เกมชิงเก้าอี้นายกฯเป็นวิกฤตของวิกฤติ
แม้จะเป็นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีชั่วคราว อยู่ได้ไม่ถึง 1 ปี เพราะหมดภารกิจการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วต้องรีบยุบสภาเลือกตั้งใหม่ แต่กระนั้นก็เป็นประเด็นที่คนในพรรคไทยรักไทยได้หยิบยกขึ้นมาถกเถียงว่า ผู้ใดเหมาะสมที่สุด ถึงขนาดว่าที่ ส.ส.บางคนเสนอให้มีการประชุมเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีก่อนการเปิดประชุมสภา จะได้สะเด็ดน้ำกันเสียตั้งแต่เนิ่น ๆ
ความเคลื่อนไหวอย่างอึกทึกครึกโครมของกลุ่มต่าง ๆ ในพรรคไทยรักไทยเกี่ยวกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นสิ่งบอกเหตุในหลายประการ ตั้งแต่การดำรงอยู่ของพรรคไทยรักไทย ไปจนถึงการกลับคืนสู่อำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย การปฏิรูปการเมืองรอบที่ 2 และความสันติสุขของสังคมไทย
ใครบ้างที่มีความเหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปและมีเงื่อนไขประการใดบ้างมาเกี่ยวข้องเป็นคำถามในใจของคนหลายคนที่รอคอยคำตอบ แต่ก่อนอื่นทางกรุงเทพโพลได้สำรวจความเห็นของคนกรุงเทพฯ ถึงผู้เหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ปรากฏว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้รับความนิยม 37.3 เปอร์เซ็นต์ รองลงไปเป็น นายโภคิน พลกุล 10.3 เปอร์เซ็นต์ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย 8.8 เปอร์เซ็นต์ และ คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 8.6 เปอร์เซ็นต์
ในจำนวนผู้เหมาะสมเหล่านี้ พอถึงเวลาจริงอาจจะไม่เหมาะสมเลยก็ได้ เพราะเงื่อนไขของสถานการณ์ทางการเมืองยังเปราะบางและมีความสลับซับซ้อน พอสมควร เพราะขณะนี้สังคมไทยกำลังเผชิญปัญหาใหญ่ ๆ 3 ด้าน อันประกอบด้วย
1. ปัญหาทางการเมือง หากจะสังเกตให้ดีตั้งแต่การเปลี่ยนแปลง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา การเมืองไทยยังไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคประชาธิป ไตยเต็มใบ และจะมีการแตกหักทุก ๆ 15-20 ปี เช่น หลังจาก พ.ศ. 2475 ประชาธิปไตยที่กำลังตั้งไข่ได้ถูกทหารปฏิวัติยึดอำนาจเมื่อ พ.ศ. 2490 จากนั้นก็ปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการทหารมาตลอด จนกระทั่ง พ.ศ. 2516 ประชาชนลุกฮือขับไล่ทหารก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ขวาพิฆาตซ้ายในอีก 3 ปีต่อมา ก่อนจะมาตกผลึกในปี 2522 ที่เกิดยุค ประชาธิปไตยครึ่งใบ ต่อเนื่องมาจนถึง พ.ศ. 2535 เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬจัดระเบียบทหารเข้ากรมกอง
หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ใคร ๆ ก็คิดว่า ระบอบประชาธิปไตยของไทยจะลงหลักปักฐานมั่นคง ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง แต่หลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 สิ่งแวดล้อมทางการเมืองค่อย ๆ เปลี่ยนไป จนเอื้อต่อการเข้ายึดอำนาจของ กลุ่มธุรกิจการเมือง ซึ่งมองการเมืองเป็นธุรกิจการค้าที่มีผลตอบแทนสูง
เมื่อหลุดพ้นจากยุค เผด็จการทหาร มาแล้ว นึกว่าคนไทยจะได้เสรีภาพ แต่ก็กลับต้องมาเป็นทาสของ ระบบเผด็จการธุรกิจการเมือง โดยใช้เงินไปซื้อเสียงข้างมากในชนบท เพื่อให้มีสัดส่วนเกินครึ่งเพื่อได้รับความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล จากนั้นก็ยึดครององค์กรอิสระเพื่อไม่ให้มีการตรวจสอบ แล้วก็ค้ากำไรกับประเทศชาติ สร้างความร่ำรวยให้วงศ์ตระกูล
ธุรกิจการเมืองให้ผลตอบแทนสูง เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจมาก ตรวจสอบได้ยาก ฉะนั้นคนที่คิดจะหากินกับประเทศชาติจึงกล้าเสี่ยงที่จะลงทุน เพราะความมั่นคงสูงได้ทำให้ข้าราชการยอมศิโรราบ ไม่กล้าส่งข้อมูลให้กับฝ่ายค้าน หรือกระด้างกระเดื่อง ซึ่งต่างจากข้าราชการในอดีตที่กล้าแทงกั๊ก เพราะมั่นใจว่า รัฐบาลทุกชุดอยู่ได้ไม่นาน
ด้วยเหตุนี้นายกรัฐมนตรีคนต่อไปจำเป็นต้องมีความสามารถในการประสานประโยชน์กับทุกฝ่าย เพราะต้องทำหน้าที่อำนวยการปฏิรูปการเมือง สร้างความสมดุลทางอำนาจเพื่อให้การเมืองไทยเปลี่ยนผ่านได้อย่างสมบูรณ์ นั่นคือ ต้องทำอย่างไร เขียนกติกาอย่างไรที่จะทำให้บุคคลที่มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถูก ตรวจสอบได้ง่าย และอยู่ในตำแหน่งได้อย่างมีเสถียรภาพ ขณะที่วุฒิสภาและองค์กรอิสระปราศจากการถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมือง และไม่มีสภาพคล้ายกับบ้านพักข้าราชการชราหลังเกษียณ
2. ปัญหาทางเศรษฐกิจ อย่าลืมว่ารัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ใช้เงินทองของประเทศไปเป็นอันมากในการดำเนินการนโยบายประชานิยม จนมีข่าวในระยะหลังว่า เงินคงคลังร่อยหรอ และไม่รู้จะเอาเงินไหนมากระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว เนื่องจากการเร่ขายรัฐวิสาหกิจให้กับต่างชาติผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ถูกคัดค้านอย่างหนัก
คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องมีความสามารถในด้านการบริหารเศรษฐกิจสูงกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะทรัพยากรที่อยู่ในมือเหลือน้อยเต็มทน ขณะที่ประชาชนผู้เสพติดนโยบายประชานิยม ก็ยังติดใจกับการได้รับของฟรี หากรัฐบาลไม่หาไปประเคนให้ถึงหัวกระไดบ้าน คนเหล่านี้จะแห่เข้ามาในกรุงเทพฯ ประท้วงเรียกร้องต่าง ๆ นานาในรูปแบบของสมัชชาห้าร้อย
3. ปัญหาการยอมรับทั้งภายนอกและภายในพรรคไทยรักไทย ซึ่งมีเงื่อนไขที่ขัดแย้งและสอดคล้องกัน อย่างเช่น พ.ต.ท. ทักษิณ ต้องการให้นายโภคิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป เพื่อดูแลแง่มุมทางกฎหมาย หาทางออกได้เก่ง หากมีเสียงเรียกร้องให้ตรวจสอบเช็กบิลเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต แต่เมื่อดูผลสำรวจความคิดเห็นของกรุงเทพโพล นายโภคิน ได้รับความเชื่อถือน้อยกว่านายสมคิดถึง 27 เปอร์เซ็นต์หรือ 3 เท่าตัว
นอกจากนี้กลุ่มต่าง ๆ ในพรรคไทยรักไทยที่มีผู้นำกลุ่มเป็นนักการเมืองมืออาชีพมีความเห็นค่อนข้างจะสอดคล้องกันว่า สมควรเอานายสมคิดมาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะไม่แข็งกร้าวจนเกินไป เหมาะต่อการทำหน้าที่ ประสานงานกับพรรคฝ่ายค้านและกลุ่มกดดันอื่น ๆ ในการปฏิรูปการเมือง หรือมีบุคลิกที่จะไม่ทำให้พรรคไทยรักไทย ถูกชนชั้นกลางลุกฮือขึ้นมาขับ ไล่อย่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เจอไปสด ๆ ร้อน ๆ
แต่นายสมคิด ไม่ใช่ตัวเลือกของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะอย่างน้อยก็เคยถูกตัดชื่อออกจาก บัญชีรายชื่อในการเลือกตั้ง ส.ส.มาครั้งหนึ่งแล้ว จนมีข่าวลือตามมาว่า ไม่ต้องการให้มาเป็นคู่แข่งชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม ปัญหาทั้งภายนอกและภายในพรรคไทยรักไทยต่อการคัดเลือกบุคคลขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรอบนี้มีความสัมพันธ์ จนต้องพิจารณาเงื่อนไขทั้ง 2 ด้านพร้อม ๆ กัน เช่น ถ้าเลือกบุคคลที่มีความแข็งกร้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว พ.ต.ท. ทักษิณ ชอบใจเพราะเชื่อว่าจะช่วยระวังหลังตอนถอยทัพ ไม่ให้ถูกข้าศึกไล่ตีให้บอบช้ำไปกว่านี้ แต่ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีคนนี้ก็จะถูกมองว่าทำหน้าที่เป็นร่างทรงให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่นั่งบัญชาการชักใยอยู่เบื้องหลัง
หรือมองให้ลึกไปกว่านั้น นายกรัฐมนตรีร่างทรงอาจทำหน้าที่มากกว่าการระวังหลัง นั่นคือ เป็นผู้ปูทางให้ พ.ต.ท. ทักษิณ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังจากปฏิรูปการเมืองเสร็จเรียบร้อย ถ้าสมมุติฐานนี้เป็นจริง ก็เชื่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่มีความคืบหน้า เพราะปฏิรูปการเมืองที่กำหนดกติกาทำให้เกิดการตรวจสอบนายกรัฐมนตรีง่ายขึ้น อาจไม่เป็นภาวะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชื่นชอบ
หากการปฏิรูปการเมืองไม่ตอบสนองต่อความต้องการของชนชั้นกลาง การเผชิญหน้าระหว่างระบอบทักษิณ กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็มีโอกาสเกิดขึ้นและจะรุนแรงกว่าเดิม เพราะจะไม่มีใครเชื่อใครอีกแล้ว
การวางตัวนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของพรรคไทยรักไทยจึงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก คล้ายกับการเดินเลี้ยงตัวบนเส้นลวด จะเอียงซ้ายหรือขวาก็ทำให้ตกลงมาตายทั้งนั้น
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงไม่ควรขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของความกระสัน พรรคพวก ผลประโยชน์และการสืบทอดอำนาจ แต่ต้องนึกถึงภาวะสันติสุขของบ้านเมือง มิฉะนั้นจะกลายเป็นทรราชกันจริง ๆ ก็คราวนี้.