“ดีเบตรธน. 50” ยกแรกเดือด
ฝ่ายหนุนiรับ“จรัล” ชี้ให้รับรธน.เพื่อทางออกประเทศ ไม่ไว้ใจรธน.ฉบับ คมช. “สมคิด” ฉะ หากรับรธน. คมช.สูญพันธุ์/ ฝ่ายค้านล้ม- “นิธิ-จาตุรนต์-วรเจตน์” ชี้ รธน. 50 สืบทอดอำมาตยธิปไตย หวั่นการเมืองไทยอยู่ใต้ฝ่าเท้าระบบข้าราชการ ขณะที่บรรยากาศผู้เข้าฟัง โห่ไล่คณะหนุน ปรบมือชื่นชมฝ่ายค้าน
(3สค.) ที่มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย
(พีเน็ต) ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร อาทิ เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) จัดเวทีสาธารณะเพื่อการประชันทางความคิด (ดีเบต) จุดเด่น จุดด้อยของร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 โดยมีนายจรัล ภักดีธนากุล รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการ กมธ. ยกร่างฯ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นฝ่ายสนับสนุนที่เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ควรลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ แสดงความเห็นดีเบตกับฝ่ายค้านที่มี นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นายจาตุรนต์ ฉายแสง หัวหน้ากลุ่มไทยรักไทย และ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความเห็นถึงเหตุใดที่ไม่ควรลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550
โดยมีประชาชนทั้งที่เป็นกลุ่มนักวิชาการ นักการเมือง อาทิ
นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี แกนนำกลุ่มไทยรักไทย นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง อดีต ส.ส. พรรคไทยรักไทย นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา นายอดิศร เพียงเกษ อดีต ส.ส. พรรคไทยรักไทย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตย ขับไล่เผด็จการ (ปนก.) ประชาชนที่ให้การสนับสนุนกลุ่ม นปก. เข้าร่วมฟังกว่า 300 คน
โดยนายจรัล เป็นผู้ที่เปิดเวที และกล่าวว่า
ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ถึงแม้ว่าจะมีที่มาจากการรัฐประหาร แต่จะเห็นได้ว่ากระบวนการจัดทำนั้นมีข้อดีหลายประการ ได้แก่ มีกระบวนการที่เข้าหาประชาชน เข้ารับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยจะเห็นได้จากการตั้งคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ เพื่อเข้าไปรับฟังความเห็นของประชาชน ทั้งนี้เนื่องจากคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญเอง ไม่ได้เป็นผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญทางการเมือง จึงต้องมีกระบวนการที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม มีฐานการทำงานที่อิงกับประชาชน และสิ่งที่สำคัญนั้น กระบวนการทำร่างรัฐธรรมนูญนั้น คณะผู้ร่างฯ ไม่ได้มีผลประโยชน์อื่นใดแอบแฝง ซ่อนเร้น