อัยการโจทก์ยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 11 ส.ค.53 สรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 8 - 10 เม.ย.53 ภายหลังที่รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จำเลยกับพวกจำนวนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ร่วมกันชุมนุมและมั่วสุม ที่เวทีผ่านฟ้าลีลาศ และเวทีราชประสงค์ ทั้งที่จำเลยกับพวกทราบคำสั่งเจ้าพนักงานแล้วยังขัดขืนคำสั่งของเจ้าหน้าที่ไม่เลิกการชุมนุม และยังใช้กำลังทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ โดยมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดไม่ทราบชนิด ขนาด มีด ดาบ ท่อนไม้ ท่อนเหล็ก หนังสติ๊กหลายชิ้น ไม่ทราบจำนวนแน่ชัด เป็นอาวุธ ทำให้เจ้าหน้าที่ทหาร ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รวมทั้งทรัพย์สินของทางราชการและประชาชนเสียหาย
เหตุเกิดที่แขวงตลาดยอด , แขวงวัดโสมนัส , แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร , แขวงและเขตดุสิต , แขวงลุมพินี แขวงและเขตปทุมวัน กทม.จำเลยให้การปฏิเสธ
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.55 ว่า จำเลยกระทำการโดยเจตนาขัดคำสั่งและขัดขวางเจ้าหน้าที่ที่สั่งให้เลิกชุมนุม เพื่อปลุกระดมสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุมให้เกิดความฮึกเหิมใช้กำลังต่อสู้กับเจ้าหน้าที่จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ให้จำคุกจำเลย 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ต่อมาจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอให้รับรองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและอนุญาตให้จำเลยยื่นฎีกาได้
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ฎีกาของจำเลยไม่เป็นปัญหาสำคัญอันควรส่งศาลฎีกา อีกทั้งเป็นการยื่นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลจึงมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย เมื่อจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ให้ยกคำร้อง และให้ออกหมายจำคุกจำเลยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังฟังคำสั่งศาล เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัวนายสมชาย จำเลย ขึ้นรถไปควบคุมไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ทั้งนี้ นายสมชาย จำเลย เคยถูกจำคุกมาแล้วประมาณ 8 เดือน จึงยังเหลือโทษจำคุกอีกประมาณ 4 เดือน