‘ประยุทธ์2’ไม่เกินสิงหา ปรับใหญ่ครม. จ่อโละทิ้งทีมศก.ยกแผง

‘ประยุทธ์2’ไม่เกินสิงหา ปรับใหญ่ครม. จ่อโละทิ้งทีมศก.ยกแผง

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีมติตัดสิทธิทางการเมืองบุคคลที่ถูกถอดถอนในคดีทุจริตตลอดชีวิตว่า เป็นเรื่องของกฎหมายว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ตนไม่มีความเห็นเมื่อถามว่า นายกฯ คิดว่าอนาคตจะดีไหม ถ้ากำหนดประเด็นไว้ในรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไปดูคนว่าดีหรือไม่ดี ต้องดูคนก่อน ถ้าได้คนดีก็ดี ส่วนกระแสข่าวการปรับ ครม.เศรษฐกิจนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพียงว่า “ปรับมาสิ เสนอมาสิ ผมจะรับ เดี๋ยวผมไปคิดเอง”

‘ยงยุทธ’ชี้ปรับครม.สิทธินายกฯ

ด้าน นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวปรับ ครม.ว่า ตลอดการทำงานของ ครม.ชุดนี้ ทุกคนทำงานหนัก ทำกันเต็มที่แล้ว หากจะปรับครม.จริง แน่นอนก็เป็นสิทธิของนายกฯเป็นคนตัดสินใจ หากจะปรับเปลี่ยนให้ใครออก เมื่อถามว่า แต่ก็มีการมองกันว่าที่นายกฯไม่กล้าปรับใครออก เพราะเกรงใจเนื่องจากเป็นคนที่นายกฯไปขอให้มาช่วยทำงานทั้งนั้น นายยงยุทธ กล่าวว่า ตนว่านายกฯไม่ได้เกรงใจ แต่ท่านเห็นในความตั้งใจและพูดอยู่เสมอว่า ทุกคนสู้งานกันเต็มที่ ส่วนที่มีเสียงเรียกร้องให้ปรับครม.โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจออกนั้น ตรงนี้นายกฯตอบไปแล้ว ตนคงไม่มีความคิดเห็น

ปรับใหญ่ไม่เกินสค.-โยงโผทหาร

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า การปรับ ครม.ประยุทธ์2 ล่าสุดค่อนข้างชัดเจนว่าจะมีการปรับครม.แน่นอน อย่างเร็วสุดก่อนสิ้นเดือนกรกฎาคมและอย่างช้าที่สุดก่อนวันที่ 12สิงหาคม โดย พล.อ.ประยุทธ์ จะตัดสินใจปรับใหญ่ เนื่องจากบริหารงานเกือบครบ 1ปี อยากปรับพร้อมกันในคราวเดียว ไม่อยากเปลี่ยนบ่อยเพราะเกรงใจ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นคนที่นายกฯเชิญมา อย่างไรก็ตามการปรับครม.ครั้งนี้จะเน้นไปที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลในขณะนี้ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นโดยรวมของรัฐบาล มีความเป็นไปได้จะปรับออกเกือบทั้งหมด โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจส่วนใหญ่เป็นทีมที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ชักชวนเข้ามารับตำแหน่ง ขณะเดียวกันการปรับ ครม.ครั้งนี้ จะนำโผโยกย้ายนายทหารประจำปีมาประกอบการตัดสินใจด้วย เพื่อเกลี่ยตำแหน่งเกลี่ยวโควตาให้ได้รับความพึงพอใจทุกฝ่าย

ปชป.จี้เด้ง’หม่อมอุ๋ย’งานอืด

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต สส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระแสข่าวปรับครม.ว่า ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังดีกว่าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ถ้าต้องการปฏิรูปต้องเปลี่ยนหัวหน้าทีมเศรษฐกิจคือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ทั้งที่มีโอกาสบริหารเศรษฐกิจหลังการรัฐประหาร 2ยุคคือ ยุค คสช.และยุคคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) แต่ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ ทำได้แค่ประคับคองเศรษฐกิจเท่านั้น เพราะไม่มีนโยบายเชิงรุกและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ทันท่วงที ทั้งเรื่อง ประมงและกรณีปัญหาIKO เรื่องการบินขึ้นธงแดงประเทศไทย เพราะไม่มีการเดินเกมล่วงหน้า

‘บิ๊กโด่ง’ปัดห้ามบินวันเกิด’แม้ว’

ขณะที่ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและผบ.ทบ.ในฐานะเลขาธิการ คสช.ให้สัมภาษณ์กรณีอดีตรัฐมนตรีและแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศ ว่า ไม่ได้ห้ามอะไร แต่ยังไม่เห็นมีการขออนุญาตเพื่อไปร่วมงานวันเกิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่อย่างใด หากไปต้องขอให้เป็นกิจที่มีเหตุผลก็แล้วกัน ถ้าไปแล้วไม่ส่งผลกระทบหรือสร้างความเสียหายก็ไม่ได้ห้าม เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวออกมาว่า ทหารห้ามไม่ให้กลุ่มคนเหล่านี้ไปต่างประเทศ พล.อ.อุดมเดชตอบว่า ถ้าไปแล้วส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือไปร่วมกันคิดในทางไม่เรียบร้อย เราก็คงให้ไปไม่ได้ แต่ถ้าไปติดต่อธุรกิจ เยี่ยมบุตร แบบนี้เราไม่เคยห้าม ทหารให้โอกาสทุกคน แต่ที่ไปประชุมประเทศนั้นประเทศนี้เพื่อให้รัฐบาลเดินไม่ได้ก็ไม่ควร

เมื่อถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ขออนุญาตไปต่างประเทศหรือไม่ พล.อ.อุดมเดช ตอบว่า ถ้ามีใครก็ตามที่ศาลไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ ก็ไปไม่ได้ หรือถ้ามีชื่อถูกควบคุมอยู่ แม้ไม่ติดคำสั่งศาลก็ให้ไปไม่ได้ แต่ยังไม่พบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขออนุญาตไปต่างประเทศแต่อย่างใด

กมธ.ยันตัดสิทธิ์สกัดคนไม่ดี

ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมี นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธาน กมธ.ยกร่างฯคนที่2 เป็นประธาน มีวาระรับรองรายงานการประชุมที่ค้างการพิจารณากว่า 20เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ค้างจากการประชุมที่พัทยา จ.ชลบุรี รวมทั้งจะพิจารณารายงานหมวดปฏิรูป การสร้างความปรองดองและบทบัญญัติในบทเฉพาะกาลด้วย

ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายมานิจ ระบุว่า จากกรณีมีข่าววิพากษ์วิจารณ์เรื่องประเด็นตัดสิทธิการเมืองตลอดไปของนักการเมืองที่กระทำทุจริตและให้มีผลย้อนหลังนั้น เป็นการบิดเบือนและคิดแบบ”ศรีธนญชัย”ยืนยันว่า ไม่ได้มีข้อห้าม หรือมีผลย้อนหลัง แต่เป็นข้อห้ามของผู้ที่กระทำผิด เพื่อไม่ต้องการให้คนไม่ดีเข้าสู่ระบบการเมือง

มติเอกฉันท์ยืดทำงานอีก30วัน

ต่อมา ในการประชุมช่วงบ่าย กมธ.ยกร่างฯ ได้หารือเรื่องขอขยายเวลาทำงานของ กมธ.ยกร่างฯ ออกไปอีก 30วัน หลังการประชุม พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างฯกล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้ขยายเวลาพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญอีก 30วัน ซึ่งจะครบกำหนดส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ สปช.ในวันที่ 22สิงหาคมนี้ ซึ่ง สปช.มีเวลาพิจารณาภายใน 15วัน ก่อนจะลงมติรับหรือไม่รับร่างช่วงวันที่ 5-7กันยายนนี้

กรรมการบริหารพรรคไม่เกี่ยว

นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ปัญหาที่มีหลายฝ่ายสงสัยเรื่องความชัดเจนเกี่ยวกับขอบเขตการตัดสิทธิ์ผู้สมัครเ สส.ในมาตรา111(8) ที่บัญญัติว่า บุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่า การกระทำการทุจริต หรือประพฤติมิชอบ หรือกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม จะไม่สามารถลงสมัครส.ส.นั้น กมธ.ยกร่างฯ จะบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่า จะจำกัดสิทธิ์เฉพาะบุคคลที่เป็นตัวการที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและไม่เที่ยงธรรม ส่วนกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองจากการกระทำของบุคคลที่เป็นตัวการดังกล่าวจะไม่ถูกตัดสิทธิ์ในการลงสมัครเลือกตั้ง

คดีไม่ถึงที่สุดยังลงชิงสส.ได้

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า เช่นเดียวกับผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่า กระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ คณะกมธ.ยกร่างฯจะบันทึกในเจตนารมณ์ว่า จะต้องเป็นกรณีที่บุคคลถูกคำพิพากษาถึงที่สุดว่า มีความผิดฐานทุจริตเท่านั้นถึงจะไม่มีสิทธิ์สมัครส.ส. แต่หากเป็นกรณีที่บุคคลถูกคำสั่งของคณะกรรมการป้องกันละปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่ามีความผิด โดยศาลยังไม่มีคำพิพากษาให้ถึงที่สุดจะยังมีสิทธิ์สมัครเลือกตั้ง ส.ส.ได้

สปช.ชี้111-109แบนแค่รายตัว

ขณะเดียวกัน มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมี น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช.คนที่2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม ประธานได้เปิดโอกาสให้สมาชิกหารือ โดย นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิก สปช.หารือว่า ขณะนี้ประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากเรื่องการตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตคนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งตนได้หารือกับนักกฎหมายและได้บอกไปว่า ไม่ใช่การลงโทษย้อนหลัง แต่เป็นการกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามทางการเมือง ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี40และรัฐธรรมนูญปี50 กำหนดสิ่งเหล่านี้ไว้ว่า คนที่โกง คนที่ต้องคำพิพากษาจำคุก คนที่ให้ออกจากราชการและคนที่ถูกยึดทรัพย์ ต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่คนที่ติดร่างแห่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นบ้านเลขที่111และบ้านเลขที่109 ก็จะโดนเฉพาะตัวบุคคลไม่ใช่คนที่ติดร่างแห

ซัดพวกวัวสันหลังหวะร้อนตัว

นายประสาร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังเเดินตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว2557 มาตรา35 ที่ระบุว่า กมธ.ยกร่างฯต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุม โดยเฉพาะข้อ4 กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริต หรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต หรือเที่ยงธรรมเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด ความหมายคือ ถ้าหากมีความผิดฉกรรจ์ก็ต้องตลอดชีวิต

“ถ้าเปรียบก็เหมือนแตงโมเน่าใน เน่าทั้งลูก เราจะกินหรือไม่ ในเมื่อจะทำให้ท้องเสีย ว่าไปแล้วอาการแบบนี้ คือ วัวสันหลังหวะ ที่ทำความผิดแล้วออกมาโวยวาย ผมเชื่อว่าข้อบัญญัตินี้ประชาชนทั้งประเทศต้อนรับ จะมีก็แต่คนที่ทำความผิดไว้ที่เดือดเนื้อร้อนใจ’ นายประสาร กล่าว

4องค์กรร่วมค้านพรบ.วิชาชีพสื่อ

ด้านคณะทำงานเพื่อการปฏิรูปสื่อ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทน 4องค์กรสื่อ คือ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ สปช.ทบทวน พรบ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ....ซึ่ง สปช.ให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมและกำลังเปิดให้สมาชิก สปช.ที่ไม่เห็นด้วยเสนอญัตติแก้ไขก่อนจะส่งร่างให้ ครม.ภายใน 7วัน

แนะฟังข้อท้วงติดสปช.ข้างน้อย

คณะทำงานเพื่อการปฏิรูปสื่อเห็นว่า ข้อท้วงติงของสมาชิก สปช.เสียงข้างน้อยซึ่งระบุว่า ร่างดังกล่าวมีข้อบกพร่องหลายประการ เช่น การตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติขึ้น โดยกำหนดให้รัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนกำหนดให้องค์กรนี้มีรายได้และทรัพย์สิน จากเงินที่รัฐจ่ายให้เป็นทุนประเดิมและรายได้ 5% หรือไม่ต่ำกว่า 50ล้านบาท จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ต้องส่งคืนให้รัฐ จะทำให้วิชาชีพสื่ออยู่ภายใต้การกำกับของรัฐนั้นฯลฯ เป็นข้อท้วงติงที่มีเหตุผลและเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องกังวล

บางเนื้อหาขัดหลักกม.ทั่วไป

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวยังมีความบกพร่องอื่นอีกหลายประการ เช่น ความเหมาะสมของการออกใบรับรองผู้ประกอบวิชาชีพโดยอ้อม ซึ่งเท่ากับเป็นการใช้อำนาจควบคุมคนที่จะเข้ามาประกอบวิชาชีพนี้ตั้งแต่ต้น ให้อำนาจองค์กรควบคุมสื่อใหม่อย่างกว้างขวาง แต่ขาดกลไกด้านกระบวนการและวิธีพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมที่ต้องโปร่งใส ชัดเจน ตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่ง ที่จะทำให้การกำกับดูแลจริยธรรมสื่อมีประสิทธิภาพ บางมาตราส่อว่า จะขัดหลักกฎหมายทั่วไป เช่น ถ้าผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทำผิดให้ถือว่า เจ้าของกิจการหรือผู้บังคับบัญชาของผู้ประกอบวิชาชีพผู้นั้น กระทำการฝ่าฝืนและต้องร่วมรับผิดด้วย ซึ่งเป็นการกำหนดความรับผิดแบบเคร่งครัด มีหลายกรณีที่มีการตรากฎหมายเช่นนี้แล้วเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญปรากฏว่า ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า เป็นการตรากฎหมายที่มิชอบ ฯลฯ

หวั่นรบ.คุมเบ็ดเสร็จ-จี้ทบทวน

คณะทำงานเพื่อการปฏิรูปสื่อ มีความเห็นว่า โดยเนื้อแท้ของร่างกฎหมายฉบับนี้แล้ว มิได้เอื้ออำนวยให้เกิดการปฏิรูปสื่อแต่อย่างใด การออกแบบองค์กรสื่อที่จะมาทำหน้าที่ในการกำกับดูแลสื่อก็ทำโครงสร้างคล้ายกับระบบราชการคือ มีทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เมื่อมีปัญหาก็ไม่มีกระบวนการพิจารณาที่โปร่งใส พึ่งพิงทุนและอำนาจรัฐ จนทำให้สูญเสียหลักการความเป็นอิสระของการทำหน้าที่ กลไกที่คิดขึ้นไม่มีการถ่วงดุลหรือมีกลไกความรับผิดรับชอบ ไม่มีมาตรการปกป้องสื่อมวลชนเมื่อถูกคุกคามฯลฯโดยรวมแล้ว เป็นการทำให้กระบวนการกำกับดูแลสื่อถอยหลังไปยิ่งกว่า ที่ทำมาร่วม 2ทศวรรษเสียด้วยซ้ำและสปช.มีมติเช่นนี้ เท่ากับออกกฎหมายให้ควบคุมสื่อทั้งระบบอย่างเบ็ดเสร็จ จะกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงอานุภาพหากมีรัฐบาลที่ไม่มีความประสงค์ดีเพราะรัฐบาลที่มีลักษณะเช่นนั้นจะใช้ทุนและอำนาจตามกฎหมายเข้ามาครอบงำสื่อได้โดยตรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสังคม จึงอยากให้ สปช.ควรทบทวนแก้ไขโดยด่วนและคณะทำงานจะเร่งทำข้อเสนอและข้อทักท้วงถึง กมธ.ยกร่างฯต่อไป

บิ๊กต๊อกย้ำส่งข้ามแดนเรื่องยาก

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงการพูดคุยกับทูตญี่ปุ่นเกี่ยวกับการส่งตัว นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ที่หนีคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช.ไปประเทศญี่ปุ่นว่า ท่าทีของทางญี่ปุ่นก็เหมือนกับฝรั่งเศสคือรับคำชี้แจงของเราและจะส่งไปที่รัฐบาลเขา ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางญี่ปุ่นให้ความหวังเราหรือไม่ ที่จะส่งตัวนายปวิน กลับมาประเทศไทย พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ความจริงการพูดคุยตนก็ไม่ได้ขอให้ทางญี่ปุ่นส่งตัวมาอยู่แล้ว เพียงแต่ชี้แจงให้เขารับทราบว่านายปวิน มีความผิด ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเมือง การที่เขาอ้างว่าลี้ภัยทางการเมืองนั้น มันไม่มีเหตุผลทางการเมือง เราไม่ได้ละเมิดกฎหมายเขา ซึ่งทูตญี่ปุ่นก็เข้าใจและบอกว่าจะนำไปแจ้งต่อรัฐบาลเขา

ด้าน นายดอน ปรมัตวินัย รมช.ต่างประเทศ กล่าวว่า การที่จะให้ทางญี่ปุ่นส่งตัวนายปวินมาให้เรา คิดว่าคงไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะการส่งตัวแต่ละประเทศก็ต้องพิจารณากฎหมายของประเทศเขาด้วย ไม่ใช่ว่าเราขอตัวแล้วจะได้ทันที มันต้องมีขั้นตอนดำเนินการ และคงไม่เร็ว

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์