อ๋อยโวย คมช.ยัดเยียดรับ รธน. ยุ บิ๊กบังลงแข่งเลือกตั้ง คตส.คุ้ยหวย
“ทักษิณ” ลั่นอย่าคาดหวัง รธน.ฉบับลายพราง สื่อนอกรุมซักเมื่อไรจะกลับบ้าน ได้คำตอบ "เมื่อเหมาะสม" ตั้งโต๊ะแถลงข่าวผลการประชุมสมาคมกอล์ฟฯ เริงร่ากับเก้าอี้นายกสมาคมฯ บอร์ดยกคณะประชุมถึงฮ่องกง โวเข็นผลงานตั้งโรงเรียนสอนเด็กเล่นกอล์ฟ พร้อมตีปี๊บผลงานฮุบ "เรือใบสีฟ้า" หวังปลุกยักษ์หลับให้ตื่น "นพดล" เผยแทนนายใหญ่ ตั้งใจปันเงินช่วยเด็ก 3 จว.ชายแดนใต้
มั่นใจปลายปีได้หย่อนบัตร
เมื่อวันที่ 7 ก.ค. เวลา 08.00 น. พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในรายการ "เปิดบ้านพิษณุโลก" ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ เป็นครั้งที่ 9 มีนางศิริบูรณ์ ณัฐพันธ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยนายกฯ กล่าวอย่างอารมณ์ดีถึงการทำงานของรัฐบาลว่า เราผ่านภาพรวมในขั้นตอนที่จำเป็นมาพอสมควร ทั้งเรื่องสภาร่างรัฐธรรมนูญลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญไปแล้วเมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ผ่านมา ส่วนวันเลือกตั้งอย่างที่เรียนไว้ว่าวันที่ 25 พ.ย. สามารถกระทำได้เร็วที่สุด หากล่าช้าก็ได้เสนอช่วงที่เหมาะสมคือวันที่ 16 หรือ 23 ธ.ค. โดยถือเป็นช่วงที่เหมาะสมเนื่องจากจัดหลังงานเฉลิมฉลองในพิธีมหามงคล 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นายกฯ กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่จะทำให้การเลือกตั้งช้าออกไปมี 2 ส่วน คือ การรับร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ เนื่องจากหลังลงประชามติแล้วยังต้องมีการออกกฎหมายลูกที่มีความจำเป็น ซึ่งตนเห็นว่าสามารถทำได้ทันในห้วงเวลาที่กำหนด ซึ่งมีการหารือกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายฝ่ายแล้ว อีกทั้งได้หารือกับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ว่าเวลาที่เหมาะสมคือ 16 หรือ 23 ธ.ค. ซึ่งตนได้ตั้งใจไว้ว่าจะพยายามให้มีการเลือกตั้งให้ได้ภายในปีนี้
ใช้สื่อภาษาถิ่นแจงรธน.
ที่ พล ม.2 พล.อ.สุรยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ ภายหลังจากเดินทางกลับจากปฏิบัติราชการที่ จ.ระยอง ถึงกรณีที่มีการรณรงค์ให้คว่ำรัฐธรรมนูญว่า เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ทั้งในส่วนสภาร่างรัฐธรรมนูญ กกต. ขณะนี้เข้าสู่ขั้นตอนการทำความเข้าใจ คิดว่าไม่น่ามีปัญหา ถึงแม้ว่าจะมีบางส่วนไม่เห็นด้วยก็เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อถามว่า รัฐบาลเป็นห่วงหรือไม่ว่าประชาชนจะเบื่อการเมืองและไม่ออกมาใช้สิทธิการลงประชามติ นายกฯ กล่าวว่า ตนคิดว่าประชาชนเข้าใจ และจากการที่ตนเดินทางไปต่างจังหวัดหลายครั้งคิดว่าประชาชนเข้าใจ และส่วนใหญ่อยากเห็นการเลือกตั้งในช่วงปลายปีนี้
เมื่อถามว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจจะมีการเข้าไปทำความเข้าใจได้ไม่ทั่วถึง และอาจจะทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิน้อย นายกฯ กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าตนจะลงไปในพื้นที่ภาคใต้ และจะทำความเข้าใจกับส่วนราชการ ต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนคิดว่าเราสามารถ ทำความเข้าใจได้ และเรามีสื่อหลายประเภท ทั้งสื่อที่เป็นภาษาถิ่น เชื่อว่าน่าจะทำความเข้าใจกับประชาชนได้ เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าเวลาที่เหลือนี้มั่นใจว่าจะทำความเข้าใจกับประชาชนได้ นายกฯ กล่าวว่า "ผมมั่นใจเป็นอย่างยิ่งที่จะทำความเข้าใจได้"
"บุญรอด" หนุนต้องรับร่างฯ
นายอารีย์ วงศ์อารยะ รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงฯ มีหน้าที่ทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ โดยได้มีโครงการพัฒนาพลเมืองระบอบประชาธิปไตยอัน มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขซึ่งจะสอด แทรกความรู้ด้านประชาธิปไตย โดยเฉพาะการ เลือกตั้งหาคนดีมาเป็นผู้แทน รวมทั้งจะสอดแทรกการลงประชามติ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจว่าเป็นกฎหมายที่ได้มีการรับรองเป็นเอกฉันท์ถึง 98 เสียง และมีการดำเนินการเป็นขั้นตอนมาโดยตลอด ประชาชนก็ควรจะรับร่างเพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาในเรื่องการเลือกตั้งที่ล่าช้าออกไป อย่างไรก็ตาม ตนไม่หวั่นกระแสคว่ำรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ถือว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล
ที่ จ.อำนาจเจริญ พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม พร้อมด้วยคณะนายทหารจากกองทัพภาคที่ 2 ประมาณ 40 คน ได้เดินทางมาติดตามโครงการอยู่ดีมีสุขของรัฐบาลซึ่งเน้นย้ำเรื่องการปราบปรามยาเสพติด โอกาสเดียวกัน พล.อ.บุญรอด ยังให้สัมภาษณ์ถึงการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 19 ส.ค. ว่า อยากวิงวอนประชาชนให้ออกไปใช้สิทธิ ยิ่งถ้าต้องการให้มีการเลือกตั้งเร็วก็ควรลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญกันจำนวนมาก นอกจากนี้ พล.อ.บุญรอด ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมภายหลัง เดินทางกลับมาถึง กท.อีกว่า เรื่องการรณรงค์คว่ำรัฐธรรมนูญเป็นกลุ่มอำนาจเก่าที่อยู่เบื้องหลัง
อดีตขั้วฝ่ายค้านหารือจุดยืน
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้าม ไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ในวันจันทร์ที่ 9 ก.ค. เวลา 11.00 น. หัวหน้าและแกนนำอดีต 3 พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม จะหารือร่วมกันที่ร้านช้อนเงินช้อนทอง เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 ส.ค.นี้ รวมไปถึงร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองเนื่องจากในวันพุธที่ 11 ก.ค. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เชิญหัวหน้าพรรคการเมืองไปประชุมสัมมนาร่วมกับ กกต. ซึ่งมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสมาชิกพรรคซ้ำซ้อน ที่เป็นปัญหาที่ยังแก้ไขไม่เสร็จใน กกต.ชุดที่แล้ว นอกนั้นเป็นเรื่องการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง
นายองอาจ กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงมติจาก ส.ส.ร.ว่า ถือเป็นเรื่องดีที่ส.ส.ร. มีการรับร่างเพื่อนำไปสู่การลงประชามติต่อไป ซึ่งจะนำไปสู่การเลือกตั้งในปลายปีนี้ อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง แต่เชื่อว่าความหวังของประชาชนตอนนี้ต้องการให้มีการเลือกตั้ง เพราะต้องการเห็นบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนการลงประชามตินั้น ตนมองว่าเป็นสิทธิของประชาชนที่จะรับหรือไม่รับก็ได้ ไม่อยากเห็นกลุ่มการเมือง หรือคณะบุคคลใด ใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปหาประโยชน์แอบแฝง ขณะเดียวกันนั้นรัฐบาลควรเปิดช่องให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัว
จี้ขยายแจ้งใช้สิทธินอกเขต
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า พรรคมีข้อเสนอ 3 ข้อ คือ 1.อยากให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์สร้างความเข้าใจในเรื่องรัฐธรรมนูญ 2.รัฐบาล ส.ส.ร. และ กกต. ควรใช้ช่องทางการสื่อสารที่มีอยู่ให้รอบด้าน และ 3.ให้สถาบันการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการเผยแพร่ความเข้าใจในรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ พรรคยังมีเรื่องกังวล คือ อยากให้เลื่อนวันการยื่นเรื่องขอใช้สิทธิลงประชามตินอกภูมิลำเนา จาก 10-19 ก.ค. ไปถึงสิ้นเดือน หรือให้ใช้สิทธินอกเขตได้ และให้มีสถานที่กลางหรือคอลเซ็นเตอร์รับแจ้งความประสงค์ว่าจะใช้สิทธิที่ใด อย่างไรก็ดี วันที่ 8 ก.ค. เวลา 09.00 น. นายอภิสิทธิ์ ได้นัดหารือร่วมกันเป็นนัดสุดท้าย
นายองอาจ ยังกล่าวว่า ตนเชื่อว่าประชาชน จับตาดู คมช.และฝ่ายการเมืองอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการสืบทอดอำนาจของคนที่ยึดอำนาจไม่ได้ง่าย เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า พล.อ. สนธิ จะลงการเมือง หลังเกษียณอายุ ราชการ เราไม่ได้พูดคุยหรือมีปฏิสัมพันธ์ใด ๆ กับ พล.อ.สนธิ ขึ้นอยู่กับตัวท่านจะตัดสินใจอย่างไร และเป็นสิทธิที่ท่านเองอยากจะแสดงความชัดเจนตอนไหน พรรคคงไม่สามารถไปชี้นำได้ อย่างไรก็ตามที่ พล.อ.สนธิ ลงเล่นการเมืองท่านก็ไม่มีสิทธิไปกุมอำนาจใด ๆ เพราะถือว่าก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง ดังนั้นจึงไม่น่ามีผลอะไร เหมือนกับอดีตนายทหารหลายคนที่โดดเข้ามาเล่นการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ
ปชป.จัดเวทีเสวนาร่างรธน.
นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นของ ส.ส.ร. ว่า ถือเป็นก้าวสำคัญของการฟื้นฟูประชาธิปไตย แต่ยังต้องรอผลการลงประชามติวันที่ 19 ส.ค. ทั้งนี้ ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้นหลังจากองค์กรชาวพุทธประกาศไม่รณรงค์โนโหวตรัฐธรรมนูญ จึงต้องแสดงความ ชื่นชมต่อท่าทีขององค์กรชาวพุทธ
นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามทางพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค มีแนวคิดที่จะให้สาขาพรรคและอดีต ส.ส.ของพรรคจัดกิจกรรมเสวนารัฐธรรมนูญ โดยจะไม่มีการชี้นำใด ๆ เพราะเคารพในดุลพินิจของประชาชน ซึ่งจะเป็นภารกิจของพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ที่จะต้องช่วยกันส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความเข้าใจในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญประกอบการพิจารณาลงประชามติ
ทรท.โวยยัดเยียดให้รับร่างฯ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง หัวหน้ากลุ่มไทยรักไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการกำหนด บทลงโทษทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญลงใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถือเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนในการแสดงออกทางความคิดเห็น เป็นการมัดมือชกให้ประชาชน สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญอย่างเดียว ซึ่งไม่มี ประเทศไหนทำเช่นนี้ และขณะนี้ผู้มีอำนาจได้สั่งการข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการทหารออกไปข่มขู่และบีบบังคับให้ประชาชนรับร่าง โดยอ้างว่าใครไม่เห็นด้วยเท่ากับพวกคิดทำลายชาติ จึงอยากฝากบอก คมช.ให้หยุดพฤติกรรมเช่นนี้ สิ่งที่ควรกำหนดลงใน พ.ร.บ.ประชามติคือการกำหนดให้ข้าราชการวางตัวเป็นกลาง
นายจาตุรนต์ ยังกล่าวถึงกรณีที่กลุ่มไทยรักไทยถูกมองว่าประสบปัญหาเรื่องความเป็นเอกภาพ หลังกลุ่มการเมืองต่าง ๆ พยายามเข้ามามีบทบาทอีกครั้งว่า การออกมาผนึกกำลังของทุกฝ่ายที่พร้อมร่วมอุดมการณ์กับกลุ่มไทยรักไทย ถือเป็นเรื่องที่ควรทำ ขณะนี้สิ่งจำเป็นคือเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ พร้อมสร้างกระแสการยอมรับจากประชาชน ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับหลายฝ่ายเพื่อให้ได้แกนนำใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทนแกนนำหน้าเก่า คาดว่าจะเห็นโฉมหน้าชุดใหม่ในวันที่ 11 ก.ค.นี้ ส่วนคณะทำงานบริหารจัดการกลุ่มชุดเดิมทั้ง 23 คนก็จะถอยออกไปเป็นพี่เลี้ยงหรือที่ปรึกษาแทนไม่ควรเข้าไปกำหนดอะไรแล้ว
ยุ "บิ๊กบัง" ลงสนามเลือกตั้ง
นายจำลอง ครุฑขุนทด คณะทำงานศึกษาวิเคราะห์ติดตามและตรวจสอบการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กลุ่มไทยรักไทย กล่าวถึงการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของกลุ่มว่า อยู่ระหว่าง การศึกษาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย รวมทั้งเหตุผลที่กลุ่มไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นจะจัดประชุมให้ความรู้กับอดีต ส.ส. และสมาชิกพรรค เพื่อลงไปชี้แจงกับประชาชนในพื้นที่ให้เข้าใจและรู้เหตุผลว่าทำไมไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่วนที่มีกระแสว่า พล.อ.สนธิ จะเข้าสู่การเมืองหลังเกษียณอายุราชการ ถือเป็นสิทธิเสรีภาพ ถ้าพล.อ.สนธิ เข้ามาสู่การเมืองตามกระบวนการประชาธิปไตยก็ดี จะได้รู้เรื่องประชาธิปไตยมากขึ้น
ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกคณะทำงานบริหารจัดการ กลุ่มไทยรักไทย กล่าวถึงกรณีที่ผลโพลกลุ่มมัชฌิมาพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่รู้สึกเฉย ๆ กับการที่ทหารจะเข้ามาเล่นการเมือง โดยร้อยละ 34.8 สนับสนุนให้ตั้งพรรคเองว่า การทำโพลของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง จะเปิดเผยเฉพาะประเด็นที่เป็นประโยชน์เท่านั้น ถือเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองอย่างหนึ่ง ส่วนผลโพลจะสะท้อนความเป็นจริงของสังคมได้มากน้อยแค่ไหน ต้องดูที่กลุ่มตัวอย่างและคำถาม ทั้งนี้ กลุ่มไทยรักไทยไม่เดือดร้อนที่ทหารจะตั้งพรรคการเมืองหรือมีพรรคนอมินี เพราะตนเชื่อ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าจะมีพรรคนอมินี ทหารแน่ ขออย่างเดียวคือเปิดโอกาสให้มีการจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองโดยเร็ว เพื่อสู้กันในกติกาจะได้รู้ว่าประชาชนจะเลือกใคร
คมช.สับเว็บไซต์ "แม้ว" ยกก้น
พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกคมช. กล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะเปิดเว็บไซต์ส่วนตัวว่า ทาง คมช.ไม่รู้สึกกังวลอะไร เนื่องจากคนส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ส่วนคนที่เปิดเว็บไซต์ก็จะเป็นคนที่มีความรู้ เข้าใจสถานการณ์ดีว่าเกิดอะไรขึ้น จึงไม่รู้สึกวิตกกังวลกับการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเปิดเว็บไซต์ขึ้นมาใหม่ ตนเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ควรจะเดินทางมาพิสูจน์ความจริง ด้วยตนเองที่ศาลดีกว่าการชี้แจงผ่านทางเว็บไซต์
"ที่ผ่านมาพรรคไทยรักไทยก็ชี้แจงคดียุบพรรคผ่านทางเว็บไซต์ของพรรค ก็เป็นการชี้แจงเพียงด้านเดียว ไม่มีการแก้ข้อกล่าวหา แล้วก็มาเขียนว่าตุลาการรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจมาตัดสินแบบนี้ ดังนั้นผมเชื่อว่าการเปิดเว็บไซต์ของ พ.ต.ท.ทักษิณก็คงจะออกมาในทำนองเดียวกัน" โฆษก คมช. กล่าว
ส่งรายงาน "ทักษิณ" บรรยาย
ขณะที่ทางสถานเอกอัครราชทูต กรุงโตเกียว ได้จัดส่งเอกสารรายงานสรุปกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางมาบรรยายที่มหาวิทยาลัย Takushoku เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา ให้กับทางกระทรวงการต่างประเทศ โดยการบรรยายครั้งนี้มีการรายงานข่าวไปบ้างแล้ว ทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าวเป็นการสรุปเนื้อหาคำบรรยาย ตอนหนึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ มีการเล่าถึงนิทาน "เต่าและแมงป่อง" ที่เป็นเรื่องของแมงป่องขอขี่หลังเต่าข้ามแม่น้ำ ตอนแรกเต่าไม่ยอม แต่สุดท้ายจำยอม เมื่อข้ามได้แมงป่องก็หันมากัดเต่า เมื่อเต่าถามถึงเหตุผลการกัด แมงป่องบอกว่าเป็นสัญชาตญาณ โดยเป็นการเปรียบเทียบถึงระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม ที่ต้องเข้มแข็งและอยู่ร่วมกันอย่างสันติเป็นไปไม่ได้
นอกจากนี้ เนื้อหาการบรรยายพูดถึงเรื่องหลักเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม และแนวคิดทางการดำเนินนโยบายการลงทุน โดยพ.ต.ท.ทักษิณยังยกตัวอย่างถึงการเมืองในประเทศไทยด้วย พร้อมระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังมอบเงินบริจาคจำนวนหนึ่งให้กับทางมหาวิทยาลัยด้วย อีกทั้งยังให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เกียวโดนิวส์ภายหลังบรรยาย โดยระบุว่า จะไม่กลับประเทศเพื่อต่อสู้ คดีคอร์รัปชัน จนกว่าจะมั่นใจว่าการดำเนินคดี จะยุติธรรม และประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตย
รัฐบาลรับรองความปลอดภัย
ส่วนความคืบหน้าการตรวจสอบทุจริต ของ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น พล.อ.สุรยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ "เปิดบ้านพิษณุโลก" ถึงกรณีที่มีรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศในประเทศญี่ปุ่นระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์ว่า ตอนนี้กลับมาเมืองไทยไม่ได้ เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรมว่า คงปล่อยให้กระบวนการเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้ดำเนินการไปตามขั้นตอน รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลในภาพรวม ๆ เท่านั้นเอง เช่น การให้ความปลอดภัย เป็นต้น หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ตัดสินใจจะกลับมาสู้คดี กระบวนการยุติธรรมก็เป็นไปตามกระบวน เพราะ ฉะนั้นจะบอกว่าไม่เป็นธรรมคงไม่ใช่
เมื่อถามว่า มีข่าวลือเสมอว่าธงของ คมช. คือให้ พ.ต.ท.ทักษิณติดคุก ได้มีพูดคุยกันหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เรื่องข่าวลือนี้ลำบากที่จะไปห้าม คนมักจะพูดกันว่าธงเป็นอย่างนี้ ฟันธงเลย อะไรอย่างนี้เป็นต้น ตนคิดว่าการดำเนินการ เป็น เรื่องของรูปคดีและการสอบสวนพยานหลักฐาน เมื่อถามย้ำว่า อยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาหรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าพ.ต.ท. ทักษิณ ควรกลับมาสู้คดี ส่วนจะเป็นเวลา ไหนคงไปกำหนดไม่ได้ หากทางศาลพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเหมาะสมเมื่อไร ทางรัฐบาลก็พร้อมจะดูแลด้านความปลอดภัยของ พ.ต.ท. ทักษิณรวมถึงครอบครัว และบุคลากรทุกคนที่อยู่ในครอบ ครัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย
คตส.คุ้ยทุจริตสลากการกุศล
ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แก่รัฐ (คตส.) ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยนายอุดม เฟื่องฟุ้ง กรรมการ คตส.ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2-3 ตัว หรือหวยบนดิน กล่าวถึงความคืบหน้าว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนได้นัดกลุ่มผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดรวม 49 คน ให้มารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว โดยจะเริ่มเปิดให้ผู้ ถูกกล่าวหามารับทราบข้อกล่าวหาวันที่ 23 ก.ค. นี้เป็นต้นไป พร้อมได้ทำตารางเวลานัดหมายไว้แล้ว โดยไม่ได้กำหนดว่าเป็นกลุ่มใดมาก่อน แต่เป็นการกำหนดร่วมกันทั้ง 49 คน
รายงานข่าวแจ้งว่าทางสำนักงานการตรวจ เงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งมีคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา กรรมการ คตส.ในฐานะผู้ว่าการสตง. ได้รับรายงานมาว่า ตั้งแต่ปี 2544-2546 ในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯ มีการออกสลากการกุศล โดยพิมพ์เพิ่มจากสลากปกติอีก 16 ล้านฉบับต่องวด รวมแล้วมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 1.9 หมื่นล้านบาท แต่พบว่ามีการนำเงินดังกล่าวไปใช้โดยมิชอบเอื้อนโยบายประชานิยม เช่น บริจาคเงินให้วัด ให้ทุนการศึกษาเด็ก การใช้จ่ายเงินตามโครงการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ลงพื้นที่ หรือครม.สัญจร การนำเงินไปให้อดีต ส.ส.ไทยรักไทยเขียนโครงการพัฒนาพื้นที่ขึ้นมาแล้วส่งให้ฝ่ายการเมืองอนุมัติโครงการ ซึ่ง สตง.เตรียมเสนอผลการตรวจสอบเบื้องต้นให้กับคตส.ตรวจสอบต่อ โดยจะเสนอให้นายอุดม เป็นประธาน เนื่องจากเคยสอบเกี่ยวกับการออกหวยบนดินมาแล้ว
"แม้ว" ตั้งรร.สอนเด็กตีกอล์ฟ
นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ เปิดเผยผ่านทางโทรศัพท์หลังการเข้าพบพ.ต.ท.ทักษิณ ที่ร่วมประชุมกับสมาคมกอล์ฟอาชีพแห่งประเทศไทย ในฐานะนายกสมาคมฯที่เกาะฮ่องกง จากนั้นได้เปิดแถลงข่าว โดยได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศที่สอบถามเรื่องการเมืองอย่างมาก โดยในส่วนของสมาคมกอล์ฟ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า แม้จะเลิกเล่นการเมืองไปแล้วแต่ก็จะหันมาทำงานด้านกีฬาเต็มที่ โดยกอล์ฟเป็นกีฬาประเภทหนึ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะสนับสนุนเต็มที่
นายนพดล เปิดเผยต่อว่า เบื้องต้นจากที่ได้หารือกับสมาชิกในสมาคมถึงแนวทางและนโยบาย มีข้อสรุปว่าจะมีการขยายเครือข่ายนักกีฬากอล์ฟอาชีพ โดยจะจัดตั้งโรงเรียนสอนกอล์ฟให้กับประชาชนในประเทศไทย โดยเชิญโปรกอล์ฟจากต่างประเทศมาสอน และในอนาคต จะจัดตั้งทุนสนับสนุนให้กับคนทั่วไป ไม่จำกัดว่าต้องเป็นผู้มีเงินที่จะเล่นกีฬาชนิดนี้ได้ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ จะรับเป็นผู้หาสปอนเซอร์เองในโครงการฝึกนักกอล์ฟตั้งแต่วัยเด็ก และจะจัดการแข่งขันให้เป็นทัวร์ขนาดใหญ่มีเงินรางวัลสูง
ตีปี๊บผลงานฮุบ "แมนฯ ซิตี"
นายนพดล กล่าวว่า สำหรับเรื่องแมนเชสเตอร์ ซิตี พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ระบุว่าขณะนี้ได้เข้าไปบริหารกิจการเรียบร้อยแล้ว โดยนโยบายแรกคือจ้างสเวน โกรัน อีริคสัน เป็นผู้จัดการทีม และยังอยู่ในขั้นตอนหาซื้อตัวนักฟุตบอลเพิ่ม โดยเฉพาะตำแหน่งมิดฟิลด์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ทีม จากที่เคยถูกบอกว่าเป็นยักษ์หลับให้กลับมาเพิ่มลำดับชั้นในพรีเมียร์ลีก ซึ่งประชาชนอังกฤษให้การต้อนรับเป็นอย่างดี และ พ.ต.ท. ทักษิณ ยังกล่าวว่า การที่คนไทยเข้าไปบริหารจะถือเป็นโอกาสของคนไทยทั้งหมด
นายนพดล กล่าวต่อว่า ล่าสุด พ.ต.ท. ทักษิณ จะจัดทำโครงการแรกคือคัดสรรเยาวชนไทยเข้าไปฝึกหัดในโรงเรียนฝึกฟุตบอลของแมนฯ ซิตี คาดว่าจะเริ่มภายในไม่กี่สัปดาห์นี้ นอกจากนี้ ในวันที่ 4 ส.ค. จะมีการแข่งขันระหว่างทีมแมนฯ ซิตีและทีมบาร์เลนเซีย ที่ประเทศสเปน โดยจะนำนักร้องไทยกว่า 10 คน และอาหารไทยไปร่วมเปิดนิทรรศการ อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณ ตัดสินใจจะนำรายได้ส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือเด็กที่สูญเสียครอบครัว ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในอนาคตจะมีการตั้งแมนฯ ซิตี้ เอเชีย
สื่อนอกรุมซักวันกลับบ้าน
นายนพดล กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวต่างประเทศถึงการเดิน ทางกลับประเทศไทย หลัง คมช.และ พล.อ. สุรยุทธ์ เปิดทางให้กลับว่า จะกลับไทยเมื่อสถานการณ์เหมาะสม คาดว่าหลังเลือกตั้ง ส่วนคดีความต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของ คตส. พ.ต.ท.ทักษิณ ขอไม่ตอบ อย่างไรก็ตามสื่อต่างประเทศได้สอบถามเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ต.ท. ทักษิณ ได้ระบุว่ายังไม่ทราบว่าเนื้อหาเป็นอย่างไร แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ บอกว่าปกตินกก็ออกไข่เป็นนก ไม่ได้ออกเป็นอย่างอื่นฉันใด ดังนั้นจะไปคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างจากทหาร ที่ยึดอำนาจแบบเผด็จการ ก็คงจะเป็นประชาธิปไตยได้ยากฉันนั้น
เมื่อถามถึงการเปิดเว็บไซต์ ที่รัฐบาลและ คมช.ออกมาระบุว่าจะไม่บล็อก นายนพดล กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ไม่ปิดกั้น เพราะถึงอย่างไรก็ปิดกั้นไม่ได้ ขณะนี้ คมช.เองก็กำลังเสื่อม ก็ควรทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งนี้ยืนยันว่าภายในเดือนนี้ จะเป็นรูปเป็นร่าง ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำ
จัดกอล์ฟเฉลิมพระเกียรติฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การประชุมคณะกรรมการสมาคมกอล์ฟอาชีพฯ ชุดใหม่ ครั้งนี้จัดขึ้นที่โรงแรมมาโคโบโล เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ถือเป็นครั้งแรกของวงการกีฬาไทยที่คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ต้องประชุมกันนอกประเทศ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวต่อที่ประชุมว่า เป็นครั้งแรกที่ตนได้ร่วมประชุม และเห็นหน้าคณะกรรมการที่ร่วมกันทำงานทุกคน ตนเชื่อมั่นว่าการมาเป็นนายกสมาคมฯ ครั้งนี้ น่าจะทำให้วงการกอล์ฟอาชีพ มีความก้าวหน้ามากขึ้นได้ และถึงแม้ตนเองจะไม่ได้อยู่ในประเทศก็ตาม โดยการดำเนินงาน พ.ต.ท.ทักษิณ เปิดเผยว่า อาจต้องนำเงินจากมูลนิธิไทยคมมาใช้
ขณะที่นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น เลขาธิการสมาคมกอล์ฟฯ ซึ่งเดินทางไปร่วมประชุมด้วยนั้น เปิดเผยว่า คณะกรรมการของสมาคมกอล์ฟอาชีพฯ เข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อขอคำปรึกษา และพิจารณานโยบายการบริหารงานของสมาคมฯในปี 2550-2551 โดยมี 2 หัวข้อใหญ่ในการเข้าหารือ คือ การพัฒนาการแข่งขัน และการพัฒนา บุคลากร ปีนี้คาดว่าจะมีประมาณ 5 แมตช์ สำหรับรายการเมเจอร์นั้นคาดว่าไม่น่าจะต่ำกว่า 3 รายการ นอกจากนี้ยังมีรายการชาเลนจ์อีก 2 รายการ และรายการสุดท้ายคือ กอล์ฟเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเดือน ธ.ค.