พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร อยากให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการตัดสินใจ
วันนี้ (16 ส.ค.) พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และผู้ช่วยเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กล่าวถึงกระแสการรณรงค์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ว่า ส่วนตัวอยากให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการตัดสินใจ เพราะถือเป็นการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกของคนไทย และเพื่อเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าในยุคที่เรียกกันว่า "ประชาธิปไตยเบ่งบาน" ยังเป็นแค่การวิจารณ์ ขณะที่ คมช.เข้ามาแก้ไขปัญหาชาติบ้านเมืองให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยเป็นประชามติ นี่คือความแตกต่าง
ส่วนกระแสการก่อความวุ่นวายในวันลงประชามตินั้น พล.อ.สพรั่ง ระบุว่า
เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้วและทำอย่างเปิดเผย และคงจะเกิดขึ้นอีกได้ทุกเวลาที่มีโอกาส โดยเฉพาะเมื่อเจ้าหน้าที่บกพร่องก็จะขยายผลทันที พร้อมปฏิเสธไม่เคยสั่งการให้ทหารใช้อำนาจข่มขู่ หรือบีบบังคับบรรดากำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ต่างๆ ให้ไปกดดันลูกบ้านให้ออกมาลงประชามติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ โดยระบุกระแสข่าวดังกล่าว เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อทำลายภาครัฐ ขณะเดียวกันเกรงว่ากระบวนการคัดค้านจะไม่ประสบความสำเร็จ จึงออกมาโจมตีทุกรูปแบบ
ผู้ช่วยเลขาธิการ คมช. กล่าวถึงการดูแลความสงบเรียบร้อยในวันลงประชามติว่า
ในภาพรวมจะมีการจัดกำลังเข้าสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามการร้องขอ ภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่และกฎหมาย ส่วนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยืนยันว่าทุกฝ่ายจะต้องทำงานอย่างเต็มขีดความสามารถ ในการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน เพราะการก่อความวุ่นวายในวันนี้ ถือเป็นความพยายามอีกเรื่องหนึ่งของฝ่ายตรงข้าม หรือฝ่ายที่ต้องการก่อความไม่สงบ ที่จะฉวยโอกาสทางการเมืองก่อเหตุโดยไร้เหตุผล
นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ กล่าวถึงกรณีจดหมายเวียนยกเลิกสิทธิ์ต่าง ๆ
นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้นำจดหมายที่ส่งถึงประชาชน ซึ่งมีข้อความบิดเบือนเจตนารมณ์ร่างรัฐธรรมนูญ อาทิ การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญจะทำให้มีการเลือกตั้งเร็วขึ้น จะยกเลิก 30 บาทรักษาทุกโรค และจะมีการดักฟังทางโทรศัพท์ได้ ซึ่งจดหมายดังกล่าวแพร่ระบาดในต่างจังหวัด โดยเฉพาะ จ.ราชบุรี เพชรบุรี และกรุงเทพฯ บางส่วน มาแสดงให้สื่อมวลชนดู
นายธีรภัทร์ กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถตรวจสอบที่มาที่ไปของจดหมายดังกล่าวได้
และเห็นว่าผู้ดำเนินการควรเปิดเผยตัว และออกมาดีเบตข้อดีข้อเสียจะเหมาะสมกว่า พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้เชิญชวนประชาชน รับชมการดีเบตเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ในวันศุกร์นี้ (17 ส.ค) เวลา 15.00-17.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี ช่อง 9 อสมท ซึ่งจะมีผู้อภิปรายทั้งสนับสนุนและคัดค้าน ส่วนเหตุผลที่ไม่ให้เชิญกลุ่มไทยรักไทยร่วมเวทีด้วย เนื่องจากองค์กรกลางจะเป็นผู้กำหนดคน