เสียรู้ทักษิณ/ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง 6 เมษายน 2549 17:13 น.
ในที่สุด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ก็ไม่เลือกการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ไพล่ไปเลือกแนวทาง ซื้อเวลา ว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของสภาผู้แทนราษฎรที่เกิดจากการเลือกตั้งครั้งนี้
นับเป็นความชาญฉลาดที่ไม่ธรรมดาของ ทักษิณ
เพราะการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนี้ ย่อมจะทำให้คณะรัฐมนตรีชุดนี้ต้องสิ้นสภาพไปตามมาตรา 215 และเมื่อขณะนี้ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่สามารถเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีได้ จึงจำเป็นต้องใช้มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนายกรัฐมนตรีรักษาการชั่วคราว
แน่นอน โดยวิธีทางเช่นนี้ย่อมจะทำให้ได้คนกลางที่ไม่มีส่วนได้เสียกับพรรคการเมืองมาดำเนินการปฏิรูปการเมือง ตรวจสอบความผิดของ ทักษิณ ที่ถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชันโดยนโยบาย เอื้อประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง ตรวจสอบการขายสมบัติชาติให้ต่างชาติ และตรวจสอบการหลีกเลี่ยงกฎหมายในการขายหุ้น
แต่ ทักษิณ ก็ได้เลือกที่จะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยหน้า แทนที่จะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนี้ ซึ่งมีความหมายว่า ทักษิณ จะยอมออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ต่อเมื่อ
1) เมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนครบ 500 คน และเปิดประชุมสภาได้แล้ว
2) เมื่อตกลงจะให้ผู้ใดเป็น ร่างทรง หรือเป็น ตัวแทนเชิด หรือ Nominee ของ ทักษิณ ได้แล้ว
3) เมื่อพรรคไทยรักไทยได้ยึดครองเสียงในสภาผู้แทนราษฎรอย่างเบ็ดเสร็จแล้ว ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะเกิน 490 เสียงขึ้นไป
4) เมื่อประเทศได้ผู้นำฝ่ายค้านในสภาที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในสภาผู้แทนราษฎรมาก่อน ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเพียง 3,000 คะแนน น้อยกว่าคะแนนของผู้ไม่ลงให้ใครเสียอีก
5) เมื่อได้วุฒิสภาที่จะมาจากการเลือกตั้ง 19 เมษายน ซึ่ง กกต.มีท่าทีว่าจะเร่งรัดรับรองผลการเลือกตั้งเพื่อให้เปิดการประชุมได้ไปก่อน แล้วค่อยไปพิจารณาแจกใบเหลืองใบแดงทีหลัง เพื่อวุฒิสภาชุดใหม่นี้จะได้เข้าร่วมประชุม รัฐสภา ในการเปิดประชุมสภาสมัยใหม่ครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ แต่วุฒิสภาชุดนี้จะอยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคการเมืองยิ่งกว่าวุฒิสภาชุดที่แล้ว ดังนั้น การทำหน้าที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการเลือก ป.ป.ช. หรือการแต่งตั้ง ตรวจสอบ ถอดถอนต่างๆ ก็จะอิงแอบกับพรรคการเมืองที่มีอำนาจ เรียกว่า ได้ครอบทั้ง สภาล่าง และ สภาสูง อย่างเบ็ดเสร็จ
เมื่อเป็นเช่นนี้ อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และอำนาจของฝ่ายตรวจสอบ ทั้งวุฒิสภาและองค์กรอิสระต่างๆ อาทิ ป.ป.ช. ก็จะตกอยู่ในเงื้อมมือของ ทักษิณ ผ่านบริวารและร่างทรง
เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนข้างต้น เมื่อทุกกลไกอยู่ในการควบคุม ทั้ง ทางตรง และ ทางอ้อม โดย ทักษิณ ปัญหาต่างๆ ก็จะยังคงอยู่ดังเดิม
1) การตรวจสอบความผิดตามข้อกล่าวหาที่มีต่อ ทักษิณ ที่อาจจะนำมาซึ่งการยึดคืนสัมปทาน สมบัติของชาติ การนำตัวคนกระทำความผิดมารับโทษตามกฎหมาย การยึดทรัพย์ที่เกิดจากการโกงคืนสู่แผ่นดิน ก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะ ป.ป.ช.จะไม่ชี้มูลความผิด หรือจำหน่ายคดีออกว่ามีมูลความผิดไม่เพียงพอ
2) การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะถูกแทรกแซง บิดเบือน เพราะไม่ว่าจะตั้ง สสร.จากคนกลางอย่างไร สุดท้ายก็จะต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ที่สุดท้ายก็จะถูกแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับความต้องการและความได้เปรียบของพรรคการเมือง
3) การแทรกแซงสื่อก็จะยังคงมีอยู่ตามเดิม เพราะอำนาจ อิทธิพลทางการเมือง และเงินตราจะคงอยู่ การเชลียร์ หรือการเซ็นเซอร์ตัวเองของคนในวงการสื่อก็จะยังคงดำเนินต่อไป เมื่อต่างก็รู้ความจริงว่า ทักษิณ ยังคงอยู่
4) นโยบายลดแลกแจกแถม และนโยบายที่มุ่งจะหาเสียงและสร้างคะแนนนิยมมากกว่าจะแก้ปัญหาพื้นฐานในระยะยาวจริงๆ ก็จะยังคงถูกนำมาใช้เพื่อซื้อใจคนในชนบท ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ต่อไป เพราะฝ่ายการเมืองจะเล็งผลถึงการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นภายใน 10 กว่าเดือนข้างหน้า
5) การทุจริตโดยนโยบาย และการแสวงหาผลประโยชน์จากนโยบายของรัฐ ก็จะยังคงดำเนินไป เพราะได้รับการผลักดันและกำกับผ่านระบบพรรค และระบบอุปถัมภ์ภายในพรรค
ทั้งหมดนี้ จะทำให้การเมืองภาคประชาชนต้องเหนื่อยยากยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา
จะยอม เสียรู้ทักษิณ กันทั้งแผ่นดินอีกหรือไม่?