ถือเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า เมื่อมีคำยืนยันจาก นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. ว่าจะมีการพิจารณาคำร้องของปปช.ให้ถอดถอน นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรมว.ต่างประเทศ กรณีออกออกหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ต ให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 9 มี.ค.นี้ ทั้งนี้ประเด็นที่นำส่งสนช.พิจารณาถอดถอนนายสุรพงษ์ มีการระบุถึงการกระทำตามมูลความผิดอาญาฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มาตรา 157 และผิดกฎหมาย ป.ป.ช. รวมทั้งขัดต่อมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2551
สืบเนื่องจากกนายสุรพงษ์ ได้อนุมัติการออกหนังสือเดินทางให้กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกศาลสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ และถูกออกหมายจับในคดีก่อการร้าย และคดีอื่น ๆ ซึ่งขัดต่อระเบียบข้อบังคับกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.2548 ข้อ 21 (2) (3) และ (4)แน่นอนว่ากับพฤติการณ์ของนายสุรพงษ์ที่นำมาสู่การพิจารณาความผิดดังกล่าว นอกเหนือจากการดำเนินการในส่วนของสนช.แล้ว ยังมีการยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดให้ดำเนินคดีอาญากับนายสุรพงษ์อีกด้วย แต่ประเด็นปัญหาคือ การกระทำของนายสุรพงษ์ถือเป็นความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ มีข้อพิจารณาประกอบดังนี้1.ในยุครัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯและมี นายกษิต ภิรมย์ เป็น รมว.ต่างประเทศ ได้มีการพิจารณายกเลิกพาสปอร์ตทุกเล่มของ นายทักษิณ เนื่องจากระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.2548 ในหมวด 7 ว่าด้วยการปฏิเสธหรือยับยั้งคำขอหนังสือเดินทางข้อ 21 ระบุว่า พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถปฏิเสธหรือยับยั้งการขอหรือแก้ไขหนังสือเดินทางได้ด้วยกรณีดังนี้
"เมื่อได้รับแจ้งว่าผู้ร้องขอทำหนังสือเดินทางเป็นผู้ซึ่งกำลังรับโทษในคดีอาญาหรืออยู่ระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราวหรือเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาที่ได้มีการออกหมายจับไว้แล้ว รวมถึงศาลหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเห็นว่าไม่ควรจะออกหนังสือเดินทางให้ หรือเมื่อผู้ร้องกระทำผิดกฏหมาย หรือระเบียบปฏิบัติทางราชการ ซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือปิดบังความจริงอันเป็นสาระสำคัญหรือแสดงเอกสารหลักฐานอันเป็นเท็จในการขอหนังสือเดินทางหรือไม่อยู่ในฐานะที่จะเดินทางไปต่างประเทศได้หรือหากเดินทางออกนอกราชอาณาจักรจะเป็นภัยต่อสวัสดิภาพของผู้เดินทางเองหรือจะกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงปลอดภัยหรือชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประเทศไทย"
2.ในยุครัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ และมี นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เป็นรมว.ต่างประเทศ ได้ดำเนินการยกเลิกคำสั่งของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ว่าด้วยการยกเลิกหนังสือเดินทางประเภทบุคคลธรรมดาของนายทักษิณ ภายหลังจากนายทักษิณ ได้ยื่นคำร้องขอทำพาสปอร์ต ประเภทบุคคลธรรมดา มายังสถานเอกอัครข้าราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
"หนังสือเดินทางของนายทักษิณ ได้ถูกยกเลิก เมื่อวันที่ 12 เม.ย.2552 ตามนโยบายรัฐบาลชุดที่ผ่านมา โดยอ้างระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง ข้อ 23 (7) ที่ระบุว่า พนักงาน เจ้าหน้าที่ สามารถยกเลิกและคืนหนังสือเดินทาง เมื่อเห็นว่าบุคคลผู้ถือพาสปอร์ต ก่อให้เกิดความเสียหาย และความมั่นคงให้ประเทศไทย หรือ ต่างประเทศ แต่ด้วยรัฐบาลชุดปัจจุบันเห็นว่าการอยู่ต่างประเทศของ นายทักษิณ ไม่ได้ก่อความเสียหายให้แก่ประเทศไทย หรือต่างประเทศ ตามระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง ข้อ 23 (7) จึงขอให้ยกเลิกคำสั่งที่ออกมาจากรัฐบาลชุดที่แล้ว ส่วนการออกหนังสือเดินทางประเภทบุคคลธรรมดาให้กับนายทักษิณ เป็นเรื่องที่กรมการกงสุลจะพิจารณาตามระเบียบต่อไป" (คำให้สัมภาษณ์ของนายสุรพงษ์)
3.การพิจารณายกเลิกคำสั่งว่าด้วยการยกเลิกพาสปอร์ตของนายทักษิณ มีความเกี่ยวโยงกับนายสุรพงษ์ ในฐานะรมว.ต่างประเทศหรือไม่ ??
ปรากฎข้อเท็จจริงจากการให้สัมภาษณ์ของนายสุรพงษ์หลายวาระ อาทิ "การดำเนินการคืนพาสปอร์ตธรรมดาให้กับนายทักษิณคงจะเสร็จสิ้นในเร็ว ๆ นี้ และถ้าจะเป็นของขวัญปีใหม่ให้นายทักษิณได้ก็จะดี โดยเชื่อว่าไม่มีการต่อต้าน เพราะเป็นเรื่องของข้อกฎหมาย การออกพาสปอร์ตเป็นกฎของกระทรวง และเป็นอำนาจของรัฐมนตรีที่จะดูแลเรื่องนี้ เป็นระเบียบของกระทรวงอยู่แล้วว่าการที่จะยกเลิกพาสปอร์ตจะมีกฎเกณฑ์ของกระทรวงว่ามีข้อที่เท่าไหร่ที่ทำได้หรือไม่ได้ อย่างไร และการที่พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกยึดพาสปอร์ตไปนั้นก็ไม่ได้มีคำสั่งศาลหรือตำรวจให้ยึดคืน แต่เป็นอำนาจของรัฐมนตรี ซึ่งในสมัยนั้นก็คืออำนาจของนายกษิต ภิรมย์ อดีตรมว.ต่างประเทศ ซึ่งเป็นข้อกฎหมาย ของกฎกระทรวง และตนกำลังดูข้อกฎหมายนี้อยู่"
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หมายความว่าจะใช้อำนาจรัฐมนตรีต่างประเทศในการคืนพาสปอร์ตให้นายทักษิณ ใช่หรือไม่ นายสุรพงษ์ ในฐานะรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ถูกต้อง เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตนอยากจะทำอะไรให้มันถูกต้อง จะไม่ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย
4.ในการออกหรือเพิกถอนหนังสือเดินทาง กระทรวงการต่างประเทศ มีระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 โดยอาศัยอำนาจตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. 2545 ที่ต้องยึดถือปฏิบัติ
เริ่มจากการที่นายทักษิณมีสิทธิที่จะได้หนังสือเดินทางทูต(ระเบียบข้อ 6 (5)) และในฐานะประชาชนก็มีสิทธิที่จะได้หนังสือเดินทางของบุคคลทั่วไป (พาสปอร์ตแดง-ระเบียบข้อ 13)
แต่ขณะเดียวกันระเบียบดังกล่าว ได้ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถยกเลิกและเรียกคืนหนังสือเดินทางได้ (ระเบียบข้อ 23) เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อปรากฏภายหลังว่า
(1) ผู้ถือหนังสือเดินทางเป็นผู้ซึ่งขาดคุณสมบัติที่จะขอหนังสือเดินทางประเภทนั้น
(2) ผู้ถือหนังสือเดินทางเป็นบุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจออกหนังสือเดินทางให้ดังกรณีต่อไปนี้
หนึ่ง เมื่อได้รับแจ้งว่าผู้ร้องเป็นผู้ซึ่งกำลังรับโทษในคดีอาญา หรืออยู่ระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราว หรือเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาที่ได้มีการออกหมายจับไว้แล้ว ซึ่งศาลหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเห็นว่าไม่ควรจะออกหนังสือเดินทางให้
สอง เมื่อผู้ร้องเป็นผู้ที่ศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายอื่นสั่งห้ามไม่ให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
สาม เมื่อผู้ร้องกระทำผิดกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติทางราชการ ซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือปิดบังความจริงอันเป็นสาระสำคัญ หรือแสดงเอกสารหลักฐาน
(3) มีเหตุอันเชื่อได้ว่า ผู้ถือหนังสือเดินทางได้หนังสือเดินทางนั้นมาโดยมิชอบ
(4) หนังสือเดินทางนั้นได้มีการแจ้งว่าสูญหายต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่เกิดเหตุแล้ว หรือ
ผู้ถือได้ร้องขอให้ยกเลิกเพื่อขอหนังสือเดินทางชนิดเดียวกันเล่มใหม่
(5) หนังสือเดินทางนั้นอยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้ถือหนังสือเดินทาง
โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
(6) ทางราชการได้ทดรองจ่ายเงินช่วยเหลือส่งตัวผู้ถือหนังสือเดินทางกลับประเทศไทยและ
ผู้ถือได้ทำสัญญากับทางราชการว่า จะชดใช้เงินจำนวนที่ทางราชการได้ทดรองจ่ายไปคืนให้ทางราชการ แต่ผู้ถือยังไม่ได้ชดใช้เงินคืนให้แก่ทางราชการจนครบตามเงื่อนไขในสัญญา
(7) พิจารณาเห็นว่า หากให้ผู้ถือหนังสือเดินทางยังคงอยู่ในต่างประเทศต่อไป อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศไทยหรือต่างประเทศได้
และจากพฤติการณ์ของนายทักษิณในฐานะนักโทษหลบหนีคำพิพากษาจำคุก และยังเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลฎีกาฯอีกหลายคดี ย่อมถือว่าเข้าข่ายที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะยกเลิกหนังสือเดินทางตามระเบียบที่กำหนด แต่ในทางกลับกันข้อกล่าวอ้างของนายสุรพงษ์ว่าด้วยเหตุ การอยู่ต่างประเทศของ นายทักษิณ ไม่ได้ก่อความเสียหายให้แก่ประเทศไทย หรือต่างประเทศ ตามระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง ข้อ 23 (7) จึงสามารถยกเลิกคำสั่งถอดถอนหนังสือเดินทางได้ ย่อมสามารถพิจารณาได้โดยสามัญสำนึกว่าเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงหรือไม่ ถ้าพิจารณาถึงข้อบังคับว่าด้วยคุณสมบัติผู้ถือหนังสือเดินทางซึ่งนำมาใช้เป็นเหตุผลยกเลิกและเรียกคืนหนังสือเดินทางของนายทักษิณไปก่อนหน้า
5.แนวความคิดของนายสุรพงษ์ต่อการพิจารณาอนุมัติหนังสือเดินทางให้กับนายทักษิณตั้งอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องหรือเหตุผลส่วนตัวกันแน่ ??
ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2558 กระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางของนายทักษิณอีกครั้ง เนื่องจากพบคำให้สัมภาษณ์ของนายทักษิณ ที่ประเทศเกาหลีใต้ มีเนื้อหาบางส่วนที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศไทย อันถือเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112, 326 และ 328 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) (5)
นายสุรพงษ์ ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย กลับยืนยันแนวคิดตัวเองในการคืนหนังสือเดินทางให้นายทักษิณ "ตนเห็นว่า นายทักษิณ ไม่ได้ทำความเสียหายอะไรให้กับประเทศ และถ้าตนกลับมาเป็นรัฐบาลอีก ตนก็จะคืนหนังสือเดินทางให้ นายทักษิณ เพราะมองว่า นายทักษิณ ไม่ได้ทำความเสียหายอะไร การออกมาแสดงความคิดเห็นก็ไม่ได้สร้างความเสียหายอะไร อยู่ที่ประชาชนที่ได้รับฟังจะเชื่ออย่างไร ??
ท้ายสุดต่อมาศาลปกครองได้มีคำวินิจฉัยให้ยกคำร้องของนายทักษิณ ที่คัดค้านการดำเนินการของกระทรวงต่างประเทศในการถอดถอนหนังสือเดินทาง ว่า "อธิบดีกรมการกงสุลสามารถยกเลิกหนังสือเดินทางได้ตามระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศ เป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้เลือกปฏิบัติ ซึ่งไม่ถือว่าขัดกับสิทธิเสรีภาพและปฏิญญาสากล"
ล่าสุดนายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้โพสต์ข้อความแสดงความเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุใจความว่า "สาหัสแน่การออกพาสปอร์ตให้นักโทษหนีคดีเป็นความผิดหรือเป็นความถูก เด็ก ป.4 ก็รู้ การช่วยเหลือให้ความสะดวกนักโทษหลบหนีก็เป็นความผิดทางอาญา เมื่อ ปปช. ชี้ว่าผิดและส่งอัยการแล้ว
ต่อไปก็จับตาอัยการว่าจะฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาหรือไม่เมื่อใด คดีนี้ไม่ยุ่งยากอะไรหรอก ไม่กี่เดือนก็เสร็จ"