นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือ ปู อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 เป็นนายกฯ ผู้หญิงคนแรกของประเทศไทย เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคเพื่อไทย และเป็นกรรมการและเลขานุการมูลนิธิไทยคม เธอเกิดเมื่อวันพุธ ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2510 ปีมะแม ราศีเมถุน ที่ จ.เชียงใหม่ เธอก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2554 ถึง 7 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ด้วยวัย 44 ปี นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดในรอบกว่า 60 ปี
ตามที่รู้กันดีว่า อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เป็นน้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของไทย เธอเป็นบุตรสาวของนายเลิศ และนางยินดี ชินวัตร
โดยนางยินดี แม่ของยิ่งลักษณ์ เป็นธิดาของเจ้าจันทร์ทิพย์ ระมิงค์วงศ์ (สกุลเดิม ณ เชียงใหม่) ผู้เป็นธิดาในเจ้าไชยสงคราม (สมพมิตร ณ เชียงใหม่) สืบเชื้อสายจากพระเจ้าช้างเผือกธรรมลังกา พระเจ้านครเชียงใหม่
ขณะที่นายเลิศ พ่อของยิ่งลักษณ์ เป็นอดีต ส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ มีพี่น้องรวมตัวเขา 12 คน ในพี่น้องของเขาที่น่าสนใจคือ พี่ชายของพ่ออดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุง คือ พ.อ.ศักดิ์ ชินวัตร เป็นบิดาของ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีตผู้บัญชาการทหารบก และอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด
นอกจากนี้น้องชายของพ่ออดีตนายกฯ อย่าง นายสุเจตน์ ชินวัตร ยังเคยเป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และนายสุรพันธ์ ชินวัตร เคยเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ด้วย
อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เป็นลูกสาวคนสุดท้องของครอบครัว มีพี่น้องรวมทั้งหมด 11 คน เธอสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมต้นจากโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย มัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ปริญญาตรี จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี พ.ศ.2531 และปริญญาโท รัฐศาสนศาสตรมหาบัณฑิต ที่มหาวิทยาลัยเคนทักกีสเตต สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2533
ต่อมาเธอสมรสโดยไม่จดทะเบียนกับ นายอนุสรณ์ อมรฉัตร อดีตผู้บริหารในเครือบริษัท ซีพี อดีตอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยหอการค้า และกรรมการผู้อำนวยการบริษัท เอ็ม ลิงก์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นของ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ พี่สาวคนที่ 5 ในตระกูลชินวัตร โดยคบหากันในช่วงที่นายอนุสรณ์ทำงานในเครือซีพี นายอนุสรณ์ขอยิ่งลักษณ์แต่งงานเพราะชอบพอในอัธยาศัย
ทั้งสองแต่งงานกันเมื่อปี พ.ศ.2538 โดนมี นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นประธานในพิธีมงคลสมรส หลังจากนั้นทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร (ไปป์) เกิดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2545 ปัจจุบันอายุ 15 ปี
ตลอดเวลาที่อดีตนายกฯ ปูดำรงตำแหน่ง ไปป์ได้พบกับสื่อมวลชนหลายโอกาส เช่น ช่วงวันสงกรานต์ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีรายงานว่า ไปป์ยกมือไหว้พนักงานโรงแรมที่มาดูแลตั้งแต่ทางเข้าของโรงแรมเสมอ ทั้งยังมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แม้จะเป็นเด็กแต่ก็ไม่เคยแสดงอารมณ์เอาแต่ใจออกมา
ก่อนมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย ปี พ.ศ. 2534 เธอเริ่มทำงานที่บริษัทชินวัตร ไดเร็กทอรีส์ จำกัด (ที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น บ.เทเลอินโฟมีเดีย จำกัด (มหาชน)) เป็นธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ฐานข้อมูลและการสื่อสาร ตำแหน่งพนักงานฝึกหัดด้านการตลาดและการขาย จากนั้นในปีเดียวกัน เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ และนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตในเวลาต่อมา
ปี พ.ศ. 2537 เธอทำงานในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป บริษัทเรนโบว์ มีเดีย เดิมเป็นแผนกงานโฆษณาของบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ IBC (ปัจจุบันคือ ทรูวิชั่นส์) ตำแหน่งสุดท้ายก่อนที่จะลาออกจาก IBC คือรองกรรมการผู้อำนวยการ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ยิ่งลักษณ์เข้าสู่ธุรกิจเครือข่ายโทรศัพท์และการสื่อสาร ในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และรองกรรมการผู้อำนวยการสายงานตลาด บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส AIS ในเครือ ชิน คอร์ปอเรชั่น เธอขึ้นเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัท และเป็นตำแหน่งสุดท้ายของเธอในบริษัทนี้
ก่อนลาออกจากตำแหน่งเธอได้ขายหุ้นทั้งหมดของเธอ ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2548 และต่อมาตระกูลชินวัตร และ ดามาพงศ์ ขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ให้กับ เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ของรัฐบาลสิงคโปร์
และตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2548 เธอรับผิดชอบบริหารธุรกิจอสังริมทรัพย์ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวชินวัตร โดยมีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหาร ดูแลพอร์ตการลงทุน พัฒนาที่ดินทั้งหมด เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2549
นอกจากนี้ ยิ่งลักษณ์ยังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เมื่อปี พ.ศ.2550 ในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นประธานสโมสรด้วย
ปี พ.ศ.2551 อดีตนายกฯ ทักษิณ ต้องการให้ยิ่งลักษณ์ มาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แต่เธอไม่ขอรับตำแหน่งนี้ เพราะยังไม่อยากเป็นนายกฯ และสนใจทำธุรกิจเท่านั้น ช่วงนั้น นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ จึงเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
ปลายปี พ.ศ. 2553 นางยงยุทธ แสดงความจำนงว่าจะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตอนนั้นอดีตนายกฯ ปู และ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ เป็นตัวเต็งที่จะขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค แต่เธอก็ยังไม่ยอมรับตำแหน่งหัวหน้าพรรค และย้ำว่าต้องการมุ่งความสนใจไปกับการทำธุรกิจ
สุดท้าย 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยมีมติเลือกนางสาวยิ่งลักษณ์ ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อในลำดับที่ 1 เพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม เธอไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค และไม่ได้ร่วมเป็นกรรมการบริหารพรรค แต่การตัดสินใจขั้นสุดท้ายยังเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า "เธอเป็นโคลนของผม" และ "เธอสามารถตอบ ใช่ หรือ ไม่ ในนามของผมได้"
หลังจากนั้น 3 เดือน เธอก็ก้าวมาเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนำความปรองดองมาเป็นหลักในการรณรงค์ โดยสภาผู้แทนราษฎรมีมติ 296 ต่อ 3 เลือกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี วันนั้นมีผู้งดออกเสียง 197 คน ไม่เข้าประชุม 4 คน โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในวันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554 แต่มีการประกาศลงให้เป็นนายกรัฐมนตรีก่อนหน้า ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2554
ประเทศไทยมีปริมาณน้ำฝนสูงสุดในรอบ 50 ปี โดยน้ำเริ่มมากที่ภาคเหนือ ก่อนที่ยิ่งลักษณ์จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง 1 สัปดาห์ ต่อมาน้ำลุกลามอย่างรวดเร็วมาถึงภาคกลาง จนต้องจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย แต่ยังไม่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่จะเป็นการให้อำนาจทหารเข้ามาช่วยแก้ปัญหาอุทกภัย แต่มาประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และออกประกาศเตือนภัยภิบัติ ให้อำนาจรัฐบาลมากขึ้นในการจัดการควบคุมอุทกภัยและการระบายน้ำ
ส่วนวลี เอาอยู่ ที่ได้ยินกันคุ้นหู มีที่มาจากนักข่าวคนหนึ่งถามอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ว่า การทำแนวพนังกั้นน้ำหรือเอากระสอบทรายไปกั้นตรงแนวนั้น เอาอยู่ หรือเปล่า? อดีตนายกฯปูจึงตอบว่า ได้ข้อมูลมาจากทีมพยากรณ์ ที่บอกว่าควบคุมได้ น่าจะรองรับได้ จากคำตอบวันนั้นก็มีการเอาคำพูดไปตีความว่า เอาอยู่ คือ น้ำไม่ท่วมแน่ๆ
ด้านความปรองดองที่เธอใช้ในการหาเสียง นำมาสู่ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ที่เป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบในการเป็นนายกรัฐมนตรีของเธอ เพราะมีประชาชนหลากหลายออกมาคัดค้าน และชุมนุม จนต้องมีมติถอนร่างดังกล่าว และการปรองดองแห่งชาติอีก 6 ฉบับ ออกจากระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฏร หลังจากนั้นรัฐบาล เรียกร้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ์ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นผู้นำการชุมนุมในตอนนั้น ให้ยุติการชุมนุม
แต่เรื่องราวไม่เป็นอย่างที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องการ ทุกอย่างบานปลายออกไป มีการชุมนุมมากขึ้น มีการเดินขบวนขับไล่ จนอดีตนายกฯ ไม่มีที่ทำงาน และต้องย้ายที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารออกจากทำเนียบรัฐบาลไปในหลายที่ ทำให้ต้องใช้กองบัญชาการของทหารทุกเหล่าทัพ รวมถึงตำรวจ ประชุม ครม. และประชุมสถานการณ์ต่างๆ แทนทำเนียบรัฐบาล
ตั้งแต่ยิ่งลักษณ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี บ้านเมืองก็ค่อนข้างจะมีเสถียรภาพอยู่ 2 ปี จนมามีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ทำให้วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงการณ์ประกาศทูลเกล้าพระราชกฤษฎีกาขอยุบสภาผู้แทนราษฎร แต่ตามกฎหมายคณะรัฐมนตรีจะยังทำหน้าที่ต่อไป โดยปฎิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็นตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 181 กำหนดไว้ จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ
สุดท้ายในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่ง กรณีมีส่วนใช้อำนาจแทรกแซงการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
ที่ผ่านมาเธอได้รับการจัดอันดับจากสื่อต่างประเทศหลายสำนัก
พ.ศ. 2554 : สตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก ลำดับที่ 59 จาก นิตยสารฟอร์บส์
พ.ศ. 2554 : 12 สตรีผู้นำโลก จาก นิตยสารไทม์
พ.ศ. 2555 : 150 สตรีผู้สะเทือนโลก จากนิตยสารนิวส์วีค
พ.ศ. 2555 : สตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก ลำดับที่ 30 จาก นิตยสารฟอร์บส์
พ.ศ. 2555 : สตรีตัวอย่างในด้านการจัดการภัยพิบัติ และผู้สนับสนุนบทบาทสตรีในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในภูมิภาคอาเซียน จากองค์การสหประชาชาติ
พ.ศ. 2556 : สตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก ลำดับที่ 31 จาก นิตยสารฟอร์บส์
วันนี้ อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ไม่เดินทางไปฟังคำพิพากษาคดีจำนำข้าว ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยอ้างว่ามีอาการป่วยน้ำในหูไม่เท่ากัน วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ ทำให้องค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาว่า ไม่น่าเชื่อว่าป่วยจนไม่สามารถเดินทางมาฟังศาลได้ และไม่มีใบรับรองแพทย์ เชื่อได้ว่ามีพฤติการณ์หลบหนี จึงออกหมายจับอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์
หลายสำนักข่าวรายงานว่า หลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปรากฎตัวต่อหน้าสื่อในประเทศไทย วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2560 ณ วัดระฆัง มีข้อมูลว่า วันที่ 24 สิงหาคม น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางไปอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ และน่าจะเดินทางต่อไปยังประเทศสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นครดูไบ