เชื่อการเงินไทยไม่วิกฤติ ไอเอ็มเอฟหนุนวิธีธปท.

เชื่อการเงินไทยไม่วิกฤติ ไอเอ็มเอฟหนุนวิธีธปท.

วานนี้ (28 ก.ค.) นายโรดริงโก เดอ ราโต (Mr.Rodrigo de Rato) กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งเข้าร่วมสัมมนาสภาผู้ว่าการธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถลงว่า จากการเข้าร่วมสัมมนากับผู้ว่าการธนาคารกลางในภูมิภาคนี้ ได้มีการพูดถึงหัวข้อการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายในสถานการณ์ผันผวน ซึ่งยอมรับว่า การเคลื่อนย้ายของเงินทุนและการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนในสถานการณ์ปัจจุบันมีความผันผวนเพิ่มขึ้นมาก สะท้อนให้เห็นโลกาภิวัตน์ด้านการเงินที่สถาบันและบุคคลต่าง ๆ ทั่วโลกมีความต้องการและความสามารถที่จะถือสินทรัพย์นอกประเทศมากขึ้น และตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ประเทศในเอเชียต้องเผชิญกับภาวะการเคลื่อนย้ายเงินทุนไหลเข้า-ออกในปริมาณมาก

ผจก.ไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า กระแสของโลกาภิวัตน์ด้านการเงินดังกล่าว ก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ เช่น การที่ธุรกิจเข้าถึงตลาดเงินมากขึ้น การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ความสามารถในการหางาน อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้เพิ่มความเสี่ยงของนักลงทุนด้วย อาทิ การเกิดความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจจากการปกป้องการค้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงธุรกรรมการเก็งกำไรค่าเงินจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย โดยไอเอ็มเอฟมีข้อเสนอแนะที่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ สามารถดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงของการไหลเข้าของเงินทุน ประกอบด้วย การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ดี การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่น การลดอัตราดอกเบี้ย การเข้าแทรกแซงตลาดเงินต่างประเทศเพื่อลดความผันผวน ซึ่งไอเอ็มเอฟเห็นว่าธนาคารกลางแต่ละประเทศสามารถดำเนินการได้ การเปิดเสรีเงินทุนไหลให้มากขึ้น ซึ่งหมายถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนในประเทศไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นด้วย ซึ่งมาตรการเหล่านี้ต้องทำไปพร้อมกับการพัฒนาตลาดการเงินในประเทศ 

สำหรับประเด็นที่มีคำถามว่า ความผันผวนทางด้านการเงินและการเคลื่อนย้ายเงินทุนของโลกในปัจจุบัน จะทำให้ประเทศไทยและประเทศภูมิภาคต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่หรือไม่นั้น นายโรดริงโก กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปัจจุบันแตกต่างจาก 10 ปีที่ผ่านมา และปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดี และอัตราแลกเปลี่ยนมีความยืดหยุ่น ซึ่งจากปัจจัยเหล่านี้เชื่อว่า จะไม่ทำให้ไทยต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่แน่นอน 

นอกจากนี้ ผจก.ไอเอ็มเอฟ ยังระบุถึงการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน และส่งผลให้ ธปท.ต้องขาดทุนประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ว่าประเด็นดังกล่าวไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ชี้วัดประสิทธิภาพการทำงานของ ธปท. โดยปัจจัยสำคัญที่ควรนำมาตรวจสอบการทำงานของ ธปท. คือความโปร่งใสในการทำงาน และการผลักดันนโยบายที่สร้างเสถียรภาพทางด้านการเงินมากกว่า สำหรับข้อสงสัยว่า จากปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา แต่ ธปท. กลับลดอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.25 นั้น ไอเอ็มเอฟเห็นว่า การมุ่งแต่จะลดอัตราดอกเบี้ยครั้งละมากๆ จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางมากกว่ามีผลดี

นายโรดริงโก ยังตอบข้อซักถามที่ว่าปัญหาวิกฤติทางด้านอัตราแลกเปลี่ยน ไทยควรกลับไปใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ (Fix Rate) อีกครั้งหรือไม่ ว่าการกลับไปใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่จะไม่ส่งผลดีต่อเสถียรภาพทางด้านการเงิน เนื่องจากในทางกลับกัน การแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนก็มีผลดี เช่น การช่วยลดภาระการนำเข้าพลังงาน และทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ แต่สิ่งสำคัญที่ไอเอ็มเอฟเห็นว่าเป็นสิ่งที่ผู้บริหารอัตราแลกเปลี่ยนควรทำ คือ การกำหนดเป้าหมายและดำเนินการรักษาให้เสถียรภาพระดับราคาหรือเงินเฟ้อในประเทศให้มีเสถียรภาพมากกว่า ส่วนมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 เห็นว่าเป็นมาตรการที่ได้ผลในระยะสั้น แต่ระยะยาวจะมีผลเสียมากกว่า และเห็นด้วยกับแนวทางที่ ธปท. จะผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวหรือยกเลิกในอนาคต


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์