ส่วนด้านการดูแลความปลอดภัยและภาพรวมต่างๆ มอบหมายให้ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. กำกับดูแลในเรื่องนี้ เนื่องจากการลงประชามติดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นพื้นที่ที่ต้องดูแลรับผิดชอบก็คือทั่วประเทศ ทั้งหมด 94,000 หน่วย และใช้กำลังพลกว่า 2 แสนนาย เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยการลงประชามติในครั้งนี้ ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ ขณะนี้ก็จะมีเฉพาะที่ดำเนินคดีไปแล้ว ในส่วนภาพรวมทั้งหมดยังอยู่ในความเรียบร้อย ไม่มีสิ่งบอกเหตุหรืออะไรเกิดขึ้น เพราะหลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ไปแล้ว นอกจากนี้ในส่วนการข่าวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังไม่พบความเคลื่อนไหวแต่อย่างใด
"ในส่วนของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเป็นพื้นที่ล่อแหลม เป็นพื้นที่พิเศษที่ออกไปตรวจตราค่อนข้างลำบาก เชื่อว่าคงจะทราบกันอยู่แล้วว่า ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส แต่ก็ได้เน้นย้ำให้ผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ติดตามเฝ้าระวังการก่อเหตุอย่างใกล้ชิด โดยอาจจะมีบางคนที่ลงมือกระทำพ่นสีสเปรย์ป้ายรัฐธรรมนูญ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่นั้นติดตามเฝ้าระวังอยู่ ส่วนเบาะแสเพิ่มเติมนั้นเราพอรู้กลุ่มแล้ว โดยมีหลายกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ทั้งกลุ่มการเมือง กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเดิม รวมถึงผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ยังไม่สามารถจับกุมตัวได้ " พล.ต.อ.จักรทิพย์ กล่าว
เมื่อถามว่ากรณีที่ 4 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น และ เมียนมาร์ ออกประกาศการแจ้งเตือนประชาชนของตัวเองให้มีการระมัดระวังในช่วงวันลงประชามติ เป็นเรื่องที่ผิดปกติหรือไม่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ บอกว่า ก็เป็นปกติของการลงประชามติหรือการเลือกตั้งที่ประเทศของตัวเอง จะมีการทำหนังสือแจ้งเตือนประชาชนของตัวเองให้ระมัดระวัง ถือว่าเป็นเรื่องปกติไม่มีนัยยะสำคัญอย่างอื่น เชื่อว่าในการเลือกตั้งที่ต่างประเทศ สถานทูตไทยเองก็ต้องเตือนคนไทยเหมือนกัน อย่างไรก็ตามยืนยันหน่วยงานความมั่นคงของไทยมีมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยอย่างเป็นระบบ กับทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
ผบ.ตร. กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีมาตรการห้ามจำหน่ายสุรา หรือเครื่องดืมแอลกอฮอล์ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม คือหลังเที่ยงคืนวันนี้(5 ส.ค.) จนถึงเสร็จสิ้นการลงประชามติ เชื่อว่าประชาชนทราบกฎหมายดีอยู่แล้ว แต่ก็ได้สั่งการให้มีการประชาสัมพันธ์ข้อพึงปฏิบัติให้ประชาชนทั่วประเทศรับทราบแล้ว เพราะประเทศไทยมีการเลือกตั้งมาก็บ่อยครั้ง ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ก็มีขอความร่วมมือและประชาสัมพันธ์ตลอด โดยเมื่อวานนี้ (4 ส.ค.) พล.ต.อ.พงศพัศ ได้มีการแจ้งวิทยุเตือนทุกกองบัญชาการในเรื่องข้อห้ามเกี่ยวกับการลงประชามติ รวมทั้งในตัวผู้บังคับบัญชาระดับสูงให้อยู่ในพื้นที่ตลอดห้ามไปไหน เพื่อที่จะได้แก้ไขปัญหาเมื่อเกิดเหตุต่างๆ
พล.ต.อ.จักรทิพย์ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) ที่ออกมาถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊ก ชักชวนให้คนออกมาเป่านกหวีดเพื่อประชาชนออกมาลงประชามติ จะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ หรือไม่นั้น ต้องดูเจตนาของนายสุเทพ ถ้าเข้าข่ายก็ดำเนินคดีอยู่แล้ว อะไรที่สุ่มเสี่ยงเกี่ยวกับการลงประชามติอย่าไปทำ โดยตนได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ ดูแลในเรื่องนี้แล้ว และทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการลงประชามติได้สั่งการไปหมดแล้ว