แก้รถติดกทม เลนสำหรับมอไซต์มาแว้วว!!

แก้รถติดกทม เลนสำหรับมอไซต์มาแว้วว!!

ฉากแห่งความวุ่นวายบนท้องถนนเมืองกรุง ฯ ไล่ตั้งแต่ รถติดขัด ขับรถกินเลน แท็กซี่ปาดหน้า จักรยานยนต์แทรกกลาง ไฟแดง 120 วิ(นาที) ไฟเขียว 20 วิ ตลอดจนกระทั่งอุบัติเหตุ กลายเป็นเรื่องบั่นทอนคุณภาพชีวิตคนเมืองเรื่อยมา

การแก้ปัญหาล่าสุดวันนี้ ไม่ได้ใช้คาถาหรือเวทมนต์ หากเป็นการตีเส้นขยายความกว้างของช่องทางซ้ายสุด พร้อมกับลดขนาดช่องทางอื่นๆ ลง เพื่อให้จักรยานยนต์สามารถวิ่งได้สะดวกมากขึ้น พร้อมกับลดความขัดแย้งเรื่องข้อกฎหมาย และบรรเทาปัญหาจราจร


ขยายเลนซ้าย ลดขนาดเลนขวา

แก้รถติดกทม เลนสำหรับมอไซต์มาแว้วว!!

อดีตที่ผ่านมาทุกช่องทางบนท้องถนนจะมีขนาดเท่ากัน แต่อนาคตกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเลนซ้ายสุดจะมีพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ตอบรับกับข้อกฎหมายและความเป็นจริงบนท้องถนน

"ข้อกฎหมาย พรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ที่กำหนดให้จักรยานยนต์วิ่งชิดซ้ายนั้นกลายเป็นปัญหาให้กับผู้ขับขี่ เนื่องจากต้องวิ่งร่วมกับรถสาธารณะประจำทาง เวลารถพวกนี้จอดเข้าป้ายทีไร ปัญหาก็เกิดขึ้น ทางออกของเรื่องนี้จะไปลดช่องทางรถยนต์ก็คงลำบาก จึงต้องใช้วิธีขยายความกว้างของช่องเดินรถด้านซ้ายให้กว้างขึ้น เพื่อให้จักรยานยนต์สามารถวิ่งได้สะดวก แซงรถเมล์ได้ โดยที่ตัวรถยังอยู่ในเลนซ้าย" สมชาย เดชากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (สจส.) เล่าจุดเริ่มต้นของโครงการให้ฟัง

เขาอธิบายต่อว่า โดยทั่วไปช่องทางจะมีขนาดความกว้าง 2.8 เมตร - 3.5 เมตร ขึ้นอยู่กับกายภาพของถนนแต่ละพื้นที่ ขณะที่นโยบายใหม่จะขยายช่องทางซ้ายสุดให้กว้างขึ้นเป็น 4.50 เมตร ผลที่ได้รับจากแนวทางนี้ นอกจากความปลอดภัย ยังส่งผลให้การจราจรมีความคล่องตัวขึ้น เนื่องจากเลนด้านขวาถูกบีบให้แคบลงจนรถจักรยานยนต์วิ่งซิกแซกได้ลำบาก

"ปกติเมื่อถูกจักรยานยนต์แทรก รถยนต์ก็ต้องเบรก เเละหยุดต่อๆ กันไปเป็นลูกโซ่ ชะงักไปคันละ 5 วินาที 10 คันก็เท่ากับ 50 วินาที ถ้า 100 คันก็เท่ากับ 500 วินาที เวลาเล็กน้อยที่แต่ละคนหยุด ถูกสะสมจนเป็นหนึ่งในสาเหตุทำให้การจราจรติดขัด"

ผู้อำนวยการสำนักงานวิศวกรรมจราจร ฯ บอกว่า ภาพรวมท้องถนนในกทม. คาดว่าสามารถปรับปรุงเส้นทางในลักษณะดังกล่าวได้กว่า 80 เปอร์เซนต์ ยืนยันว่าการพัฒนาครั้งนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยและข้อกฎหมาย

หลายคนไม่ทราบว่า การขยายความกว้างของช่องทางเดินรถด้านซ้ายนั้น ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ใน 14 เส้นทาง ระยะทางรวม 99.48 กิโลเมตร


แก้รถติดกทม เลนสำหรับมอไซต์มาแว้วว!!

ขณะที่ปี 2559 เพิ่มอีก 12 เส้นทาง เเละคาดว่าภายใน ก.ค. จะเสร็จสิ้นทั้งหมด 


ตำรวจเห็นด้วย หวังแก้รถติด - อุบัติเหตุ

แก้รถติดกทม เลนสำหรับมอไซต์มาแว้วว!!

ตัวเลขล่าสุดจากกรมการขนส่งทางบก (จนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2559) ระบุว่า ประเทศไทย มีจักรยานยนต์ส่วนบุคคลจดทะเบียนสะสมทั่วประเทศทั้งสิ้น 20,299,506 คัน จักรยานยนต์สาธารณะอีก 186,020 คัน โดยหากนับเฉพาะกรุงเทพมหานคร พบว่ามีรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล 3,326,389 คัน และ จักรยานยนต์สาธารณะอีก 89,181 คัน พูดง่ายๆ ว่า กทม. มี จักรยานยนต์หรือมอเตอร์ไซค์วิ่งอยู่ในถนนรวมประมาณ 3.4 ล้านคัน

พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น.ได้รับมอบหมายให้ดูแลงานจราจรกรุงเทพมหานคร ระบุว่า การปรับเพิ่มขนาดช่องทางเดินรถทางด้านซ้าย ถือเป็นนโยบายที่ดี และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เห็นด้วย คาดว่าจะทำให้การจราจรมีระเบียบ คล่องตัว ลดอุบัติเหตุ และทำให้ผู้ใช้จักรยานยนต์มีพื้นที่วิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ท้องถนนในเมืองกรุง ปัจจุบันมีรถทุกประเภทวิ่งรวมกันกว่า 10 ล้านคัน โดยในปี 2558 สำนักงานตำรวจเเห่งชาติ ระบุสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนจราจรทางบก สูงถึง 82,019 คดี โดยจักรยานยนต์นำมาเป็นลำดับ 1 เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 21,215 คดี ไม่แน่ว่า โครงการ ชิดซ้ายปลอดภัยของทาง สจส. อาจลดตัวเลขดังกล่าวลงไปได้บ้าง


นโยบายดี แต่ไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน

โดม เผือกขจี เจ้าของเฟซบุ๊กเพจ "ขอเถอะครับ" ซึ่งนำเสนอปัญหาของชาวสองล้อมาอย่างต่อเนื่อง แสดงความเห็นว่า หากมองที่เจตนา นโยบายเพิ่มความกว้างช่องทางเดินรถด้านซ้ายนั้นถือว่าดีมาก

"ส่วนตัวขอบคุณนโยบายนี้มาก ที่น่าจะทำให้เราทะเลาะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจน้อยลง มองในแง่ดี เป็นไปได้ว่า ภาครัฐเริ่มขยับขยาย ให้พื้นที่จักรยานยนต์มากขึ้นเรื่อยๆ คงมองเห็นแล้วว่า จักรยานยนต์มีศักยภาพพอที่จะทำความเร็วแซงรถบางประเภทได้เเล้ว ซึ่งอนาคตอาจจะอนุญาตให้พวกเราวิ่งอย่างถูกต้องในเลนอื่นๆ ได้อย่างถูกกฎหมายต่อไป แต่ปัญหาของโครงการนี้คือการสื่อสารในวงกว้าง ผู้ใช้รถใช้ถนนน้อยมากที่ทราบเรื่องนี้"

อย่างไรก็ตามถึงแม้เขาจะเห็นด้วยกับนโยบายนี้ เเต่กลับมองว่ายังไม่ใช่การแก้ไขปัญหาจราจรในระยะยาว เพราะทิศทางที่ถูกต้องคือ แก้ไข พรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ให้ชัดเจนว่าจักรยานยนต์สามารถเดินรถได้ในช่องทางที่ 1 2 หรือ 3 ได้ในบางกรณี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังคงต้องอยู่บนพื้นฐาน "รถช้า ชิดซ้าย"

นอกจากนี้ไบค์เกอร์หนุ่มยังเสนอทางออกที่เห็นว่ายั่งยืนในการแก้ไขปัญหาจราจรและการละเมิดกฎหมายอีกด้วย โดยระบุว่าถึงเวลาใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ดุลพินิจของตำรวจ


"ถนนที่มีปัญหา เกิดการกระทำความผิดบ่อย ไม่จำเป็นต้องเอาเจ้าหน้าที่มายืนดักจับใดๆ ทั้งสิ้น เพียงติดตั้งกล้องวงจรปิด และเครื่องตรวจวัดความเร็วในพื้นที่นั้นๆ หากมีการกระทำความผิด จับภาพและส่งบิลไปที่บ้าน ค่าปรับเข้าหลวงหมด เชื่อผม ทุกอย่างจะดีขึ้น เพราะทุกวันนี้คนไม่กลัวตำรวจ แต่กลัวความผิดและกลัวเสียเงิน ส่วนโทษปรับต้องไม่มีขั้นต่ำ ระบุให้ชัดเจน ไม่ปล่อยให้เป็นไปตามดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ แบบนี้คนทำผิดจะน้อยลง เพราะปัจจุบัน พฤติกรรมคนใช้ถนนเป็นลักษณะลิงหลอกเจ้า มีตำรวจเฝ้า ก็ไม่ทำผิด พอตำรวจไป ก็ทำเหมือนเดิม บางคนให้ส่วยตำรวจจนได้ใจและคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ถ้าเป็นกล้องมันคุยไม่ได้ ไม่มีดุลพินิจ และตรงไปตรงมากว่า" โดมทิ้งท้าย

ปัญหาจราจรนับเป็นปัญหาคลาสสิค ที่ต้องหาหนทางเเก้ไขอยู่ตลอด จนกว่าจะได้รับการยอมรับจากสังคมส่วนใหญ่


ที่มา : Posttoday.com


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์