สิงห์แดง นิยามยุคทักษิณ ไร้จริยธรรม-คิดแต่เงิน-ทิ้งอุดมการณ์
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 10 เมษายน 2549 23:18 น.
คณาจารย์สิงห์แดง ถล่มการเมือง ยุคทักษิณ ไร้จริยธรรม-คิดแต่เงิน-ทิ้งอุดมการณ์ อัด ทรท.กลายพันธุ์สภาเป็นระบบกึ่งประธานาธิบดี สร้างลัทธิวันแมนโชว์ถีบ รมต.เป็นแค่เลขาฯ หน้าห้อง ชี้ปฏิรูปการเมืองต้องเช็กบิลวุฒิสภาก่อนฐานตัวการทำลายการตรวจสอบ จวกประกาศเว้นวรรคไม่ปริปากเรื่องจริยธรรมทั้งที่คือปัญหาของตัวเอง เชื่อ แม้ว ยังอยู่เบื้องหลังต่อพร้อมแทรกแซงปฏิรูปการเมือง อัดพวกแพ้โนโหวตเป็นได้แค่ ส.ส.ประเภทสาม ด้าน ว่าที่ ส.ส.ทรท. ไอเดียกระฉูด อาจต้องแหกกรอบเปิด สภาโจ๊ก ให้ได้เพื่อส่วนรวม ระบุผู้นำคนใหม่ต้องพูดอังกฤษได้และรู้เรื่องคอมพ์
วันนี้ (10 เม.ย.) ที่ห้องประชุมวรรณไวยทากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมจัดการเสวนาวิชาการ เรื่อง ประชาธิปไตย หลังยุคทักษิณเว้นวรรค? โดยมีคณาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นวิทยากร ประกอบด้วย นายลิขิต ธีรเวคิน ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย ในฐานะอาจารย์พิเศษคณะรัฐศาสตร์ นายสมบัติ จันทรวงศ์ นายศุภสวัสดิ์ ชัชวาล และน.ส.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล
นายลิขิต กล่าวว่า หลักการของการยกร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เมื่อปี 2540 มีความพยายามทำให้นายกรัฐมนตรีเข้มแข็ง แต่ได้ให้อำนาจการตรวจสอบด้วยจำนวน ส.ส.200 คน และองค์กรอิสระอีก 10 องค์กร แต่ปัญหาคือองค์กรอิสระนี้ต้องมาจากวุฒิสภา แต่วุฒิสภาก็มีปัญหาการใช้เงินซื้อเสียง ทำตัวเหมือนสภาผู้แทนราษฎรอีกสภา รวมทั้งอยู่ภายใต้อาณัติของพรรคการเมือง ดังนั้น เมื่อต้นธารไม่สะอาด น้ำที่จะนำไปชงชาก็ไม่สะอาดเช่นกัน จึงทำให้การปฏิรูปการเมืองต้องเริ่มที่องค์กรวุฒิสภา ไม่ให้กลับไปสู่วงจรเดิม เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้มีปัญหาแค่กระบวนการ แต่ตัวบุคคลก็มีปัญหาด้วย
ว่าที่ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ กล่าวต่อว่า หากจะดูถึงวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยในหมู่ประชาชนและผู้นำจะเห็นตัวอย่างของฟิลิปปินส์ และอินเดียที่ประสบความสำเร็จในการนำระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมาปฏิบัติ โดยตัวแปรที่ทำให้สำเร็จ คือผู้นำทางการเมืองของทั้งสองประเทศมีวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย มีจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตย ยึดมั่นในหลักนิติธรรม เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงกระบวนการต่างๆที่จะต้องดำเนินไปตามครรลองของระบบประชาธิปไตย มีการตีความกฎหมายโดยมุ่งเน้นที่การผดุงไว้ซึ่งเจตนารมณ์ของการปกครองด้วยประชาธิปไตย ซึ่งแตกต่างจากการพยายามหาประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมาย
ดังนั้น ความสำเร็จของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย จึงขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้ปฏิบัติการทางการเมือง ไม่เช่นนั้นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจะกลายเป็นเครื่องมือของผู้ดำรงตำแหน่งบริหาร เพื่อประโยชน์ของตนเองและกลุ่มโดยอ้างความชอบธรรมตามกฎหมาย ขณะเดียวกัน ประชาธิปไตยยังมีปัญหาเรื่อง 2 นัครา โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่มีปัญหาความจน กับความเขลา ที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สุดท้ายจึงตกเป็นเครื่องมือของการซื้อสิทธิขายเสียง
นายลิขิต กล่าวว่า ปัญหาทั้งหมดอยู่ที่ความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติการณ์ทางการเมือง และวันนี้มีปัญหา อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการเลือกตั้งใหม่โดยไม่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง เข้าข่ายผิดกฎหมายมาตรา 157 หรือไม่ รวมทั้งเปิดสภาได้ ส.ส.499 คน ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี และปัญหารัฐบาลพรรคเดียวและมีฝ่ายค้านคนเดียวในสภา และปัญหาที่หนักที่สุดคือ ส.ส.ไม่ครบ 400 เขต จะทำให้ไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญก็รับไว้พิจารณาได้ยาก เพราะหากไม่มีตัวแทนของเขตก็ไม่สามารถอ้างได้ว่าเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งต่างจากในส่วนของผู้สมัครบัญชีรายชื่อ เพราะตามกฎหมายพรรคการเมืองจะส่งครบหรือไม่ครบก็ได้ แต่ประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยในเรื่องวุฒิสภาไม่ครบ 200 คน เปิดประชุมไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ ส.ส.ไม่ครบ 500 คน หากยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และมีคำวินิจฉัยให้เปิดสภาได้เท่ากับเป็นคำวินิจฉัยที่ละเมิดหลักการตัวเอง หรือขัดรัฐธรรมนูญ แต่ก็เพื่อประโยชน์ส่วนรวม
ทางออกสุดท้ายของประเทศ ถ้าไม่ได้จริงๆ อาจต้องหาทางออกที่ผิดหลักการ แต่หลักการนั้นก็ถือเป็นทางออก อาจต้องนึกถึงคำพูดของอเล็กซานเดอร์ที่ว่าต้องหัดทำสิ่งผิดที่น้อยๆ เพื่อรักษาความดีที่ยิ่งใหญ่ เพราะมันไม่มีทางเลือก ยืนยันว่าสิ่งที่พูดนั้นพูดในฐานะนักวิชาการไม่ใช่สมาชิกพรรคไทยรักไทย ผลสุดท้ายแม้ทางออกจะไม่ถูกต้อง แต่ต้องยอมรับในทุกฝ่ายเพื่อรักษาผลประโยชน์ เพราะขณะนี้รัฐบาล ฝ่ายค้าน รัฐธรรมนูญมาถึงทางตัน และผู้ประท้วงทำท่าถึงทางตันที่เลิกไม่ได้ องค์กรที่คอยเป่าแตรเพลงมาร์ชก็ถึงทางตัน วันนั้นศาลรัฐธรรมนูญอาจเป็นทางเลือก หรือที่พึ่ง แม้คำวินิจฉัยของตัวเองจะละเมิดรัฐธรรมนูญ แต่ก็เพื่อให้เปิดสภาให้มันจบๆไป นายลิขิต กล่าว
นายลิขิต กล่าวต่อว่า 5 ปีที่ผ่านมาในสภาผู้แทนฯ ไม่มีอุดมการณ์เสียสละ และไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้จนทำให้หายไปจากสังคม สิ่งที่น่าห่วงคือผู้ปฏิบัติการเลือกตั้งขาด 3 สิ่ง คือ 1.ขาดความรู้ทางการเมือง ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญ 2.ขาดประสาทสัมผัสทางการเมือง คือไม่เข้าใจมารยาททางการเมือง 3.ไม่เข้าใจอารมณ์ทางการเมืองของสังคม คิดตามความเชื่อที่ผิดๆ การปฏิบัติการทางเมืองมีลักษณะเหมือนคนไม่รู้หนังสือ
ที่บอกนักการเมืองไม่มีอุดมการณ์เพราะเอาประโยชน์ไว้ก่อน และโลกที่มีแต่เงินเลยเลิกพูดเรื่องอุดมการณ์และไม่มีการต่อสู้ทางอุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์อีกแล้วซึ่งน่าเป็นห่วง สำหรับตัวคุณทักษิณเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจปัจจุบันมีวิสัยทัศน์ในอนาคตแต่ไม่เชื่อประวัติศาสตร์และอดีต ขณะที่ผู้นำก่อนนี้ไม่อนาคต ดังนั้น ผู้นำคนใหม่ต้องเห็นอนาคตและเชื่อมกับอดีตด้วย รวมทั้งคนที่จะมาเป็นผู้นำไม่รู้เรื่องคอมพิวเตอร์ และพูดภาษาอังกฤษไมได้ก็อย่ามาเป็นผู้นำ
ขณะที่ นายสมบัติ กล่าวว่า ระบบรัฐสภากำลังกลายพันธุ์เป็นระบบกึ่งประธานาธิบดี ที่มีนายกฯวันแมนโชว์รับผิดชอบอยู่คนเดียว รัฐมนตรีเหมือนเลขานุการของนายกฯ ไม่แยแสสภาฯ และส.ส.ของพรรค ซึ่งสิ่งเหล่านี้เริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่พรรคไทยรักไทยเข้ามาเป็นรัฐบาลในปี 2544-2548 เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณคิดว่าตัวเองมาจากการเลือกตั้งโดยตรงในระบบปาร์ตี้ลิสต์ซึ่งเป็นการคิดแบบระบบประธานาธิบดี และสิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนมากหลังปี 2548ที่เป็นรัฐบาลพรรคเดียว จนกลายเป็นว่านโยบายของพรรคไทยรักไทยเป็นนโยบายของรัฐบาลด้วย ล่าสุดยังอ้างว่าตัวเองมาจากคะแนน 16 ล้านเสียง แต่ความจริงประชาชนไม่ได้เลือกนายกรัฐมนตรี แต่เลือกผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ
นายสมบัติ กล่าวถึงการเลือกตั้งต่อว่า ที่ร้ายสุดเกิดความผิดปกติในการเลือกตั้งบางเขตผู้ชนะได้คะแนนน้อยกว่าโนโหวต จึงทำให้ประชาธิปไตยเปลี่ยนไป ส.ส.ที่แพ้โนโหวตยังหน้าด้านอ้างตัวเป็นส.ส. วันที่ 11 เม.ษ.จะมีการประชุมพรรคไทยรักไทยจะมีหน้ายกมือมาพูดว่าเป็นส.ส.ได้อย่างไร ยิ่งเป็นเช่นีนี้ ส.ส.พวกนี้ก็จะกลายเป็น ส.ส.ประเภทสามทันทีเมื่อเทียบบารมีกับหัวหน้าพรรคที่อ้างว่าถูกเลือกจากประชาชนมา 16 ล้านเสียง นอกจากนี้ พ.ต.ท.อ้างกฎหมายแต่ขาดจริยธรรม เคยมีสักครั้งหรือไม่ที่นายกฯจะมาชี้แจงเรื่องจริยธรรม ซึ่งตนกำลังรออยู่ กระทั่งรัฐมนตรีบางคนบอกว่าจริยธรรมเป็นเรื่องนามธรรม แต่จริงๆ เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถคิดได้ จริยธรรมถูกทำให้กลายเป็นเรื่องน่ารำคาญ แถมยังมีหน้ามาบอกอีกว่าเป็นเรื่องของเสียงข้างมาก จนทำให้เกิดความผิดเพี้ยนทางจริยธรรม
คำประกาศเว้นวรรคของคุณทักษิณไม่เคยพูดปัญหาจริยธรรมของตัวเอง ทั้งที่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา มีแต่การพูดเรื่องนโยบาย ความเสียสละ คุณงามความดี และบอกเพียงว่าถ้าได้มีโอกาสชี้แจงจะทำให้ประชาชนเกิดความกระจ่างได้ แต่สมมติฐานที่ผมเห็นของคุณทักษิณคือเป็นคิดว่าสักวันหนึ่งฉันจะพูดให้แกเชื่อให้ได้ ดังนั้นประชาธิปไตยหลังทักษิณเว้นวรรค ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คุณทักษิณยังมีอำนาจต่อไป ปฏิรูปการเมืองจะดีขึ้นได้อย่างไรในเมื่อส.ส.ห้าร้อยมาจากพรรคเดียว ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ในแบบที่ก็รู้ๆกันอยู่ สำหรับการประชุมพรรคไทยรักไทยเพื่อกำหนดกรอบและเฟ้นหาตัวนายกฯ คุณทักษิณก็บอกว่าเขาจะจัดการเองจึงไม่มีทางที่คุณทักษิณจะเว้นวรรคได้ และจะทำในสิ่งที่เขาอยากให้เป็น ซึ่งไม่ต่างกับในอดีตที่นายบรรหาร ศิลปอาชา ที่เคยประกาศว่าจะไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ยังเป็นหัวหน้าพรรคชาติไทยอยู่ และทุกครั้งที่จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคาร แต่วันจันทร์จะต้องมีการประชุมพรรคชาติไทยก่อน เพื่อหัวหน้าพรรคจะได้มอบหมายงานให้รัฐมนตรีในสังกัดพรรค นายสมบัติ กล่าว
น.ส.พิจิตรา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้เกิดการผูกขาดทางการเมือง ซึ่งไปเป็นไปตามโครงสร้างเศรษฐกิจที่เอื้อให้มีการผูกขาดเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ ซึ่งก็เช่นเดียวกับที่รัฐธรรมนูญต้องการให้เสถียรภาพทางการเมืองมีความเข้มแข็งมากกว่าเดิม จึงทำให้การก่อกำเนิดของพรรคไทยรักไทยได้กลายเป็นบริษัทเมือง โดยมีที่มาจากการกว้านเอาพนักงานจากพรรคอื่น เป็นเหมือนการกินรวบทุกพรรคการเมืองโดยมี พ.ต.ท.ทักษิณเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่
อ.รัฐศาสตร์ผู้นี้ กล่าวต่อว่า เมื่อเกิดการผูกขาดแล้วจึงได้เกิดระบบกึ่งเผด็จการขึ้นที่มีการใช้ประชาธิปไตยแบบบิดเบือน อย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมาเราเองไม่มีตัวเลือกสำหรับการเลือกตั้งแต่กลับเป็นไปแค่ว่าจะเอาหรือไม่เอาพรรคไทยรักไทย อย่างไรก็ตาม เมื่อการผูกขาดทางการเมืองเด่นชัดมากขึ้น จึงได้เกิดปรากฎการณ์สนธิหรือการประท้วงขึ้นที่เป็นแบบสองนัคราประชาธิปไตย ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณพยายามที่จะแก้ตรงนี้ด้วยการให้ประโยชน์แก่ทุกชนชั้น แต่ท้ายสุดเกิดการปะทะกันทางความคิดระหว่างคนเมืองกับคนชนบท และสิ่งที่เกิดขึ้นเราไปโทษระบอบทักษิณไม่ได้ เพราะปัญหามันมีมานานแล้วแต่ยังไม่ปรากฏออกมาเท่านั้น เนื่องจากกลุ่มชนชั้นรากหญ้าไม่เคยได้รับการหยิบยื่นจากการเมืองมาก่อนพอเมื่อมีระบอบทักษิณเข้ามาจึงทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกว่าได้รับความสำคัญ
การเลือกตั้งที่เป็นแบบ Monopoly (ผูกขาด) ถึงแม้จะมีผู้สมัครจากพรรคเล็ก แต่ระยะเวลาการเลือกตั้งและเงินทุนพรรคไทยรักไทยผู้กำหนดทั้งหมดกฎเกณฑ์ทำให้การแข่งขันในตลาดการเมืองไม่สมบูรณ์ ทำให้เป็นเพียงการฟอกตัวของผู้นำ โดยประชาชนทั้งหมดไม่เป็นผู้เกี่ยวข้องกลับจะต้องเสียภาษีถึง 2,000 ล้านบาทในการไปเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่มันเป็นปัญหาที่ตัวผู้นำไม่ใช่ปัญหาของประชาชนแต่ต้องออกไปเลือกตั้ง น.ส.พิจิตรา กล่าว
สำหรับสิ่งที่ประชาชนได้เรียนรู้จากวิกฤติการเมืองที่ผ่านมา น.ส.พิจิตรา ระบุว่า สังคมไทยได้รู้ความจริงว่าพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่แห่งอำนาจ นอกจากจะพื้นที่ที่ผ่านสื่อแล้วยังเป็นพื้นที่ให้ความจริงกับสังคม และจากเดิมพื้นที่สื่อจะถูกชนชั้นกลางครอบครองแต่ตอนนี้ข้อมูลได้ถูกหลอมรวมเป็น capital ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมทั้งจะได้เรียนรู้ประชาธิปไตยหลังระบอบทักษิณที่จะต้องเผชิญและต่อสู้กับระบบประชานิยมไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล เพราะตอนนี้ประชาชนในระดับรากหญ้ารู้แล้วว่าเสียงโหวตของตัวเองคือนโยบายที่ได้รับ
นอกจากนี้ ความหมายประชาธิปไตยที่จะถูกท้าทายด้วยระบบอุปถัมภ์ และจะเกิดวัฒนธรรมแบบหยวนๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดความสงบแต่ก็มีความรุนแรงอยู่ในนั้น ทั้งนี้จะต้องคิดด้วยว่าประชาชนจะเข้าไปตรวจการลงทุนข้ามชาติที่เป็นระบบตลาดที่จะเข้ามาซื้อบริการสาธารณะกับไทย เช่น ภาคเอกชนต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการบริการสาธารณะที่ประชาชนจะได้รับบริการได้มากน้อยเพียงใด น.ส.พิจิตรา กล่าว
นายศุภสวัสดิ์ ชัชวาล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คำนิยามของคำว่าประชาธิปไตยของชนชั้นกลางไม่ใช่แบบเก่าที่คิดแค่เพียงการไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง แต่ตอนนี้มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นโดยมีเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ปกครองเข้าไปด้วย ซึ่งเป็นการบอกว่าประชาธิปไตยหมายถึงการเมืองที่ดีด้วย โดยเฉพาะเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นที่ตอนนี้คนไม่สามารถรับได้เหมือนกับสมัยของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่คิดว่าเศรษฐกิจเลยไม่สนใจการทุจริต เพราะฉะนั้น ในสายตาของชนชั้นกลางการเมืองคือการเมืองที่มีธรรมาภิบาลด้วย
ส่วนการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายศุภสวัสดิ์ กล่าวว่า ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีเพราะบทบาททหาร ลองถ้าเป็นเมื่อ 20 ปีที่แล้วทหารคงไม่ปล่อยให้มีการชุมนุมยืดเยื้อขนาดนี้แต่กลับอยู่ในกรอยไม่ใช้อำนาจแบบเลอะเทอะ และรัฐเองก็จำกัดการใช้อำนาจอยู่ในขอบเขต ส่วนผู้ชุมนุมเองก็มีอารยะมากที่ปัจจุบันยังไม่มีประเทศไหนในโลกทำได้แบบเราเพราะขนาดประเทศฝรั่งเศสที่มีประชาธิปไตยก่อนเรากลับมีความรุนแรงมาก และการชุมนุมครั้งนี้นอกจากจะเห็นบรรดาทุนรายใหญ่ที่สนับสนุนแล้วยังประชาชนรายย่อยบริจาคเงินให้พันธมิตรฯที่คิดว่าน่าจะประมาณ 10 ล้าน หรือใครที่ไม่ช่วยเป็นเงินก็ช่วยเป็นอย่างอื่นแทน โดยทั้งหมดจะเป็นทุนของการพัฒนาประชาธิปไตยในอนาคต
ถ้าสังเกตจะเห็นว่าไม่ได้เกิดเฉพาะในกทม.แต่เกิดตามหัวเมืองในต่างจังหวัดด้วย เช่นเดียวกับเหมือนคะแนนโนโหวตที่มีมากในจังหวัดที่เป็นฐานเสียงของพรรคไทยรักไทยและไม่ใช่เฉพาะใน กทม ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าฐานคนชนชั้นกลางกำลังจะถูกขายกว้างขึ้นที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในเมือง นายศุภสวัสดิ์ กล่าว
นายศุภสวัสดิ์ กล่าวถึงการปฎิรูปการเมืองว่า โจทย์ที่ท้าทายในอนาคตคือการปฏิรูปการเมืองจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ปัญหาจะทำโดยใครและใครจะเป็นคนปฏิรูป และ พ.ต.ท.ทักษิณเว้นวรรคจริงหรือไม่หรือเพียงแค่แสดงให้รู้ว่าตัวเองหลุดจากวงจรอำนาจ และพรรคไทยรักไทยเองก็มีเสียงเต็มสภาประกอบกับฝ่ายค้านก็ไม่มี แล้วจะมาปฏิรูปการเมืองยังไง เพราะการปฏิรูปนั้นจำเป็นอย่างที่ต้องให้เกิดความเป็นกลางและปลอดการเมือง
การเว้นวรรค คือการอยู่ในอำนาจได้อย่างแนบเนียน และก็อยู่ข้างหลัง ทำให้เราไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร ผมว่าพันธมิตรอาจจะแพ้ด้วยซ้ำแต่นายกฯอาจจะชนะ อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าท้าทายก็คือหลังจากการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ไม่มีระบอบรัฐสภาแท้ๆ ที่นายกฯ สวมหมวก 2 ใบ คือเป็นนายกฯ และ ส.ส. ที่ยังดูแลประชาชนในพื้นที่ที่เลือกมาทำงาน แต่ตอนนี้นายกฯมีสถานะเดียวคือฝ่ายบริหารไม่ได้ทำหน้าที่ในสภา ทำให้เราเคลื่อนไปสู่ระบอบประธานาธิบดีเข้าไปเรื่อยๆ ดังนั้น หลังมีรัฐบาลและมีกรรมการปฏิรูปการเมืองจะต้องตอบคำถามว่า 9 ปี ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ระบอบการปกครองแบบกึ่งสภากึ่งประธานาธิบดีแบบนี้เหมาะสมกับสังคมไทยหรือเปล่า ซึ่งผมว่าไม่เหมาะเมื่อมันไม่เหมาะแล้วเราจึงต้องขบคิดว่าระบอบการปกครองควรเป็นอย่างไรให้เหมาะสมกับคนไทยหรือการเมืองไทย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าว
นักวิชาการผู้นี้ กล่าวสรุปว่า การปรับใช้รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเสียหาย ตราบใดที่คนยังเคารพกติกา เพราะรัฐธรรมนูญที่ดีจะต้องเหมาะสมกับสภาวะทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนทุกๆ 6-7 ปีหลังจากการมีการใช้ไปแล้ว