ครม. ไฟเขียว รถไฟไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-โคราช

ครม. ไฟเขียว รถไฟไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-โคราช

ครม.ผ่านฉลุย เดินหน้ารถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงแรก กรุงเทพฯ-โคราช วงเงิน 179,413 ล้าน รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด 100% อัตราค่าโดยสาร เริ่มต้นที่ 80 บาท...

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท. ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา วงเงิน 179,413 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี โดยรัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด 100%

สำหรับการก่อสร้างจะแบ่งเป็น 3 ช่วง ซึ่งครั้งนี้เป็นการอนุมัติให้ดำเนินการช่วงแรกระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-หนองคาย ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และระยะที่ 2 คือ นครราชสีมา-หนองคาย และระยะที่ 3 ช่วงแก่งคอย-มาบตาพุด รวมระยะทางทั้งสิ้น 250 กิโลเมตร และมีพื้นที่ที่ต้องเวนคืนประมาณ 2,815 ไร่ ประกอบด้วย ช่วงบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง นครราชสีมา เพื่อให้สามารถเดินรถได้ความเร็วที่ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ทั้งนี้ ในช่วงแรกจะเดินรถรวม 6 ขบวน สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 600 คนต่อขบวน ขับเคลื่อนเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยใช้ระยะเวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 17 นาที คาดว่าในปีแรกที่เปิดดำเนินการ หรือในปี 2564 จะมีผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 5,300 คนต่อวัน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของปัจจุบันที่มีผู้โดยสารเส้นทางดังกล่าว 20,000 คน และคาดว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า หรือปี 2594 จะมีผู้ใช้บริการ 26,800 คน และมีขบวนรถทั้งสิ้น 26 ขบวน ปล่อยขบวนทุก 35 นาที

ส่วนอัตราค่าโดยสารนั้น จะคิดเริ่มต้นที่ 80 บาทบวกเพิ่ม 1.8 บาทต่อกิโลเมตร เช่น กรุงเทพฯ-อยุธยา ค่าโดยสารอยู่ที่ 278 บาท กรุงเทพฯ-ปากช่อง ค่าโดยสารอยู่ที่ 393 บาท กรุงเทพฯ-โคราช ค่าโดยสารอยู่ที่ 535 บาท ซึ่งเทียบเคียงกับค่าโดยสารในปัจจุบัน

นายกอบศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านสัญญาประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนงานโยธา-ก่อสร้าง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75 ซึ่งผู้รับจ้างงานจะเป็นคนในประเทศ และคาดว่าจะส่งผลดีต่อบริษัทก่อสร้าง และวัสดุก่อสร้างของคนไทยแน่นอน ส่วนสัญญาที่ 2 การวางระบบอาณัติสัญญา การควบคุม ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 25 ของมูลค่าโครงการนั้น จะมี 3 สัญญาย่อย คือ การสำรวจการออกแบบ การปรึกษาควบคุมงานโยธา และระบบไฟฟ้า เครื่องกล ขบวนรถ จะเป็นการดำเนินการของจีน

ส่วนสาเหตุที่ไทยต้องลงทุนเอง เนื่องจากหากแบ่งสัดส่วน จะต้องดำเนินการในรูปแบบการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาทำงานร่วมกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่เคยดำเนินการมาก่อน นอกจากนี้ทางการจีนยังพร้อมสนับสนุนและให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีแก่คนไทยเพิ่มเติมด้วย ซึ่งโครงการรถไฟไทย-จีน คาดว่าจะส่งผลให้ไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกับประเทศอื่นในภูมิภาค และยังสามารถเชื่อมเส้นทาง One belt One road ของจีนอีกด้วย.


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์