พร้อมหรือยัง?ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย รัฐพร้อมแก้จน!!

พร้อมหรือยัง?ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย รัฐพร้อมแก้จน!!

นับเป็นการออกมาตรการมาเอาใจพี่น้องประชาชนระดับล่าง ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติเดินหน้าโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ด้วยการเปิดให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมาลงทะเบียนเพื่อรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ  เป้าหมายการลงทะเบียนเพื่อจัดทำฐานข้อมูลในการกำหนดนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม  

วิทยากร เชียงกูล  คณบดีกิตติคุณมหาวิทยาลัยรังสิต  กล่าวว่า เห็นด้วยและน่าสนับสนุนในการขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อการจัดสิทธิประโยชน์พิเศษเข้าไปช่วยเหลือเป็นการเฉพาะกลุ่มให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเห็นว่าควรจัดในรูปแบบคูปอง แต่สิ่งสำคัญในการขึ้นทะเบียนรัฐบาลต้องได้รับข้อมูลที่เป็นจริง คือ ต้องเป็นคนจนหรือผู้มีรายได้น้อยจริงๆ ตามหลักเกณฑ์รายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท/ปี นับว่าเป็นผู้มีรายได้น้อยที่สมควรจะได้รับสิทธิประโยชน์ หรือสิทธิพิเศษต่างๆ จากภาครัฐ โดยเฉพาะบทบาทของท้องถิ่นถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเข้ามาช่วยคัดกรองบัญชีรายชื่อ เพื่อป้องกันการแอบแฝงจากผู้ที่ไม่ได้จนจริงๆ เข้ามาลงทะเบียน
สิ่งที่กังวลมากๆ คือ ประชาชนบางกลุ่มอาจจะไม่กล้ายอมเข้ามาขึ้นทะเบียนว่าตัวเองจน เพราะคนจนในเมืองกับคนจนในชนบท อาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ทั้งความต้องการด้านสิทธิประโยชน์หรือสิทธิพิเศษ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลต้องดึงนักเศรษฐศาสตร์เข้ามาช่วยคิดว่าคนจนในเมืองกับคนจนในชนบท ควรได้รับรัฐสวัสดิการอะไรบ้าง หรือแตกต่างกันอย่างไร” วิทยากร กล่าว

นักวิชาการด้านสังคมมองว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องคำนึง คือ สวัสดิการเดิมกับสวัสดิการใหม่ที่จะให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ต้องระมัดระวัง เช่น เบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท ที่เป็นนโยบายในภาพรวมประชาชนผู้สูงอายุได้รับกันทั่วหน้า เมื่อมีการขึ้นทะเบียนคนจนแล้วต้องไม่ไปลดสิทธิของผู้สูงอายุเดิมที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน แต่หากเป็นผู้สูงอายุที่เป็นคนจนจริงๆ ภาครัฐอาจจะเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุให้มากเป็นพิเศษ เช่น 1,000 บาท เป็นต้น เช่นเดียวกับสวัสดิการอื่นๆ ด้วยทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข หรือประกันสังคม สวัสดิการสังคม

“นโยบายที่รัฐบาลออกมาถามกันมากว่าเป็นรัฐสวัสดิการจริงๆ หรือไม่ ตอบได้เลยว่ายังไม่ใช่ เพราะนโยบายรัฐสวัสดิการของประเทศที่สนับสนุนเรื่องนี้จริงๆ ต้องเป็นประเทศที่สามารถจัดเก็บรายได้ในรูปแบบภาษีเพื่อมาสนับสนุนนโยบายประมาณ 30-40% จีดีพี แต่ประเทศไทยจัดเก็บภาษีได้เพียง 17-18% ต่อจีดีพีเท่านั้นถือว่าน้อยมากๆ จึงไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะจัดรัฐสวัสดิการได้เต็มรูปแบบเหมือนประเทศอื่นๆ ที่จะครอบคลุมตั้งแต่เกิดไปจนเกษียณอายุ คือ จะมีเงินบำนาญ ไว้ใช้ในยามชราภาพเป็นรายเดือนพอๆ กับเงินเดือนในช่วงอายุทำงาน แต่ประเทศไทยจัดสวัสดิการได้แค่เบี้ยผู้สูงอายุเพียงเดือนละ 600 บาท ซึ่งไม่พอต่อการยังชีพด้วยซ้ำ” วิทยากร กล่าว



พร้อมหรือยัง?ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย รัฐพร้อมแก้จน!!

สุริชัย หวันแก้ว  ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ถือเป็นความคืบหน้าในระดับหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความยากจนในการเริ่มต้นจะให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ดังนั้นเมื่อมีการขึ้นทะเบียนภาครัฐต้องอำนวยความสะดวกผู้ที่ต้องการจะเข้ามาจดทะเบียนที่สำคัญระบบต้องมีความพร้อมสูงโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จึงสมควรจะใช้โอกาสนี้ในการบูรณาการฐานข้อมูลใหม่ทั้งระบบด้วยเพื่อเชื่อมโยงระหว่างกระทรวง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น นอกจากนี้ทางภาครัฐควรนำฐานข้อมูลเดิมที่รัฐบาลในอดีตเคยขึ้นทะเบียนคนจนมาปรับใช้เพื่อนำไปสู่การเปรียบเทียบหรือค้นหาทะเบียนประชาชนผู้มีรายได้น้อยจริงๆ
“นโยบายนี้เพิ่งประกาศแค่วันเดียวไม่สามารถแก้ความยากจนได้ เพราะการแก้จนไม่ใช่แค่การให้เงินเพียงอย่างเดียว แต่รัฐบาลต้องออกนโยบายเป็นชุดใหญ่ที่มีทุกกระทรวง ทบวง กรม ร่วมกันบูรณาการการทำงานเป็นระบบเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการทำงานแก้จน” 
สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต  ให้ความเห็นว่าผลดีของการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย คือ 1.การจัดเก็บข้อมูลฐานภาษี 2.การช่วยเหลือประชาชนได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และ 3.การช่วยเหลือสวัสดิการสามารถจัดสรรได้ตามสมรรถภาพของประชาชนได้อย่างแท้จริง ทั้งผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท ดังนั้นการช่วยเหลือทั้งในกลุ่มประชาชนในเมืองและต่างจังหวัดต้องไม่แตกต่างกัน ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาการย้ายถิ่นฐาน หากผู้มีรายได้น้อยในเมืองได้รับสิทธิประโยชน์ หรือสวัสดิการที่มากกว่าผู้มีรายได้น้อยในต่างจังหวัด


อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเป็นระบบแล้ว การจัดสวัสดิการปกติควรมีการทบทวนทั้งระบบด้วย ตัวอย่างเช่น เบี้ยผู้สูงอายุ ในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีฐานะดีย่อมไม่สมควรได้รับ หรือควรยกเลิกเบี้ยรายเดือน 600 บาท ควรนำเงินส่วนนี้ไปเพิ่มให้กับผู้สูงอายุที่ฐานะยากจนจริงๆ อาจเพิ่มให้เป็นรายละ 1,000-1,500 บาท ถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นแนวนโยบายที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ไม่ถึงขั้นรัฐสวัสดิการ แต่ถือเป็นการวางรากฐานด้านกฎหมายความมั่นคงทางสังคมจึงน่าสนับสนุนต่อไป 
เกาะติด


ขอขอบคุณข้อมูลจาก :Posttoday/ทีมข่าวนักการเมืองposttoday

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์