ผลสำรวจชี้ประชาชน หนุนปฏิรูปโครงสร้าง ตร.
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าววันนี้ (8 ก.ค.) ถึงการสำรวจเรื่อง “ความคิดเห็นต่อการปฏิรูปโครงสร้างงานตำรวจ : กรณีศึกษาประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล และเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศ” จำนวนทั้งสิ้น 2,667 ตัวอย่าง ที่มีระยะเวลาระหว่างวันที่ 6-8 ก.ค.2550 โดยสอบถามความเห็นต่อการทำงานของตำรวจในด้านต่างๆ รอบ 12 เดือนที่ผ่านมา พบว่าตัวอย่าง ระบุตำรวจมักจะตกอยู่ภายใต้การครอบงำของบรรดานักการเมืองที่มีอำนาจสูงถึง 87.1% รองลงมาระบุตำรวจเลือกปฏิบัติกับประชาชน 77.3% ระบุตำรวจรีดไถ และเรียกรับผลประโยชน์ 72.1% และระบุตำรวจมีการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งกัน 67.5% รายงานข่าวแจ้งว่า จากผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า การพิจารณาความดีความชอบในหน่วยงาน ใช้ระบบอุปถัมภ์มากกว่า เช่น เส้นสาย การเอาใจผู้บังคับบัญชา พวกพ้อง และการซื้อขายตำแหน่ง 41.6% ในขณะที่ ระบุว่าใช้ระบบคุณธรรมมากกว่า 20% โดยที่ตัวอย่างระบุใช้ทั้งสองระบบร่วมกันอีก 38.4% เมื่อสอบถามตัวอย่างที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่อการรับรู้เกี่ยวกับนโยบายการปรับปรุงโครงสร้างงานตำรวจ พบว่าตัวอย่างประมาณครึ่งหนึ่ง รับรู้ และระบุได้ถูกต้องว่ามีการปรับปรุงอะไรบ้าง 52.7% ขณะที่ ระบุรับรู้ แต่จำไม่ได้ว่ามีประเด็นใดบ้าง 35.5% และมีตัวอย่าง ที่ไม่รู้ว่าจะมีการปรับโครงสร้างอีก 11.8% รายงานข่าวแจ้งต่อว่า ความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างต่อกรณีหากจะมีการปรับโครงสร้างงานตำรวจในครั้งนี้ พบว่ากลุ่มประชาชนทั่วไป 74.8% ระบุค่อนข้างเห็นด้วย/เห็นด้วย ขณะที่ระบุไม่ค่อยเห็นด้วย/ไม่เห็นด้วยมี 23.8% ส่วนตัวอย่างที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุค่อนข้างเห็นด้วย/เห็นด้วย 60.8% ขณะที่ ระบุไม่ค่อยเห็นด้วย/ไม่เห็นด้วยมี 36.4% และ เห็นว่าหากมีการปรับโครงสร้างตำรวจแล้ว สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และประชาชนจะได้รับคือการบริการที่ดีขึ้น 71.3% นอกจากนี้ ยังเห็นว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมประเมินผลงานมากขึ้น 65.5% เห็นว่าการทำงานของตำรวจจะมีความโปร่งใสมากขึ้น 59% และ เห็นว่าการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งจะลดลง 53.8% รายงานข่าวแจ้งต่อว่า กรณีหากรัฐบาลจะให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระจายอำนาจไปสู่กองบัญชาการตำรวจระดับภาคต่างๆ ของประเทศ พบว่าตัวอย่างที่เป็นประชาชนทั่วไป ระบุค่อนข้างเห็นด้วย/เห็นด้วย 53% ขณะที่ ระบุไม่ค่อยเห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย 23% ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุค่อนข้างเห็นด้วย/เห็นด้วย 66.8% ขณะที่ ระบุไม่ค่อยเห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย 30% ในส่วนของการปรับยศตำรวจชั้นประทวนทั้งหมดให้เป็น “ดาบตำรวจ” พบว่าตัวอย่างที่เป็นประชาชนทั่วไป มีความคิดเห็นไม่แตกต่างกันนัก คือ ระบุค่อนข้างเห็นด้วย/เห็นด้วย 35.1% และ ระบุไม่ค่อยเห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย 35.3% ส่วนตัวอย่างที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุค่อนข้างเห็นด้วย/เห็นด้วย 55% ขณะที่ระบุไม่ค่อยเห็นด้วย/ไม่เห็นด้วยมีอยู่ 44%
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบค กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ผลการสำรวจยังพบข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ คือ ขอให้ตำรวจทำงานอย่างโปร่งใส/ขจัดปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์ ส่วย การติดสินบนต่างๆ/ทำงานด้วยความซื่อสัตย์/ปลอดการคอร์รัปชั่น 40.4% รองลงมา ให้เน้นการบริการประชาชนให้มากขึ้น/สุภาพ ยิ้มแย้มแจ่มใส 28.8% ขอให้ตำรวจไม่เลือกปฏิบัติ/ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน/ใครทำผิดก็ว่าไปตามผิด 15.1% และ ขอให้ตำรวจเคร่งครัดในระเบียบวินัยให้มากขึ้น 14.8%