"สมเจตน์" ลั่น ไม่ปฏิรูปพรรค ปฏิวัติเสียของ ที่ประชุมสภาหินอ่อนยืนทุนประเดิมจดทะเบียนพรรค1 ล้านบาท
มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่1 ทำหน้าที่ประธาน เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง สนช.ที่คณะกมธ.วิสามัญฯพิจารณาเสร็จแล้ว โดย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ประธานกมธ.วิสามัญฯ ชี้แจงว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมี 142 มาตรา แก้ไขไป 60 มาตรา ตัดออก 1 มาตรา และเพิ่มใหม่ 4 มาตรา มีเจตนารมณ์ขจัดนายทุนครอบงำพรรคการเมือง ส่งเสริมให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของพรรค มีส่วนร่วมคัดสรรผู้สมัครทั้งส.ส.แบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ ตนยืนยันว่า พรรคการเมืองต้องถูกปฏิรูป ถ้าไม่เช่นนั้น การปฏิวัติเสียของแน่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้อภิปราย มาตรา 9 เรื่องทุนประเดิมในการจัดตั้งพรรคการเมืองอย่างกว้างขวาง สมาชิกสนช.ส่วนใหญ่ได้ท้วงติงถึงความเหมาะสม เนื่องจากกมธ.เสียงข้างมากได้แก้ไขสาระสำคัญจากร่างเดิมที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอกำหนดไว้ว่าพรรคการเมืองต้องมีทุนประเดิม 1 ล้านบาท โดยเก็บจากผู้ร่วมจัดตั้งพรรคต้องร่วมกันจ่ายคนละไม่น้อยกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 300,000 บาท มาเป็นพรรคการเมืองให้มีทุนประเดิมไม่น้อยกว่าจำนวนที่ กกต.เคยกำหนดเป็นค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ซึ่งกกต.ระบุไว้ที่ 1.5 ล้านบาท โดยเก็บจากผู้ร่วมจัดตั้งพรรคร่วมกันจ่ายคนละไม่น้อยกว่า 1,000 แต่ไม่เกิน 50,000 บาท
ทั้งนี้ หลังจากถกเถียงกันระหว่างกมธ.เสียงข้างมาก นำโดย พล.อ.สมเจตน์ กับ กมธ.เสียงข้างน้อย อาทิ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ และสมาชิกสนช.บางส่วน โดยต่างฝ่ายต่างอภิปรายยืนยันหลักการตัวเอง โดยนายสมเจตน์ ระบุว่า หวังให้พ.ร.บ.นี้ใช้ไปถึง 20-30 ปี จึงแก้ให้มีที่มาการจ่ายเงินชัดเจน แต่ไม่ผูกมัดตายตัว ให้กำหนดจ่ายเงินทุนประเดิมแบบผันแปรตามภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งกกต.จะเป็นผู้กำหนดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ แต่การที่กรธ.ให้ผู้ร่วมจัดตั้งพรรคต้องร่วมลงขันจ่ายทุนประเดิมได้คนละไม่เกิน 300,000 บาท สุ่มเสี่ยงว่าผู้จ่ายเงินมากกว่า จะมีอำนาจสูงกว่าผู้จ่ายเงินน้อยในพรรค เป็นหลักการที่ใช้ไม่ได้ ผู้มีอำนาจเข้ามาครอบงำพรรค
กระทั่ง นายสุรชัย ประธานในที่ประชุม ต้องขอมติตัดสินในมาตรา 9 ซึ่งผลปรากฏว่า ที่ประชุมเสียงข้างมาก 109 ต่อ 95 เสียง มีมติตามที่กมธ.เสียงข้างน้อยที่สงวนไว้ ไม่ยืนตามที่กมธ.เสียงข้างมากได้มีการปรับแก้ โดยให้การจัดตั้งพรรคการเมือง จะต้องมีทุนประเดิม 1 ล้านบาท โดยผู้ร่วมจัดตั้งพรรคร่วมกันจ่ายคนละไม่น้อยกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท
ต่อมาสนช. มีมติเอกฉันท์ 180 เสียงเห็นชอบให้ประกาศใช้ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
หลังจากนี้ สนช. จะส่งมติดังกล่าวไปยัง คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ให้รับทราบและหากเห็นว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์สามารถทำข้อโต้แย้งกลับมายัง สนช. ได้ภายใน 10 วันเพื่อให้มีการตั้ง คณะกรรมาธิการร่วม เพื่อพิจารณาหาข้อยุติต่อไป
ที่มาspringnews