ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รักษาราชการแทนผู้ว่าฯเชียงใหม่ ทำหนังสือแจ้งไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทย รายงานความเคลื่อนไหวของนักวิชาการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการชูป้าย ข้อความว่า "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" โดยหนังสือดังกล่าว ระบุอ้างว่า นักวิชาการดังกล่าว มักจะเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านทหาร และการรัฐประหาร รวมทั้งเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออก และจะอาศัยจังหวัดและโอกาสที่มีการจัดประชุมเสวนา หรือจัดเวทีนานาชาติเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เสมอมา โดย กกล.รส.จังหวัดเชียงใหม่ จะได้เชิญนักวิชาการทั้ง 3 คนมาพบเพื่อชี้แจง และขอความร่วมมือไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น
ด้าน รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี นักวิชาการจากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า นี่เป็นจดหมายที่บิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างที่สุด ขอโต้แย้งรองผู้ว่าฯจังหวัดเชียงใหม่ ดังนี้ 1.นักวิชาการที่ถูกเอ่ยชื่อทั้งสามคน เป็นผู้เข้าร่วมในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ เชียงใหม่ ทั้งสามลงทะเบียน และนำเสนอบทความในงานวิชาการดังกล่าว เช่นเดียวกับนักวิชาการไทยและเทศอีกจำนวนหลายร้อยคน ไม่ได้เป็นพวก "อาศัยจังหวะที่มีการจัดการประชุมมาเคลื่อนไหวตามงานต่างๆ" อย่างที่กล่าวหาแต่อย่างใด
2. ในตลอดงานประชุมวิชาการฯ มีทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบหลายคน ถือวิสาสะเข้ามาในงานโดยไม่ลงทะเบียน ถ่ายรูปผู้คน ไม่ได้สนใจเนื้อหาของงานประชุม แต่บันทึกกิจกรรมต่างๆ โดยไม่ได้ขออนุญาตต่อผู้จัดแต่อย่างใด เป็นการรุกล้ำพื้นที่ทางวิชาการในเวทีนานาชาติที่น่าละอายเป็นอย่างยิ่ง
3. ป้าย "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร" ที่ติดอยู่หน้าห้องประชุม เป็นการสื่อสารให้กับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างตรงไปตรงมา ให้เคารพเสรีภาพทางวิชาการ และยุติการแทรกแซงกิจกรรมทางปัญญาอย่างไร้เหตุผลเสียที และเป็นการสื่อสารอย่างสันติ นักวิชาการหลายท่าน รวมทั้งดิฉันเอง ก็ถ่ายรูปกับป้ายนี้ เพราะเอือมระอากับพฤติกรรมของทหารและตำรวจเต็มที่
จดหมายเรียกตัวฉบับนี้ของจังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นการละเมิดสิทธิทางวิชาการอย่างถึงที่สุด และเป็นพฤติกรรมที่สมควรถูกประนามเป็นอย่างยิ่งเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง กล่าวถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า เป็นความผิดพลาดของทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ ที่ระบุว่ามีนักวิชาการ 6 คนเคลื่อนไหว โดย 3 คนที่เปิดชื่อมาตามภาพที่มีการชูป้ายนั้น ก็ไม่มีอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ อ.คณะรัฐศาสตร์ มธ. ซึ่งอาจารย์ประจักษ์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชูป้าย ‘เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร'เลย อ.ประจักษ์ เป็นเพียงหนึ่งในผู้อ่านแถลงการณ์ของชุมชนนักวิชาการนานาชาติ 176 คน เมื่อวาน (17 ก.ค.) นอกจากนี้ ถึงแม้อ.ประจักษ์ จะทำกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ คนส. แต่อ.ก็ไม่ใช่ระดับแกนนำทำกิจกรรม เป็นเพียงพันธมิตร หรือวิทยากรรับเชิญเข้าร่วมพูด หากมีหัวข้อที่อ.ถนัดเท่านั้น ถือเป็นการผิดพลาดทางข้อเท็จจริง 2 ข้อ
ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า โดยกิจกรรมการอ่านแถลงการณ์เมื่อวาน อ.ประจักษ์ เป็นเพียงคนอ่านแถลงการณ์ของ 176 นักวิชาการไทยและต่างประเทศ คู่กับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียอีกคน ซึ่งเนื้อความในแถลงการณ์ก็พูดอย่างตรงไปตรงมา เรื่องสิทธิเสรีภาพของพลเมือง และสิทธิทางวิชาการมันถูกริดรอนไปอย่างสำคัญ โดยการระบุชื่อนักวิชาการของเจ้าหน้าที่นั้น ถือว่าเป็นการทำงานที่ ชุ่ย จับแพะชนแกะ และมั่วมาก การระบุชื่อ อ.ประจักษ์ ถือเป็นความผิดพลาดร้ายแรง และไม่น่าประหลาดใจ หากหน่วยงานของรัฐจะแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ เรื่องง่ายๆแค่นี้ยังผิด ซึ่ง คนส.มีเป้าหมายในการปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ และเกี่ยวข้องกับการรวบรวมรายชื่อนักวิชาการออกแถลงการณ์ โดยวันนี้ ถึงแม้ไม่เกี่ยวโดยตรงแต่ถือเป็นหน้าที่ในการปกป้องเสรีภาพของผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ โดยจะมีการกำหนดท่าที หากเจ้าหน้าที่รัฐเชิญนักวิชาการดังกล่าว จะมีการรวมตัวของนักวิชาการไป คุยกับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ไม่น่าจะเรียก ซึ่งพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) จะมีการออกแถลงการณ์ยืนยันในหลักการอีกที
"ประเทศนี้มีอะไรที่ไม่สมเหตุสมผลหลายเรื่องอยู่แล้ว มีการพยายามปิดกั้น ไม่ให้คนคิดต่างได้แสดงออก มีการพยายามทำให้สังคมดูสงบปกติ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น จะได้เป็นข้ออ้างว่า เมื่อเข้ามาแล้ว ประเทศสงบ ไม่มีความเคลื่อนไหวอะไร ใช้ชีวิตปกติ ซึ่งจริงๆแล้วมันไม่ใช่ มันเป็นเพราะคุณบังคับให้เขาใช้ชีวิตแบบนี้ ใครขึ้นมาก็ถูกจับ เราคิดว่ามันไม่ถูก หากมีจดหมายเรียกตัว บุคคลทั้ง 3 จริง เราก็จะรวมตัวกันไปพบ" ดร.อนุสรณ์ กล่าว