จากคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ 2 คนที่เกาะเต่า เหตุเกิดเมื่อปี 2557 และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาประหารชีวิตจำเลย 2 คนซึ่งเป็นชาวเมียนมาร์ ทำให้มีการชุมนุมประท้วงเกิดขึ้น ในเมียนมาร์ ซึ่งพล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันการทำงานที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตามหลักการสอบสวนของสำนักงานสืบสวนสอบสวนกลางสหรัฐหรือ FBI ประกอบกับการตรวจสอบกล้องวงจรปิดกว่า 400 ตัว และการตรวจสอบ DNA ของบุคคลมากกว่า 360 คน ซึ่งผลการตรวจโดยสถาบันนิติเวช พบว่า DNA ของจำเลยทั้ง 2 คนตรงกับ DNA ที่พบในร่างกายของนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ เช่นเดียวกับ DNA ที่เก็บจากก้นบุหรี่ในที่เกิดเหตุ ก็เป็น DNA ที่ตรงกับจำเลยเช่นเดียวกัน สำหรับ DNA ที่พบในจอบ ทางเจ้าหน้าที่ไม่ยืนยันโปรไฟล์ DNA กับจำเลย เนื่องจาก DNA ที่อาวุธอาจถูกลบเลือนด้วยสภาพแวดล้อม แต่ว่าที่ตัวจอบมี DNA ของผู้เสียชีวิต
สำหรับประเด็นที่ระบุว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการซ้อมจำเลยนั้น ทางพล.ต.อ. เดชณรงค์ ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่ทำเช่นนั้นแน่นอน เพราะเป็นวิธีการที่ล้าสมัย และจากการตรวจร่างกายของจำเลย ก็ไม่มีร่องรอยการทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด
ขณะที่พล.ต.อ.เดชณรงค์ ขอให้ประชาชนทั้งคนไทยและเมียนมาร์ มีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของไทย เพราะมีการถ่วงดุลการทำงานอย่างชัดเจน และตลอดเวลาที่ผ่านมา จำเลยทั้ง 2 คนก็มีโอกาสในการต่อสู้คดี มีทนายความที่ว่าความให้ถึง 7 คน ซึ่งในกระบวนการทางศาล ไม่ได้ยึดคำให้การให้จำเลย แต่ยึดจากพยานหลักฐาน ทางนิติวิทยาศาสตร์ที่สามารถตรวจสอบได้ และหากทางประเทศเมียนมาร์ ต้องการตรวจสอบการทำงานของพนักงานสอบสวน ก็สามารถยื่นเรื่องมาได้ ทางพนักงานสอบสวนพร้อมที่จะให้การตรวจสอบ
ส่วนประเด็นที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า เรียกร้องให้ประเทศไทยทบทวนคดีอีกครั้งนั้น พล.ต.อ.เดชณรงค์ กล่าวว่า คดีนี้ยุติลงแล้ว ไม่สามารถที่จะสอบสวนใหม่ ต้องไปต่อสู้คดีในชั้นศาล ทั้งจะไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเมียนมาร์มานานแล้ว
ด้านพล.ต.ต. ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ได้ตั้งข้อสงสัยในประเด็นที่มีการเคลื่อนไหวในประเทศเมียนมาร์ ว่า อาจจะมีบางกลุ่มใช้สถานการณ์นี้เข้ามาบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ และย้ำว่าคดีที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำความผิดของปัจเจกบุคคล ไม่ควรนำไปเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะตรวจสอบต่อไปว่า มีใครอยู่เบื้องหลังการชุมนุมหรือไม่ ทั้งกล่าวด้วยว่า ในรอบปีที่ผ่านมา มีคดีที่ชาวเมียนมาร์ตกเป็นจำเลยในคดีข่มขืน และฆาตกรรมในประเทศไทยมากถึง 126 คดี โดยในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มี 26 คดี ซึ่งในหลายคดี ศาลตัดสินเหมือนกับคดีนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ แต่ไม่เห็นว่าจะมีความเคลื่อนไหวใดๆ
...ผสข.สมจิตร์ พูลสุข
ขอขอบคุณ http://www.js100.com/en/site/news/view/20380