ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีทั้งสิ้น 66 มาตรา และยังได้กำหนดโทษความผิดต่อผู้ละเมิดชนิดที่เรียกได้ว่า "ยาแรง" เป็นสองเท่า พร้อมสร้างความหวาดหวั่นให้กับผู้คิดเห็นต่างจากร่างรัฐธรรมนูญต้องชะงัก จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพทางความคิดของประชาชน
แม้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 22 เม.ย. ซึ่งแน่นอนผู้ที่กระทำเข้าข่าย พ.ร.บ.ประชามติฯ ก่อนหน้านี้ถือว่าไม่มีผลบังคับใช้ หรือไม่มีความผิด
หากเท้าความให้เห็นภาพกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้เป็นอย่างไร เริ่มด้วย "สมชัย ศรีสุทธิยากร" กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เข้าแจ้งความต่อ สน.ทุ่งสองห้อง เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา กรณีมีการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กโดยกลุ่มกองทุนหนึ่งซึ่งมีที่ตั้งอยู่ใน จ.ขอนแก่น
โดยข้อความมีเนื้อหาในลักษณะก้าวร้าว หยาบคาย และนำไปสู่เจตนาในการชักจูงประชาชนไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งเกี่ยวกับการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรืออาจถูกห้ามเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี
คล้อยหลังค่ำวันเดียวกันกับสมชัยเข้าแจ้งความ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุม "จีรพันธุ์ ตันมณี" ประธานกองทุนรัฐวัฒน์ตันมณีเพื่อสิทธิคนออทิสติก มือโพสต์ข้อความดังกล่าวผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยยอมรับสารภาพกระทำไปเพราะไม่รู้กฎหมาย และคิดว่ายังไม่มีผลบังคับใช้ก่อนถึงวันลงประชามติ จึงนับเป็นรายแรกจากการถูกดำเนินคดีตามกฎหมายประชามติ
ส่วนพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทำประชามติ "ดุษฎี พรสุขสวัสดิ์" รองเลขาธิการด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย สำนักงาน กกต. ระบุว่า ขณะนี้มีการแจ้งเบาะแสเข้ามาทั้งผ่านแอพพลิเคชั่นตาสับปะรดและแจ้งมายัง กกต.ตรง รวมแล้วประมาณ 80 เรื่อง ไม่รวมกับที่ประชาชนไปแจ้งความโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ โดยส่วนใหญ่เข้าข่ายตามมาตรา 61 วรรคสอง
ทั้งนี้ ความผิดที่เกิดขึ้นพบทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อย่างไรก็ตาม กกต.ได้มีการส่งดำเนินคดีไปแล้ว 3 เรื่อง แต่ไม่สามารถเปิดเผยในรายละเอียดได้ เพราะอาจจะกระทบต่อการพิจารณา สำหรับความผิดยังมีการแจ้งเข้ามาเรื่อยๆ ถ้าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัดและแจ้งเข้ามายัง กกต.กลาง กกต.กลางมีเพียงหน้าที่รวบรวมข้อมูลและส่งเรื่องกลับไปยัง กกต.จังหวัดที่เป็นพื้นที่เกิดเหตุ
อย่างไรก็ตาม ที่เป็นประเด็นใหญ่ให้จับตาหลังกรณีพบเอกสารสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญปลอม และพบมีบุคคลเดินสายบิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญใน จ.เชียงใหม่ โดย "มีชัย ฤชุพันธุ์" ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยืนยันเคยได้รับเอกสารดังกล่าว
นอกจากนี้ พบว่าเนื้อหาของเอกสารมีเจตนาบิดเบือนเนื้อหาสาระ หรือจัดทำเพื่อแสดงความเห็นต่าง และเอกสารถูกจัดพิมพ์จำนวนมาก ดังนั้น เชื่อว่ามีกลุ่มนายทุนอยู่เบื้องหลังในการจัดทำ
ขณะที่ สมชัย ระบุว่า การเผยแพร่เอกสารความเห็นแย้งสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ เล่มที่ 2 เห็นว่าเป็นเพียงเอกสารความเห็นแย้งที่นักศึกษากลุ่มหนึ่งทำขึ้นมา ไม่ถือว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญปลอม หากใช้คำนี้อาจทำให้เข้าใจผิดเพราะไม่ได้มีรัฐธรรมนูญปลอมแต่อย่างใด
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบของสำนักงาน กกต. เพราะอยู่ระหว่างการตรวจสอบของฝ่ายสืบสวน แต่เท่าที่ตรวจสอบเบื้องต้นไม่มีคำหยาบคายหรือปลุกระดม ส่วนจะมีข้อความใดที่เป็นเท็จหรือไม่ ต้องให้ทาง กรธ.พิจารณาชี้ประเด็นว่าหน้าไหนบรรทัดใดเป็นเท็จ
"หาก กรธ.ทำหนังสือมายัง กกต.ก็จะดำเนินการต่อไปได้ ผมอ่านแล้วก็มีความวิตกเหมือนกันเพราะเห็นว่ามีบางข้อความที่อาจเข้าข่ายหมิ่นประมาทบุคคลหรือหน่วยงานของรัฐบางหน่วย ก็เป็นเรื่องของบุคคลหรือหน่วยงานนั้น หากเห็นว่าหมิ่นประมาทก็ไปแจ้งความดำเนินคดีเอง"