ทึ่ห้องพิจารณา 913 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษด เวลา เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ศาลออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ คดีที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. เป็นโจทก์ฟ้อง นายเมธี อมรวุฒิกุล อดีตดารานักแสดง และอดีตแนวร่วม นปช. กับพวกรวม 7 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา
จากกรณีเมื่อวันที่ 12 ต.ค.53 นายเมธี ได้กล่าวหมิ่นประมาทใส่ความทำนองว่า นายจตุพร โจทก์โกงเงินบริจาคของกลุ่ม นปช. เป็นจำนวนเงิน 68 ล้านบาท รวมทั้งกล่าวหาว่าถูกนายจตุพร มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับผู้หญิงขณะอยู่บนชายหาด ซึ่งล้วนเป็นเท็จ ทำให้โจทก์ ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง แต่ด้าน นายเมธี ให้การปฏิเสธ
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก นายเมธี 2 ปี ปรับ 1 แสนบาท แต่คำให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน ปรับ 66,666 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี ส่วนจำเลยร่วมอีก 6 คน พิพากษายกฟ้อง ต่อมา นายเมธี ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลยกฟ้อง ขณะเดียวกัน นายจตุพร โจทก์ก็ยื่นอุทธรณ์ ให้ศาลพิพากษาลงโทษนายวัชระ เพชรทอง จำเลยที่ 4 ด้วย กระทั่งเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่นายเมธี ไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา ศาลจึงออกหมายจับนายเมธี ไว้
ทั้งนี้นายเมธี เปิดเผยก่อนเข้าห้องพิจารณาว่า ตนอยู่ในโครงการคุ้มครองพยานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ คดีที่ นปช. ถูกฟ้องข้อหาก่อการร้าย และไม่ทราบนัดในครั้งก่อน แต่เมื่อทราบว่าถูกออกหมายจับ เจ้าหน้าที่ก็ได้พามาเข้ามอบตัว และศาลถอนหมายจับแล้ว โดยนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อีกครั้งในวันนี้ ซึ่งจำเลยทั้งหมดเดินทางมาศาล
ศาลอุทธรณ์ พิเคราะห์บันทึกคำถอดเสียงของนายเมธี จำเลย แล้วเห็นว่า เป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ส่วนที่นายเมธี อุทธรณ์ว่า ข้อความดังกล่าวเป็นความจริง เนื่องจากตลอดการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ไม่มีการจัดทำบัญชีรายรับ - รายจ่ายเงินบริจาค แต่นายเมธี ก็ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันว่านายจตุพร โจทก์นำเงินบริจาคของแนวร่วม นปช.ไปใช้จ่ายส่วนตัว แต่อย่างใด
ส่วนนายวัชระ เพชรทอง จำเลยที่ 4 อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่นำข้อความดังกล่าวไปเผยแพร่ผ่านบทความของตนเอง ใน นสพ.แนวหน้า โดยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าข้อความดังกล่าวไม่ใช่การติชมด้วยความเป็นธรรม หรือการแสดงความคิดเห็น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง นายวัชระ จำเลยที่ 4 มานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น
ศาลอุทธรณ์จึง พิพากษาแก้ ให้จำคุก นายเมธี จำเลยที่ 1 และ นายวัชระ จำเลยที่ 4 คนละ 2 ปี ปรับคนละ 1 แสนบาท คำเบิกความจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยทั้งสองไว้คนละ 1 ปี 4 เดือน ปรับคนละ 66,666 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี และยกฟ้องจำเลยที่เหลือ ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ และผู้จำหน่าย เนื่องจากไม่มีหลักฐานเพียงพอว่าร่วมกับนายเมธี จำเลยที่ 1 กระทำผิด และให้จำหน่ายคดี บริษัทเอ็นเอส ทีนิวส์ จำกัด จำเลยที่ 5 ออกจากสารบบความ เนื่องจาก โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ ในเวลาที่กำหนด