วันที่ 1 กันยายน 2560 ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ทิศทางกระบวนการยุติธรรมไทยต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีนักเรียนหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง รุ่นที่ 21 ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ และผู้บริหารระดับสูงในกระบวนการยุติธรรมกว่า 350 คนเข้าร่วมด้วย
นายวิษณุกล่าวว่า ในประวัติการเมือง 85 ปีของประเทศไทย เพิ่งจะมีการพูดกันว่าถึงเวลาต้องทำยุทธศาสตร์ชาติเป็นครั้งแรก โดยมาตรา 65 แห่งรัฐธรรมนูญ ระบุให้รัฐพึงจัดให้มีแผนยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล และใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ของชาติ เช่น แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนความมั่นคงแห่งชาติ แผนการศึกษาชาติ แผนพัฒนากระบวนการยุติธรรมแห่งชาติ
นายวิษณุกล่าวว่า โดยยุทธศาสตร์ชาติคือเป้าหมายในการพัฒนา ปฏิรูปคือวิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมาย มีคนมาเยาะเย้ยถากถางว่า รัฐบาลจะอยู่ถึง 20 ปีตามแผนยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ ขอบอกว่า ปีหน้านายกรัฐมนตรีก็ไปแล้ว แต่ต้องวางกรอบไว้ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นก็เปลี่ยนแปลงได้ โดยกฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ หรือที่เรียกว่าซุปเปอร์บอร์ด ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นอกจากนั้น จะมีคณะกรรมการโดยตำแหน่งอีก 13 คน และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 17 คน ในอนาคตจะตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ขึ้นอย่างน้อย 6 คณะ ซึ่งทำหน้าที่เขียนแผนยุทธศาสตร์ชาติ
นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนกระบวนการยุติธรรม หมายถึงกระบวนการ กลไก ขั้นตอน ที่จะทำให้กระบวนการยุติธรรมบังเกิด ซึ่งจะไม่ใช่มีแค่เรื่องอาญา แต่ต้องเปิดกว้างและเข้าถึงเรื่องอื่นด้วย ซึ่งในความเข้าใจของรัฐบาล กระบวนการยุติธรรมมี 4 มิติ 1.กระบวนการยุติธรรมทางอาญา 2.กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง 3.กระบวนการยุติธรรมทางปกครอง และ 4.กระบวนการยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญ เมื่อจะเอ่ยถึงกระบวนการยุติธรรมต่อจากนี้ไปต้องรวม 4 มิตินี้เข้าไปด้วย ซึ่งถือว่ามีบทบาทอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เช่น ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ประชาชนรู้สึกว่ามั่นคง กินได้ นอนหลับ ตื่นเช้าสบายใจ กระบวนการยุติธรรมส่วนหนึ่งก็คือตำรวจ ที่ต้องมีบทบาทแน่นอน จึงนำไปสู่การปฏิรูปตำรวจในขณะนี้ สำหรับยุทธศาสตร์อื่นๆ ก็ถือว่ากระบวนการยุติธรรมต่างก็มีบทบาทในการขับเคลื่อนเช่นเดียวกัน
นายวิษณุกล่าวด้วยว่า หลังจากนี้ยังต้องเดินหน้าปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่เขาได้ยกตัวอย่างให้ฟังถึงเรื่อง "กิโยติน" ซึ่งเป็นเครื่องมือไว้ประหารชีวิตสังหารหมู่นักโทษ เพื่อไม่ให้เปลืองลูกกระสุน ซึ่งในทางกฎหมาย "กิโยติน" ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้หมายถึงหลักเกณฑ์ บทลงโทษ ที่ต้องกำหนดขึ้นมาใช้โดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม นั่นหมายความว่า กระบวนการยุติธรรมต้องไม่มีการโอนอ่อนผ่อนตาม และยึดถือหลักเกณฑ์ตามกฎหมายเป็นสำคัญ
นายวิษณุกล่าวว่า ขณะเดียวกันเรายังมีปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรมกับคนจน มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงศาล อัยการ ตำรวจ การขอประกัน ไม่ได้รับความสะดวก ยุ่งยาก ขั้นตอนเยอะ ซึ่งหลังจากนี้ตามรัฐธรรมนูญระบุว่า ต้องจัดการให้สะดวก ง่าย และรวดเร็ว หากทำตรงนี้ได้ จะเป็นทางหนึ่งในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ส่วนตัวคงไม่ต้องอ้างถึงคำพูดของมงแต็สกีเยอ นักคิดชาวฝรั่งเศส ก็สามารถพูดได้ว่า "ความยุติธรรมที่ล่าช้า ก็คือการปฏิเสธความยุติธรรมดีๆ นี่เอง" ฉะนั้น การแสวงหาความยุติธรรมที่ล่าช้า การปล่อยคดีให้ล่วงเลยไป 10-20 ปี เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ เพราะเมื่อโจทก์ไปฟ้องศาล ก็อยากให้เกิดความยุติธรรมเร็วๆ จะได้รู้ผลแพ้-ชนะ เขาก็อยากให้มันเสร็จเร็ว แต่ที่ผ่านมาก็ทำไม่สำเร็จ ดังนั้น หลังจากนี้ในกระบวนการยุติธรรม ต้องกำหนดขั้นตอนการดำเนินการทุกขั้นตอนอย่างชัดเจน
นายวิษณุกล่าวอีกว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมจนถึง 31 ธันวาคม 2559 มีการยื่นฟ้องคดีทั่วประเทศทุกศาลในศาลชั้นต้น 175,000 คดี ศาลสามารถตัดสินคดีได้ 140,000 คดี ที่เหลือเป็นคดีพอกหางหมู ที่จะสมทบปีต่อไป ส่วนศาลอุทธรณ์ ปีที่แล้วมีคดีขึ้นมา 50,000 คดี ตัดสินคดีเสร็จแล้ว 40,000 คดี และคดีขึ้นไปสู่ศาลฎีกา 19,300 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 11,000 คดี ตัวเลขเหล่านี้เห็นว่ามีคดีพอกหางหมูในศาลจำนวนมาก ต้องนำไปสู่การปรับปรุง ปฏิรูปให้ได้ อาจมีการแก้ไขปรับปรุงให้เหมือนคดีแพ่ง ที่ส่วนใหญ่จบที่ศาลอุทธรณ์ เว้นแต่จะพิจารณาแล้วว่าสมควรที่จะต้องฎีกาก็ว่ากันไป ซึ่งเรื่องเหล่านี้อยู่ระหว่างการพิจารณากันอยู่