สื่อต่างชาติขึ้นป้าย รัฐธรรมนูญทหาร

สื่อต่างชาติขึ้นป้าย "รัฐธรรมนูญทหาร"

สื่อต่างชาติหลายสำนัก เรียก รธน. 50 "รัฐธรรมนูญฉบับทหาร" พร้อมจับตาลงประชามติรับ-ไม่รับ ระบุเป็นการวัดคะแนนนิยม "คมช.-ทักษิณ" อ้างนักวิเคราะห์เตือนถ้าไม่ผ่านอาจจุดชนวนการเมืองรอบใหม่


ปฏิกิริยาของสื่อต่างชาติที่มีต่อการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นั้น มีการรายงานข่าวเรื่องนี้กันอย่างคึกคักทุกสำนัก แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าสำนักข่าวตะวันตกซึ่งประกาศจุดยืนต่อต้านรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนั้นจะเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับทหารกันเป็นส่วนใหญ่ โดยสำนักข่าวเอเอฟพีนั้นพาดหัวว่า "คนไทยลงประชามติรัฐธรรมนูญของรัฐบาลทหาร" ขณะที่สำนักข่าวดีพีเอในเครือหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน ของอังกฤษนั้นเรียกว่า "รัฐธรรมนูญที่ทหารหนุนหลัง" ส่วนรอยเตอร์พาดว่า "คนไทยโหวตร่างรัฐธรรมนูญทหาร" ทางด้านสำนักข่าวเอพีรายงานว่า "คนไทยลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 ที่ร่างขึ้นเพื่อควบคุมนักการเมือง"

วัดความนิยมในตัว "คมช."

อีกประเด็นหนึ่งที่สำนักข่าวต่างชาติให้ความสนใจมากเป็นพิเศษคือ ประเด็นที่ว่าการลงประชามติครั้งนี้ดูจะเป็นการวัดคะแนนนิยมที่ประชาชนชาวไทยมีต่อ คมช. มากเสียยิ่งกว่าจะเป็นการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยรอยเตอร์รายงานว่า ถึงแม้จะมีการคาดการณ์กันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบอย่างแน่นอน แต่ถ้าหากคะแนนเห็นชอบนั้นห่างจากไม่เห็นชอบเพียงเล็กน้อยก็จะถือเป็นความอับอายขายหน้าครั้งใหญ่สำหรับรัฐบาล และถูกมองว่าเป็นการให้ความเห็นชอบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งยังได้รับความนิยมอย่างสูงในชนบท

นายโจนาธาน เฮด นักข่าวของบีบีซีประจำกรุงเทพฯ กล่าวว่า ถ้าผลการลงประชามติออกมาไม่ถึง 50% คนจำนวนมากจะพากันตีความว่าเป็นการแสดงท่าทีไม่ยอมรับการรัฐประหารเมื่อปีที่แล้วของประชาชน ในขณะที่สำนักข่าวดีพีเอคาดการณ์ว่า จะมีผู้ออกมาลงประชามติไม่ถึง 70% พร้อมอ้างว่าทั้งโพลล์ที่จัดทำก่อนหน้านี้ และนักวิเคราะห์ทางการเมืองต่างชี้ตรงกันว่าการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะผ่านความเห็นชอบ แต่สัดส่วนระหว่างผู้ที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบนั้นจะเป็นตัววัดคะแนนนิยมที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลทหารชุดปัจจุบัน ขณะที่พรรคฝ่ายค้านต่างพากันตั้งความหวังว่าจะมีคนลงคะแนนเสียงคัดค้านในสัดส่วนที่มากพอที่จะตั้งคำถามเรื่องที่ทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้

ด้านสำนักข่าวเอเอฟพีที่รายงานว่า การลงประชามติครั้งนี้เป็นบททดสอบที่สำคัญครั้งแรกของคณะนายทหารที่ก่อการรัฐประหารโดยไร้การนองเลือดเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วนั้น ได้ไปสอบถามความคิดเห็นของนักวิเคราะห์ชาวไทยหลายคน อาทิ นายอุกฤษณ์ ปัทมานันท์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่กล่าวว่า การออกเสียงประชามติครั้งนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของคณะผู้ก่อการรัฐประหาร

คนไม่สนใจเนื้อหา รธน.

สำนักข่าวเอพียังรายงานด้วยว่า มีผู้มีสิทธิออกเสียงจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้สนใจเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ จะพุ่งความสนใจไปยังเรื่องการเลือกตั้ง หรือ คมช.แทน โดยเอพีได้อ้างความเห็นของข้าราชการผู้หนึ่งที่ออกไปใช้สิทธิที่คูหาเลือกตั้งแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่กล่าวว่าโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญเพราะต้องการให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นในปีนี้ ขณะที่ครอบครัวหนึ่งกล่าวว่า โหวตไม่รับร่างฯ เพราะเกลียดการรัฐประหาร

สื่อต่างชาติยังรายงานด้วยว่า ผู้ที่ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ส่วนใหญ่จะเป็นคนกลุ่มที่เบื่อหน่ายกับภาวะชะงักงันทางการเมืองที่ดำเนินมากว่า 2 ปีเต็มที และต้องการให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยต่อไป ในส่วนของผู้ที่คัดค้านนั้นจะเป็นกลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูก คมช.โค่นอำนาจ บ้างก็เป็นกลุ่มที่ไม่ชอบทหาร

ด้านดีพีเอรายงานว่า บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าคนไทยจะโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญเพราะเหนื่อยหน่ายกับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่ดำเนินมากว่า 2 ปีแล้ว และได้ไปสัมภาษณ์ผู้ใช้สิทธิออกเสียงวัย 37 ปี ในกรุงเทพฯ ที่กล่าวว่าต้องการเห็นรัฐธรรมนูญผ่านเพราะประเทศเจ็บปวดมามากพอแล้ว แต่ก็มีเจ้าของร้านอาหารใน จ.กาฬสินธุ์ ชื่อ น้อย วัย 53 ปี ที่กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นคนเดียวที่ยืนหยัดต่อสู้กับมาเฟียค้ายาเสพติด พออดีตนายกฯ ไปยาเสพติดก็กลับมาใหม่ จึงโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพราะคิดว่าเป็นการถอยหลังของประชาธิปไตย

หวั่นเหตุวุ่นวายถ้าไม่ผ่าน

ส่วนสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งนั้น เอเอฟพีรายงานอ้างนักวิเคราะห์ที่เตือนว่าหากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านการรับรองก็อาจจุดชนวนให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองขึ้นได้ และทำให้การเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ล่าช้าออกไป แถมยังจะทำให้เกิดความรู้สึกไม่แน่ใจ ไม่มั่นคงขึ้นกับเศรษฐกิจของไทยที่ปัจจุบันก็โซซัดโซเซอยู่แล้ว

ในส่วนของประเด็นนี้นั้น เอเอฟพีได้อ้างบทสัมภาษณ์นายปณิธาน วัฒนายากรณ์ นักวิเคราะห์ทางการเมืองจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่กล่าวว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบ คมช.ก็จะประสบความยากลำบากมากขึ้นในการบริหารประเทศ และมีแนวโน้มว่าจะเกิดความไร้เสถียรภาพ ความขัดแย้ง หรือแม้แต่ความสับสนอลหม่านขึ้นในประเทศตามมา

ส่วนของรอยเตอร์รายงานอ้างนักวิเคราะห์ว่า การโหวตไม่รับร่างฯ อาจทำให้ความวุ่นวายทางการเมืองที่เริ่มขึ้นตั้งแต่การประท้วงทักษิณบนท้องถนนนั้นร้าวลึกลงไปอีก แต่การผ่านจะช่วยบรรเทาให้ชาวไทยจำนวนมาก และทำให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง ด้านสำนักข่าวเอพีรายงานว่า คงจะไม่มีความวุ่นวายทางการเมืองเกิดขึ้น แต่ได้มีการส่งทหารและตำรวจหลายพันนายออกไปทั่วภาคใต้เพื่อป้องกันเหตุการณ์โจมตีหน่วยเลือกตั้ง


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์