.
จากการไต่สวนข้อเท็จจริง พบว่า การขอคืนพื้นที่จากกลุ่ม นปช. ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 นั้น อยู่ในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และตามคำพิพากษาของศาล ว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช.มิใช่การชุมนุมโดยสงบ เพราะมีผู้ถืออาวุธปะปนอยู่ ศอฉ. จึงมีคำสั่งขอคืนพื้นที่ และให้เจ้าหน้าที่นำอาวุธติดตัวและสามารถใช้อาวุธเพื่อยับยั้งเหตุตามสถานการณ์ รวมถึงป้องกันตัวเอง โดยเป็นไปตามหลักสากล
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธเพื่อป้องกันตัวได้ แต่ก็เป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ ที่ต้องใช้อาวุธอย่างระมัดระวัง ซึ่งเป็นภาระที่หนักอึ้งในทางปฏิบัติ และหากภายหลังมีการพิสูจน์ได้ว่ามีการใช้อาวุธโดยไม่สุจริตและเลือกปฏิบัติ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บนั้น ผู้ปฏิบัติไม่สามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบดังกล่าวได้ เช่นเดียวกันกับ นายทหารระดับผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ ที่ต้องรับผิดชอบในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่า ผู้บังคับบัญชารู้ว่าผู้ใต้บังคับบัญชาใช้อาวุธโดยมิชอบ แต่ผู้บังคับบัญชากลับไม่ดำเนินการยับยั้ง
นอกจากนี้ คดีการเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับดำเนินการ และมีมติให้ส่งเรื่องดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ทหารที่เป็นผู้กระทำให้เกิดการเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ รวมถึงนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ ที่ไม่ใช่บุคคลตามมาตรา 66 ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการต่อไป
สำหรับกรณีคำกล่าวหา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา และพวก กรณีไม่ระงับยับยั้ง ทบทวนวิธีการ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้กำลังทหารนั้น จากการไต่สวนพบว่า ภายหลังจากเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่ วันที่ 10 เมษายน 2553 แล้ว ศอฉ.ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ โดยไม่ใช้กำลังผลักดันผู้ชุมนุมแต่มีการตั้งด่านตรวจและตั้งจุดสกัดเป็นวงล้อม เพื่อให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกันไปเอง โดยที่ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 เป็นการตั้งด่านกับที่ แต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ได้มีการเคลื่อนกำลังเข้าควบคุมสวนลุมพินีโดยไม่ได้ผลักดันต่อ ส่วนการเข้ากระชับพื้นที่นั้น เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน โดยการประกาศก่อนแล้วจึงเข้าไป ดังนั้นข้อเท็จจริง พยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวน ยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาและพวก ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่น โดยเล็งเห็นผลแต่อย่างใด ป.ป.ช.จึงให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวตกไป