ถ้าเปิดสภาไม่ได้ก็ถึงทางตัน
โดย ผู้จัดการรายวัน 13 เมษายน 2549 19:19 น.
การวางหมากการเมืองว่าราชการหน้าม่านและว่าราชการหลังม่านโดยการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนผ่านโครงการโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการสรรหาครั้งที่จะมาถึงแยบยลยิ่งนัก ทำให้คนไทยหลงเชื่อระยะหนึ่ง แต่ไม่ทันข้ามวันก็มีคนรู้ทันและรู้ทันมากขึ้นเรื่อย ๆ
ดังจะเห็นได้จากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่มีผู้เข้าร่วมชุมนุมกว่าแสนคนในเย็นวันที่ 7 เมษายน 2549 และเสียงสะท้อนของสื่อมวลชนว่าคนไทยรู้ทันเป็นส่วนใหญ่แล้วเหลือแต่พวกแกล้งไม่รู้หรือพวกที่ไม่รู้ข้อมูลข่าวสารอีกจำนวนหนึ่งเท่านั้น นับว่าเป็นการตื่นตัวและรู้ทันที่น่าตกตะลึงจริง ๆ
ความพยายามดึงดันที่จะเปิดสภาให้ได้ภายใน 30 วันนับแต่เลือกตั้งยังคงขับเคลื่อนกันอย่างขะมักเขม้น และมีการรับลูกกันเป็นทอด ๆ ตุลาการเสียงข้างมากในศาลรัฐธรรมนูญนั่นแหละตัวดีที่สุดเพราะได้เปิดเผยท่าทีให้เห็นแล้วว่าเตรียมการที่จะพลิกลิ้นพลิกคำวินิจฉัยเดิมที่เคยวินิจฉัยไว้ว่าจำนวน ส.ว. ไม่ครบ 200 คนไม่เป็นวุฒิสภา เปิดประชุมวุฒิสภาไม่ได้
เตรียมที่จะพลิกคำวินิจฉัยใหม่เป็นว่า ส.ส. ไม่ถึง 500 คนก็เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ โดยจะอ้างเหตุว่ารัฐธรรมนูญบังคับให้ต้องเปิดสภาภายใน 30 วัน
ทั้งๆ ที่เวลา 30 วันไม่ใช่กำหนดเวลาเด็ดขาด และมีความสำคัญน้อยกว่าความมีสภา เพราะถ้าไม่มีสภาจะเอาอะไรไปเปิดสภา และสภาผู้แทนราษฎรจะมีได้ก็ต้องประกอบด้วย ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน แบบเขตเลือกตั้ง 400 คน รวมเป็น 500 คน ไม่ครบ 500 คนก็ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร เมื่อไม่มีสภาผู้แทนราษฎรก็เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ผูกพันพระมหากษัตริย์ พระองค์ยังทรงมีพระราชอำนาจที่จะไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยและเป็นพระราชเอกสิทธิ์ เป็นพระราชอำนาจและพระราชเอกสิทธิ์ที่จะทำให้ขื่อแปบ้านเมืองไม่ถูกทำลาย ที่จะทำให้รัฐธรรมนูญไม่ถูกฉีกทิ้งหรือถูกบิดเบือนอย่างหน้าไม่อาย
ถ้าหากว่ามีการดึงดันเสนอพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมรัฐสภาโดยที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรเพราะไม่มี ส.ส. ครบจำนวน 500 คน และไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น?
ข้อแรก รัฐบาลรักษาการโดยนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบลงนามรับสนองพระบรมราชโองการจะต้องรับผิดชอบ
ถึงแม้ว่าจะให้รองนายกรักษาการคนอื่นลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแทน นายกรัฐมนตรีรักษาการก็ยังต้องรับผิดชอบโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และต้องไม่ยอมให้ไม่รับผิดชอบเหมือนกับพระราชกฤษฎีกาแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่ถูกศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนอีกไม่ได้เป็นอันขาด จะต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือยอมพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะรักษาการ เพราะหมดความชอบธรรม หมดศักดิ์ หมดศรี หมดสิทธิ์ที่จะรักษาการอีกต่อไป
ถ้าไม่รับผิดชอบประชาชนก็ต้องบังคับขับไล่ให้รับผิดชอบให้จงได้ ถึงตรงนี้แตกหักก็ต้องแตกหักกัน จะปล่อยให้ละเมิดพระราชอำนาจและไม่รับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์อีกไม่ได้เป็นอันขาด
ไอ้พวกที่ชอบพูดว่าอย่าไปดึงสถาบันเบื้องสูงมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองจะต้องหยุดความคิดและการกระทำเช่นนั้นได้แล้ว เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรงและเป็นพระราชอำนาจโดยตรง และต้องรับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์โดยตรงด้วย
คนพวกนี้หากมีความจงรักภักดีจริงก็ต้องเรียกร้องกดดันบังคับให้ต้องรับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้เหมือนกับที่ผ่านมา
ข้อสอง เมื่อรัฐบาลรักษาการพ้นจากหน้าที่ไปแล้วและสภาก็ไม่มี เพราะไม่มี ส.ส.ครบ 500 คน เบื้องต้นก็ต้องมีรัฐบาลรักษาการชุดใหม่ แต่รัฐธรรมนูญไม่มีบทบัญญัติในเรื่องนี้ จึงต้องใช้มาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีรัฐบาลรักษาการ
แล้วถามว่าเป็นหน้าที่ของใครที่จะต้องดำเนินการเรื่องนี้?
หน้าที่หลักก็คือเป็นหน้าที่ของคณะองคมนตรีที่จะต้องถวายคำแนะนำเพื่อทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีรักษาการ โดยประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตามมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญ
ข้อสาม เมื่อมีรัฐบาลรักษาการชุดใหม่และไม่มีสภาผู้แทนราษฎรก็เป็นอันว่าการเลือกตั้งยังไม่สิ้นสุด และระยะเวลา 30 วันก็ใช้บังคับไม่ได้
ดังนั้นรัฐบาลรักษาการจึงอาจดำเนินการได้ 2 กรณี
หนึ่ง ตราพระราชกำหนดหรือพระราชกฤษฎีกา งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เช่น กำหนดระยะเวลา 90 วันในการสังกัดพรรค หรือคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง และกำหนดให้มีการเลือกตั้งในเวลา 180 วันต่อไป
สอง ออกพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 และให้เลือกตั้งใหม่ภายในเวลา 60 วัน และให้องค์กรกลางร่วมดำเนินการกำกับตรวจสอบการเลือกตั้งคู่ขนานไปกับ กกต. หรือมิฉะนั้นกดดันให้ กกต. ลาออก และอาศัยมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญตราพระราชกฤษฎีกาตั้งรักษาการ กกต. ชุดใหม่ที่เป็นอิสระและดำเนินการเลือกตั้งต่อไป
ภาคประชาชนจะต้องเตรียมความคิดและมองเห็นถึงความคลี่คลายของสถานการณ์ดังกล่าวนี้ให้จงดีถ้วนหน้ากัน