อีสาน’ ไม่รับพุ่งลิ่ว ‘เหนือ’ คะแนนสูสี ‘กลาง-ใต้’ ชนะขาด
ผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ผ่านฉลุย ชาวบ้านแห่ใช้สิทธิเกินครึ่ง “กทม.-กลาง-ใต้” โหวตรับร่างท่วมท้น ส่วน “อีสาน” ฐาน “ไทยรักไทย” ชาวบ้านรวมตัวแสดงพลังคว่ำตามคาด คะแนนไม่เห็นชอบถล่มทลาย ขณะที่ภาคเหนือ “ถิ่นแม้ว” คะแนนยังคู่คี่สูสี “สวนดุสิตโพล” ฟังธงรับร่างเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ แฉเหตุเห็นชอบเพราะคิดว่า “รธน. 50” ดีกว่าเดิม และอยากให้เลือกตั้งเร็ว ขณะที่ “กกต.” แจงให้เวลาร้องคัดค้านการนับคะแนน 24 ชั่วโมง
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 19 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศหลังปิดหีบการลง ประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยทันทีที่ปิดหีบบรรดาโพลสำนักต่าง ๆ ได้ออกมาเปิดเผยผลเอ็กซิทโพล ซึ่งส่วนใหญ่ฟันธงตรงกันว่าประชาชนเกินกว่า 60% ลงประชามติเห็นชอบรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 โดย “สวนดุสิตโพล” ระบุ ว่ามีประชาชนลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 67.94% ไม่เห็นชอบ 32.06% ขณะที่ “เอแบค โพลล์” ระบุว่าประชาชนเห็นชอบ 70.70% ไม่เห็นชอบ 29.30% และ “รามคำแหงโพล” ระบุว่าประชาชนเห็นชอบ 60.19% และไม่เห็นชอบ 39.81%
ขณะเดียวกัน สวนดุสิตโพล ยังแบ่งการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ตามพื้นที่ดังนี้คือ กทม. เห็นชอบ 75.49% ไม่เห็นชอบ 24.51 % ภาคกลาง เห็นชอบ 77.73% ไม่เห็นชอบ 22.27% ภาคเหนือ เห็นชอบ 65.58% ไม่เห็นชอบ 34.42% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) เห็นชอบ 57.07% ไม่เห็นชอบ 42.93% ภาคใต้ เห็นชอบ 78.17% ไม่เห็นชอบ 21.83% และเปรียบเทียบการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญทั่วประเทศ ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ปรากฏว่าผู้ชายเห็นชอบ 66.32% ไม่เห็นชอบ 33.68% ส่วนผู้หญิงเห็นชอบ 69.26% ไม่เห็นชอบ 30.74%
สำหรับเหตุผลของผู้ที่เห็นชอบนั้น สวนดุสิตโพล ระบุว่าอันดับแรก คิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้น่าจะดีกว่าเดิม 16.19% อันดับที่ 2 ต้องการให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยเร็ว ต้องการรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 14.98% อันดับที่ 3 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น มีส่วนร่วมมากกว่าเดิม 14.57% อันดับที่ 4 ต้องการให้ประเทศสงบสุข เกิดความเรียบร้อย หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประเทศชาติอาจจะเกิดความวุ่นวาย 9.72% และอันดับที่ 5 ต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นตัวขับเคลื่อนการเมืองไทยให้ก้าวหน้าต่อไป 8.50% ฯลฯ
ส่วนผู้ที่ไม่เห็นชอบ อันดับ 1 ให้เหตุผลว่า เป็นวิธีการรับรองรัฐธรรมนูญที่ผิดให้ถูกต้อง เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่สมบูรณ์แบบ และไม่เป็นอัตตาธิปไตย 45.68% อันดับที่ 2 มีช่องว่างมากเกินไป บางมาตรามีเนื้อหาไม่ชัดเจน 23.46% อันดับที่ 3 เนื้อหารัฐธรรมนูญที่ใช้เป็นภาษากฎหมายที่ซ้ำซ้อน ขาดความเข้าใจที่ชัดเจน 7.41% อันดับที่ 4 ไม่ชอบคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ไม่ชอบการปฏิรูปแบบรัฐประหาร 6.17% และอันดับที่ 5 คิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ดีกว่า 6.17%
ขณะเดียวกันมีชาวเว็บฯ เข้าไปแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ชื่อดังต่าง ๆ อาทิ เว็บไซต์พันทิปดอทคอม ห้องสนทนาการเมือง “ราชดำเนิน” และห้องสนทนา “เฉพาะกิจร่างรัฐธรรมนูญ 2550” และเว็บไซต์ประชาไทยดอทคอม ตลอดช่วงเปิดหีบลงประชามติจำนวนน้อยมาก แต่ส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ กระทั่งหลังปิดหีบซึ่งมีผลโพลสำนักต่าง ๆ ออกมา ส่งผลให้บรรยากาศการแสดงความ คิดเห็นคึกคักขึ้นทันตา แต่ส่วนใหญ่ยังคงไม่ เห็นชอบ แต่ก็พร้อมจะยอมรับผลประชามติที่ออกมา ส่วนเว็บไซต์สื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ และหน่วยงานราชการ อาทิ เว็บไซต์สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) (http://cda.parliament. go.th) เว็บไซต์ อสมท (www.mcot.net) ซึ่งรายงานผลการนับคะแนนจากฐานข้อมูล และ เว็บไซต์ เนชั่น(www.bangkokbiznews. com) มีการเกาะติดการรายงานผลการลงประชามติแบบนาทีต่อนาที พร้อมนำเสนอรูปแบบการรายงานที่สวยงามดูง่าย โดยแบ่งการ นับผลคะแนนตามภาค และจังหวัดอย่างละเอียด สำหรับเว็บไซต์ ทรูทักษิณดอทคอม (www. truethaksin.com) ไม่มีความเคลื่อนไหวแต่อย่างใด
กกต.แจงคัดค้านนับคะแนน
ทางด้านนายสมชัย จึงประเสริฐ กกต. แถลงถึงรายงานการร้องเรียนปัญหาการเลือกตั้งว่า ภายหลังการปิดหีบบัตร โดยระเบียบ กกต.จะให้เวลาในการร้องคัดค้านผลการนับคะแนนนาน 24 ชั่วโมง ดังนั้น ระยะเวลาในการร้องคัดค้านการนับคะแนน จะมีไปจนถึงเวลา 16.00 น. ของวันที่ 20 ส.ค.นี้ ซึ่งผู้ต้องการร้องค้าน ต้องรวมตัวประชาชนให้ได้ 10% ของผู้มาใช้สิทธิ ในหน่วยนั้น และร้องค้านได้เฉพาะในหน่วยนั้น จากนั้นจึงจะเข้าสู่กระบวนการไต่สวนและหากมีมูล โดยการร้องค้านส่งผลให้คะแนนประชามติเปลี่ยนแปลง ก็จะส่ง กกต.กลางวินิจฉัยต่อไป ทั้งนี้ ทางประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ได้มีหนังสือถึง กกต.ขอให้ส่งผลประชามติ ไปให้ ส.ส.ร.ทราบภายในเวลา 18.30 น. วันที่ 20 ส.ค.นี้ และเมื่อไรที่ ส.ส.ร.ประกาศผล ก็ถือว่าคำประกาศนั้นเป็นที่สุด