โพลเลือก ปุระชัย นั่งนายกฯ หากเปิดกว้างไม่สังกัด ทรท.

โพลเลือก ปุระชัย นั่งนายกฯ หากเปิดกว้างไม่สังกัด ทรท.

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง "ความคิดเห็นของสาธารณชนต่อสภา 500 ของไทยรักไทยและนายกรัฐมนตรีคนใหม่ถ้าใช้มาตรา 7" โดยวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,468 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 6-8 เมษายน 2549 ผลการสำรวจความคิดเห็นต่อการติดตามข่าวสถานการณ์การเมืองในรอบ 30 วันที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 66.5 ได้ติดตามข่าวทุกวัน / เกือบทุกวัน ร้อยละ 18.6 ติดตาม 3-4 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 9.8 ติดตาม 1-2 วันต่อสัปดาห์ ในขณะที่ร้อยละ 5.1 ไม่ได้ติดตามเลย

เมื่อสอบถามตัวอย่างถึงความคิดเห็นต่อการแทรกแซงคุกคามสื่อในสถานการณ์การเมือง พบว่า กรณีคาราวานคนจนชุมนุมประท้วงที่อาคารเนชั่น หรือหนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก ร้อยละ 43.4 ระบุคุกคาม/แทรกแซง กรณีกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างชุมนุมหน้าหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ร้อยละ 39.5 ระบุถูกคุกคาม/แทรกแซง กรณีระงับรายการชีพจรโลกของ นายสุทธิชัย หยุ่น ที่เปิดโปงบริษัท เทมาเสก พบว่าร้อยละ 35.6 ระบุถูกคุกคาม/แทรกแซง กรณียุบรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ร้อยละ 35.2 ระบุคุกคาม/แทรกแซง กรณีย้ายบรรณาธิการช่าวเช้า (นายเฉลิมชัย ยอดมาลัย) ร้อยละ 30.4 ระบุคุกคาม/แทรกแซง และกรณีปลดพิธีกรข่าวเช้าวันใหม่ (นายบุญยอด สุขถิ่นไทย) ร้อยละ 32.6 ระบุคุกคาม/แทรกแซง

สำหรับความคิดเห็นต่อการทบทวนบทบาทการทำงานของสื่อมวลชน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 66.3 ของตัวอย่างทั้งหมด ระบุว่าควรทบทวนบทบาทการทำงาน โดยได้ระบุสิ่งที่สื่อมวลชนควรทบทวนบทบาท คือ ความเป็นกลางในการนำเสนอข่าว ความเป็นอิสระในการนำเสนอข่าว การนำเสนอข่าวเกินความเป็นจริง การนำเสนอข่าวที่เป็นภาพลบต่อประเทศชาติ และการนำเสนอข่าวที่มีเนื้อหารุนแรง นอกจากนี้ ร้อยละ 10.0 ไม่ควรทบทวน และร้อยละ 23.7 ไม่มีความคิดเห็น ผลสำรวจยังพบอีกว่า ประชาชนเกือบครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 48.7 ยอมรับไม่ได้ต่อสภา 500 ที่นั่ง หรือเกือบ 500 ที่นั่งของพรรคไทยรักไทย ร้อยละ 42.6 ยอมรับได้ และร้อยละ 8.7 ไม่มีความเห็น

ด้านความคิดเห็นต่อเผด็จการรัฐสภา หลังจากพรรคไทยรักไทยได้ที่นั่งในสภา 500 ที่นั่ง หรือเกือบ 500 ที่นั่งนั้น พบว่า ประชาชนจำนวนมาก หรือร้อยละ 46.9 คิดว่าจะเป็นเผด็จการรัฐสภา ร้อยละ 35.5 ไม่คิดว่าจะเป็นเผด็จการรัฐสภา และร้อยละ 17.6 ไม่มีความคิดเห็น และเมื่อสอบถามตัวอย่างต่อไปถึงความต้องการอยากให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยมีพรรคร่วมฝ่ายค้านลงแข่งขันด้วย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 60.3 ของตัวอย่างทั้งหมด อยากให้มีการเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 25.4 ไม่อยากให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในขณะที่ร้อยละ 14.3 ไม่ระบุความคิดเห็น ประชาชนจำนวนมาก หรือร้อยละ 47.3 ยังไม่มั่นใจต่อการที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะมีความเป็นอิสระไม่ถูกแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์ของพรรคไทยรักไทย ในขณะที่ร้อยละ 20.2 มั่นใจ และร้อยละ 32.5 ไม่มีความเห็น

ส่วนคะแนนความนิยมของพรรคไทยรักไทย ถ้ามีปัญหาขัดแย้งกันภายในพรรคเรื่องการแย่งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นั้นพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 58.8 ของตัวอย่างทั้งหมด ระบุว่าจะเสียความนิยมไป ในขณะที่ร้อยละ 41.2 ระบุว่าไม่เสียความนิยม และเมื่อสอบถามถึงความมั่นใจต่อพรรคไทยรักไทยจะมีความสามัคคีปรองดองภายในพรรค ในอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนจำนวนมาก หรือร้อยละ 39.9 ไม่มั่นใจ ร้อยละ 28.9 มั่นใจ และร้อยละ 31.2 ไม่มีความเห็น

ประเด็นสุดท้ายที่ค้นพบคือ บุคคลที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถ้ามีการเปิดกว้างไม่จำเป็นต้องมาจากพรรคไทยรักไทย 5 อันดับแรก คือ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ (ร้อยละ 34.5) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (ร้อยละ 28.6) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ร้อยละ 24.3) นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย (ร้อยละ 12.1) และนายโภคิน พลกุล (ร้อยละ 10.2) ตามลำดับ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์