สื่อท้องถิ่นในตุรกีต่างรายงานข่าว ที่กลุ่มผู้ประท้วงชาวตุรกีก่อเหตุโจมตีสถานกงสุลไทยในนครอิสตันบูล เมื่อคืนวันพุธ(ตามเวลาท้องถิ่น) ก่อนทั้งทุบกระจก หยิบฉวยและรื้อค้นข้าวของภายในตัวอาคาร เพื่อประท้วงต่อกรณีที่ไทยส่งชาวมุสลิมอุยกูร์เกือบ 100 คนกลับไปจีน
สำนักข่าวโดกันของตุรกี และสถานีโทรทัศน์หลายช่อง แพร่ภาพที่กลุ่มผู้ประท้วงในนครอิสตันบูลขว้างก้อนหิน ทุบกระจก บุกเข้ามาภายในสถานกงสุลไทย และขว้างปาสิ่งของลงพื้นเมื่อค่ำวันพุธ สถานกงสุลได้รับความเสียหายบางส่วน ขณะที่มีรายงานผู้ก่อเหตุถูกจับกุมอย่างน้อย 9 คน ส่วนสาเหตุสื่อตุรกีรายงานว่า เพื่อตอบโต้ทางการไทยที่ส่งผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมอุยกูร์เกือบ 100 คนกลับประเทศจีน
พลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวอย่างเป็นทางการต่อกรณีดังกล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ได้พูดคุยทางโทรศัพท์หารือกับนายกรัฐมนตรีตุรกี เพื่อขอให้ช่วยดูแลความปลอดภัยเจ้าหน้าที่สถานทูตรวมถึงคนไทยในประเทศตุรกี ขณะเดียวกันได้กำชับให้กระทรวงการต่างประเทศประสานงานดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยอาจพิจารณาปิดสถานกงสุลหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น พร้อมยืนยันว่า การที่ทางการไทยส่งชาวมุสลิมกุยอูร์กลับประเทศจีนไปเมื่อวันพุธ เป็นไปตามขั้นตอนและระเบียบวิธีการในการพิสูจน์สัญชาติว่า ชาวอุยกูร์กลุ่มนี้ มีสัญชาติจีนและต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ด้านสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอังการา ประเทศตุรกี ได้ประกาศผ่านทางเว็บไซต์ เตือนพลเมืองไทยราว 1,300 คนที่อาศัยในตุรกีให้เพิ่มความระมัดระวัง และเตือนนักท่องเที่ยวไทยที่จะเดินทางไปตุรกีในช่วงนี้ โดยเฉพาะที่เดินทางเป็นคณะ ควรเพิ่มความระมัดระวังที่เดินทางไปเยือนในทุกๆ เมืองของตุรกี โดยหัวหน้าคณะนักท่องเที่ยวหรือทัวร์ไกด์ ไม่ควรใช้ธงชาติไทยเป็นสัญลักษณ์ และควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีการชุมนุม รวมทั้งไม่ถ่ายภาพการชุมนุม เนื่องจากจะทำให้กลุ่มเป็นจุดสนใจ ทั้งนี้ ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา กลุ่มนักท่องเที่ยวเอเชียที่ถูกเข้าใจว่าเป็นชาวจีน ถูกกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งพยายามเข้าทำร้าย แต่เจ้าหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ เหตุการณ์ดังกล่าวว่าเกิดขึ้นบริเวณเมืองเก่าใน นครอิสตันบูล นอกจากนี้ ทางสถานทูตยังประกาศปิดบริการด้านกงสุลของสถานทูต เป็นเวลา 1 วัน แต่ส่วนการทำงานของสถานทูตในด้านอื่นๆ ยังคงดำเนินงานไปเป็นปกติ
ทั้งนี้ กลุ่มสิทธิมนุษยชนแสดงความกังวลว่า การที่รัฐบาลไทยส่งกลับชาวมุสลิมอุยกูร์ตามแรงกดดันของทางการจีน เป็นการละเมิดกฏหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน และว่าชาวอุยกูร์กลุ่มนี้อาจต้องรับโทษหรือโดนทำร้ายเมื่อถูกส่งกลับไปตามเดิม สำหรับสถานการณ์ของชาวอุยกูร์ในจีนเป็นประเด็นที่ตุรกีให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากชาวตุรกีหรือชาวเติร์กหลายคนมองว่าชาวอุยกูร์เป็นกลุ่มมุสลิมที่มีวัฒนธรรมและศาสนาคล้ายกัน และตุรกีก็เป็นแหล่งที่อยู่ของกลุ่มชาวอุยกูร์จำนวนมาก จีนเป็นที่อยู่อาศัยของชาวมุสลิมราว 20 ล้านคนซึ่งในนั้นเป็นกลุ่มชาวอุยกูร์ และมีชาวอุยกูร์นับร้อยถึงพันคนที่อพยพหนีเหตุความไม่สงบในเขตปกครองตนเองซินเจียงทางตะวันตกของจีน