วันนี้ (18 ส.ค.) พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี
ให้สัมภาษณ์ในรายการเปิดบ้านพิษณุโลก ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ถึงปัญหาเศรษฐกิจว่า ตั้งแต่เข้ามาบริหารงาน ได้พูดถึงวิธีการบริหารงานในหลักการตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งในส่วนนี้หมายถึงการบริหารความเสี่ยงด้วย ทำอย่างไรที่เราจะให้มีการเสี่ยงที่น้อยลง โดยมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้พูดมาโดยตลอด ในหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีนั้น จะทำการกำกับดูแลกระทรวงการคลัง และกระทรวงการคลังมีหน้าที่ดูในภาพรวม แล้วประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดังนั้น งานทั้งหมดจะสอดประสานกัน
นายกฯ ยังมั่นใจคลัง-ธปท. คุมสถานการณ์ บาท ผันผวนได้
"ก่อนหน้าที่จะมีลักษณะที่เราพูดกันว่าเงินบาทแข็งตัว ผมไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวมากนัก แต่เมื่อมาถึงห้วงเวลานั้น เราต้องเข้าไปดูแล ก็มีการพูดคุยกันประสานงานกันและพูดุคุยกันทุกวันศุกร์ เพื่อติดตามสถานการณ์ ซึ่งเราพยายามที่จะรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน พยายามที่จะมีภูมิคุ้มกันที่จะไม่ให้มีผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินในตลาดโลกและการลงทุนในตลาดโลก ซึ่งคิดว่าจะมีความผันผวนไปอีกระยะหนึ่ง" นายกรัฐมนตรี กล่าว นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า
เรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในไตรมาสที่ 3 ยังอยู่ในเกณฑ์ที่เราได้ประมาณการไว้ ไม่มีอะไรที่จะส่งผลกระทบ ซึ่งจะต้องดูในช่วงไตรมาสที่ 4 อีกว่า สิ่งที่เกิดความผันผวนในปัจจุบันจะส่งผลประโยชน์ในส่วนนั้นได้หรือไม่ ถ้าให้ตนมองภาพ คิดว่ามองในเชิงที่ไม่หวังมากเกินไป ซึ่งมีผลกระทบบ้าง แต่ไม่อยู่ในฐานะที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรง นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง
กรณีที่รัฐบาลได้ออกมาตรการในการป้องกันปัญหากองทุนเคลื่อนย้ายเงินด้วยการกำหนดมาตรการกันสำรอง 70-30 นั้น ว่าในส่วนของการลงทุนในตลาดหุ้นที่กันสำรอง 30% ได้ยกเลิกมานานแล้ว คงมีในเรื่องของมาตรการ โดย ธปท.กำลังพิจารณาว่าอาจจะมีมาตรการเพิ่มเติมออกมา ซึ่งมาตรการนี้คงเป็นเรื่องที่ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไร แต่จะทำให้บรรยากาศในด้านของการลงทุนของเรานั้นอยู่ในสภาพที่ดีขึ้น