเดิม คือ ประชาธิปัตย์ ชาติไทย และมหาชน จะนำไปหารือในการประชุมพรรคการเมืองกับ กกต. ในวันที่ 11 กันยายนนี้ด้วย” นายอรรคพล กล่าว


นายอรรคพล กล่าวอีกว่า สำหรับกฎหมายลูกมีโทษหนักหลายเรื่อง เช่น ผู้สมัครทำผิดแล้วหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคไม่ห้ามปราม จะมีสิทธิโดนยุบและตัดสิทธิทางการเมือง หรือการควบคุมการใช้เงินของพรรคการเมือง รวมทั้ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ได้เพิ่มโทษให้มีการจำคุก ขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนในการชี้เจตนาการกระทำเพื่อพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร ตนยอมรับว่า โทษในกฎหมายนี้รุนแรงกว่าในอดีต หากอธิบายได้ไม่ชัดจะมีความกังวลกันไปหมด ตนคิดว่าปัญหาต่างๆ เหล่านี้ทุกพรรคการเมืองจะต้องรวมตัวกันเสนอต่อ สนช.ด้วย


พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ ที่หลายคนมองว่าจะมีความรุนแรงในช่วงเลือกตั้ง ว่า ส่วนตัวเชื่อว่าทุกอย่างก็คงจะเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่เป็นเพราะว่าการเลือกตั้งทุกคนรอคอยมานานก็เลยตื่นเต้น นอกจากนี้ ยังแสดงความเห็นว่า หลังเกษียณอายุราชการของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกและประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ว่าไม่ควรมาเล่นการเมือง ควรปล่อยเวลาไปอีกสักระยะ หลังจากนั้นจะเข้ามาเล่นการเมืองก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

นักก.ม.ชี้ทุจริตเป็นคดีสากล
 

จากกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ตรวจสอบพบว่าเส้นทางการเงินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้มีการโอนย้ายเงินเป็นจำนวนมากเพื่อไปฝากต่อธนาคารยังต่างประเทศ ซึ่งมีการโอนทั้งก่อนและหลังรัฐประหารนั้น โดยก่อนหน้านี้ คตส.ได้ตรวจสอบการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป หลังจากนั้นได้ติดต่อไปยังธนาคารยูโอบี ซึ่งเป็นธนาคารของสวิตเซอร์แลนด์ที่ตั้งสาขาอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อขอตรวจสอบเส้นทางการเงินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งน่าจะเป็นการนอมินีในชื่อของบุคคลอื่น และอาจจะเป็นชื่อลูก
 

ปรากฏว่าข่าวนี้รั่วไหล ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อท้องถิ่นในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยรอยเตอร์รายงานคำให้สัมภาษณ์ของสื่อท้องถิ่นประเทศสวิตเซอร์แลนด์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมาโวยวายที่ถูกธนาคารสวิสหลายแห่งอายัดเงิน ซึ่งเขาเตรียมฟ้องร้องธนาคารเหล่านี้ ขณะที่โฆษก พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ลอนดอนอ้างว่าเป็นความสับสนของสื่อ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์แสดงความเห็นความน่าเชื่อถือของธนาคารสวิสเท่านั้น ไม่ได้มีเงินฝากที่ธนาคารแต่อย่างใด ขณะที่ นายนพดล ปัทมะ ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์ถึงการอายัดบัญชีธนาคารในประเทศไทย ไม่ใช่ในประเทศสวิสแต่อย่างใด
 

นายแก้วสรร อติโพธิ กรรมการ คตส. กล่าวว่า ปัจจุบันข่าวเรื่อง คตส.พบการโอนเงินไปยังต่างประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ จำนวน 5 หมื่นล้านบาท ไม่เป็นความจริง เป็นเพียงข่าวโคมลอย แต่ในอนาคตจะมีการนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม คตส.หรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ
 

นายอรรคพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด กล่าวว่า กรณีเรื่องการตรวจสอบลักษณะดังกล่าวนี้ คตส.สามารถที่จะดำเนินการอายัดทรัพย์ได้ 2 ช่องทางคือ ทำสำนวนส่งไปยัง ป.ป.ช.หรือ ปปง. ว่าเข้าข่ายมูลฐานความผิดการฟอกเงิน ก่อนที่จะส่งสำนวนฟ้องร้องต่อศาล หรืออีกช่องทางทำเป็นสำนวนคดีปกติแล้วส่งตำรวจก่อนที่จะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลว่าจะเป็นการฟ้องศาลแพ่งหรือศาลอาญา ทั้งนี้ คดีที่ คตส.ส่งมายังอัยการสูงสุดขณะนี้มีเพียงคดีแจ้งการเสียภาษีเท็จของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ นางกาญจนาภา หงษ์เหิน และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร กับคดีที่ดินรัชดาฯ ของคุณหญิงพจมานเท่านั้น


นักก.ม.ชี้คดีทุจริตเป็นความผิดสากล
 

ขณะที่แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญกฎหมายฟอกเงิน จากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวถึงกระแสข่าวธนาคารในประเทศสวิตเซอร์แลนด์อายัดบัญชีเงินฝากของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า ความผิดเกี่ยวกับคดีทุจริตหรือคอรัปชั่นถือเป็นความผิดสากล ซึ่งเป็นมาตรฐานกฎหมายของทุกประเทศที่ต้องร่วมมือกันป้องกันและปราบปราม ในคดีทุจริตโกงเงินประเทศแล้วนำไปซุกซ่อนในต่างประเทศที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีผู้นำประเทศฟิลิปปินส์ เปรู หรือชิลี
 

ทั้งนี้ สถาบันการเงินที่รับฝากเงินของบุคคลที่ถูกดำเนินคดีทุจริต จะรายงานต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ของประเทศตัวเอง เพื่อให้หน่วยงาน ปปง.สั่งอายัดบัญชีเงินฝากดังกล่าวโดยไม่ต้องรอให้มีการร้องขอจากประเทศที่ได้รับความเสียหายจากการทุจริตคอรัปชั่น หากสถาบันการเงินไม่รายงานจะมีความผิดและมีบทลงโทษรุนแรง ที่ผ่านมาในประเทศสหรัฐอเมริกาเคยมีสถาบันการเงินถูกปรับและสั่งปิดกิจการ เพราะหลีกเลี่ยงไม่รายงานธุรกรรมการเงินของอดีตประธานาธิบดี

ซึ่งถูกดำเนินคดีคอรัปชั่นมาแล้ว
 

โดยขั้นตอนหลังการอายัดบัญชีเงินฝากจะมีการประสานในระดับประเทศว่า มีการอายัดบัญชีเงินฝากไว้แล้ว หากประเทศที่ได้รับความเสียหายจากการทุจริตต้องการขอให้ยึดเงินและส่งคืนเงินที่ได้มาจากการทุจริตกลับคืน ต้องเร่งดำเนินการยื่นคำร้องขอความร่วมมือระหว่างประเทศโดยเร็ว หากพ้นกำหนด การอายัดจะไม่สามารถยึดทรัพย์สินได้


ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายฟอกเงิน กล่าวอีกว่า หากมีการอายัดเงินฝากในต่างประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ จริง ประเทศที่ทำการอายัดจะต้องแจ้งมายังหน่วยงานที่ดำเนินคดีอาญากับเจ้าของบัญชีเงินฝาก ซึ่งอาจเป็นสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) หรือสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงเร่งทำคำร้องขอให้ยึดทรัพย์สินที่อายัดไว้ส่งกลับคืนให้ประเทศไทย เช่นเดียวกับกรณีของนายราเกซ สักเสนา



พปช.จวกคตส.ทำตัวเป็นอินเดียนาโจนส์
 

นายประเกียรติ นาสิมมา ในฐานะทีมทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า หากพิจารณาจากข้อกฎหมายและไม่เห็นว่า คตส.จะสามารถอายัดทรัพย์ในต่างประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้อย่างไร เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีบัญชีในต่างประเทศ ทั้งนี้เรื่องนี้ทำให้ตนคิดว่า คตส.กำลังปฏิบัติหน้าที่เลียนแบบอินเดียนา โจนส์ ที่ออกตามล่าสมบัติของ พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ โดยไม่คำนึงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนักธุรกิจ คิดแต่เพียงว่าเมื่อทำการปฏิวัติรัฐประหารแล้วทรัพย์สินก็จะไม่ใช่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ อีกต่อไป


ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคพลังประชาชน กล่าวว่า จากการทำหน้าที่ของ คตส.ที่ผ่านมาในการดำเนินการกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้ไม่ได้หวังว่า คตส.จะเป็นกลาง ซึ่งกรณีล่าสุดที่มีการรายงานการโยกย้ายเงิน ก็น่าจะเป็นเจตนาของ คตส. ที่จงใจให้เกิดประเด็นข่าวอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาว่าธนาคารสวิสจะยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เป็นกระบวนการข่าวปล่อยเช่นเดียวกันกับกรณีล่าสุดนี้ เพื่อให้เป็นไปตามแผนที่ คตส.จะนำไปสู่ขั้นตอนการอายัดทรัพย์


ทั้งนี้ คตส.ต้องอธิบายให้ได้ว่าเงินที่มีการผ่องถ่ายไปต่างประเทศ

ในช่วงก่อนหรือหลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน มีความผิดปกติตรงไหน และเป็นเงินที่ได้มาจากคอรัปชั่นอย่างที่มีการพยายามกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่ มิเช่นนั้น คตส.ก็จะดำเนินการตามอำนาจของตัวเองแบบไม่มีเหตุผลแบบนี้ไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิของบุคคล โดยเฉพาะ คตส. คมช. และรัฐบาล ควรต้องเคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน ในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง
 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน เองก็ยังเคยบอกว่าจุดยืนของพรรคพลังประชาชนจะเป็นที่พึ่งให้แก่ทุกคน โดยเฉพาะ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นกรณีตัวอย่างที่สังคมจับตา นายสมัคร บอกว่า จะทำทุกวิถีทาง เพื่อที่จะสู้และให้ความช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้เข้ามาต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมอย่างตรงไปตรงมา


“ประสงค์"ชงรางวัลนำจับทุจริตเลือกตั้ง


น.ต.ประสงค์ กล่าวอีกว่า การประชุมในวันที่ 9 กันยายนนี้ ตนจะเสนอเรื่องการให้รางวัลสินบนนำจับในเรื่องการซื้อสิทธิ ขายเสียง ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ร้ายแรงมาก โดยการซื้อเสียงจะมีความผิดถึงขั้นยึดทรัพย์ สมมติว่ายึดทรัพย์ได้ 100 ล้าน ก็จะแบ่งให้เจ้าหน้าที่ 20% ประชาชน 20% และอีก 60% ให้ตกเป็นของแผ่นดิน เชื่อว่าวิธีนี้จะทำให้ได้รับความร่วมมือในการแจ้งเบาะแสจาก ประชาชน ส่วนที่เกรงกันว่าจะมีนักล่ารางวัลเกิดขึ้น เชื่อว่าจะมีมาตรการป้องกันได้


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์