แก้ไขปัญหาสังคม ชี้หน่วยงานเกี่ยวข้องหวงอำนาจติดยึดกฎหมายเก่าที่ล้าสมัยส่งเรื่องให้กฤษฎีกาแก้ไขจนเละ ผิดวัตถุประสงค์ ทำให้การบูรณาการล้มเหลว เผยถอนร่างกฎหมาย 6 ฉบับออกจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
สองรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้แสดงความไม่สบายใจในการทำงานร่วมกับคณะรัฐมนตรีหลังกฎหมายหลายฉบับถูกนำไปแก้ไขจนผิดวัตถุประสงค์
แหล่งข่าวจากคณะทำงานของนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกฯ และ รมว.การพัฒนาสังคมฯ และ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป รมช.การพัฒนาสังคมฯ เปิดเผยว่า กฎหมายที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เสนอขึ้นมาประมาณ 10 ฉบับ มักจะถูกคณะกรรมการกฤษฎีานำไปแก้ไขจนไม่สอดรับกับการทำงานของกระทรวง
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ในการตรวจวาระคณะรัฐมนตรีทราบมาว่า
นพ.พลเดช ได้แสดงความไม่สบายใจกับความเห็นที่คณะกรรมการกฤษฎีกาแย้งกฎหมายของกระทรวง จนช่วงเช้าวันที่ 28 สิงหาคม นายไพบูลย์ ได้ขอถอนร่างกฎหมายของกระทรวงที่ผ่านความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาออกมาก่อน โดยที่นายไพบูลย์ ได้ไปหารือกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี มาแล้ว
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า กฎหมายของกระทรวงที่เน้นงานด้านสังคมสอดรับกับนโยบายรัฐบาลคือ นโยบายอยู่ดีมีสุขและรัฐธรรมนูญชุดใหม่ 2550 มักจะถูกกฤษฎีกา และกระทรวงต่างๆ แสดงความเห็นขัดกับนโยบายของกระทรวง เช่น ร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน ร่าง พ.ร.บ.ขอทาน เป็นต้น
ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เห็นว่าควรจะมี
แต่กฤษฎีกามักจะไปถามบางกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่ามีความเห็นอย่างไร และหน่วยงานเหล่านั้นมักจะอ้างว่า มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคอยกำกับดูแลอยู่แล้ว ทำให้กฎหมายของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มักจะไม่ผ่านความเห็นชอบ หรือมักจะถูกแก้ไข
"กรณีที่มีการถอนร่างกฎหมายของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ประมาณ 6 ฉบับ ออกจากการประชุม ครม.ครั้งล่าสุด ก็แสดงให้เห็นว่า หลายหน่วยงานยังหวงอำนาจ และทำงานตามระบบราชการเดิมๆ ที่ไม่บูรณาการ" แหล่งข่าวคนเดิม ระบุ