วิจัย กอส.ระบุชัด รัฐไม่เข้าใจใช้สันติวิธีดับไฟใต้

วิจัย กอส.ระบุชัด รัฐไม่เข้าใจใช้สันติวิธีดับไฟใต้

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 4 เมษายน 2549 20:15 น.

ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

งานวิจัยการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีภาครัฐของกอส.ระบุชัด ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองในพื้นที่ 3 จังหวัดยังไม่เข้าใจและรับรู้แนวทางสันติวิธี เนื่องจากเงื่อนไขข้อจำกัดของการถ่ายทอดจากฝ่ายนโยบายสู่ฝ่ายปฏิบัติ แนะต้องเร่งสร้างความเข้าใจและเชื่อมั่นกับระดับล่าง รวมถึงสร้างกิจกรรมสันติวิธีและพัฒนารูปแบบวิธีการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง

ผลการวิจัยพบว่า ในภาพรวมระดับความเข้าใจและการรับรู้ในแนวคิดและแนวทางสันติวิธีตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 187/ 2546 ของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครองในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานีและนราธิวาส ยังไม่มีความชัดเจนพอ รายงานการวิจัย เรื่อง ระดับการเรียนรู้และเข้าใจการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานีและนราธิวาส (คำสั่งสำนักนายก รัฐมนตรีที่ 187/ 2546) ระบุ

รายงานวิจัยฉบับดังกล่าว จัดทำโดย ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ภายใต้จุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาวิจัยระดับความเข้าใจและการรับรู้ ในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 187 /2546 ของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส รวมถึงศึกษาความเห็น ความเข้าใจในแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีต่อการแก้ไขปัญหา รวมถึงเสนอข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนตามคำสั่งดังกล่าวให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้งานวิจัยฯ ซึ่งนำเสนอต่อคณะทำงานเตรียมความพร้อมและขับเคลื่อนแนวทางสันติวิธีในภาครัฐ ในคณะอนุกรรมการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมาน ฉันท์แห่งชาติ(กอส.) เห็นว่า ความไม่ชัดเจนในแนวทางสันติวิธีของภาครัฐ น่าจะเกิดจากวิธีการในการปฏิบัติตามแนวทางสันติวิธีด้วยการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติของระบบราชการไทย ไม่เอื้อต่อผู้ปฏิบัติระดับล่างให้รับรู้และเข้าใจในนโยบาย

ประกอบกับวัฒนธรรมองค์กร ประสบการณ์จากการทำงาน และภูมิหลังของเจ้าหน้าที่แต่ละคน มีผลโดยตรงต่อการอยากรับรู้หรือปฏิเสธที่จะเรียนรู้ในคำสั่งฯ และส่งผลต่อความเข้าใจในแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ดี แม้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นเห็นพ้องว่า สันติวิธีเป็นแนวทางการจัดการความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นว่าเป็นทิศทางที่ถูกต้อง เป็นการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน และต้องใช้เวลา แต่ความเชื่อ มั่นในพลังสันติวิธีต่อการแก้ไขปัญหา จะมีความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมองค์กรที่เจ้าหน้าที่รัฐสังกัด

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่รัฐส่วนใหญ่เห็นร่วมกันว่า การบริหารจัดการแนวทางสันติวิธีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เนื่องจากผู้ที่แปลงคำสั่งฯ ขององค์กรรัฐกลุ่มเป้าหมายมาสู่กลยุทธ์ในการปฏิบัติ ยังไม่เข้าใจแก่นแท้ของคำสั่งฯ และการใช้สันติวิธีในพื้นที่ยังไม่สอดคล้องกัน

รายงานฉบับดังกล่าวยังนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนฯ เพื่อให้เกิดผลในทางรูปธรรมโดยเสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี (กยส.) สร้างความเข้าใจกับบุคคลระดับนโยบายของทุกองค์กรรัฐกลุ่มเป้าหมายคือ ทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครอง ให้มีความเข้าใจในคำสั่งฯ อย่างชัดเจน

รวมถึงตระหนักถึงความสำคัญของคำสั่งฯ เพื่อให้องค์กรรัฐกลุ่มเป้าหมายได้แปลงคำสั่งฯ สู่การปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามกรอบเกณฑ์ของคำสั่ง ในขณะเดียวกันควรจะมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในปัจจัยที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีความเข้าใจความหมายของสันติวิธีที่แตกต่างกันด้วย

นอกจากนั้นจะต้องการสร้างความเชื่อมั่นในพลังสันติวิธีต่อการแก้ไขปัญหา ควรเสนอแนะและผลักดันให้องค์กรรัฐกลุ่มเป้าหมายได้ปรับเปลี่ยนวิธีการขับเคลื่อนคำสั่งฯ หรือพัฒนาวิธีการขับ เคลื่อนคำสั่งฯ ให้มีประสิทธิภาพเกิดขึ้นกว่าเดิมในแต่ละหน่วยงาน อาทิ มีการแจกจ่ายเอกสารคำสั่งฯ ควบคู่คำสั่งเฉพาะลงมาเป็นลำดับขั้นเพื่อให้ผู้ปฏิบัติระดับล่างสุดได้เข้าในสาระของคำสั่งฯ อย่างครบถ้วน การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ด้านยุทธการ การข่าว ฯลฯ ให้เข้าใจในเรื่องสันติวิธี รวมถึงควรมีวิชาสันติวิธีในหลักสูตรการศึกษา เป็นต้น

งานวิจัยยังเสนอว่า จะต้องมีกิจกรรมด้านสันติวิธีกับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างต่อเนื่อง โดยมี ความมุ่งมั่น ที่จะสถาปนาแนวคิดสันติวิธี ให้เข้าไปมีบทบาทต่อการแก้ไขปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการศึกษาพัฒนารูปแบบการแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงด้วยสันติวิธี

การนำแนวทางสันติวิธีไปใช้ในพื้นที่3จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำเป็นต้องเข้าใจและตระหนักของลักษณะเฉพาะของพื้นที่ ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิต รวมทั้งสถานการณ์ที่เป็นประเด็นปัญหา .... ทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาความขัดแย้ง ต้องสร้างและถ่ายทอดวัฒนธรรมองค์กรในเรื่องการจัดการปัญหาด้วยสันติวิธีให้อยู่ในจิตสำนึก เพื่อให้การจัดการปัญหาด้วยสันติวิธีให้อยู่ในจิตสำนึก เพื่อให้การจัดการปัญหาด้วยสันติวิธีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

------

คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๑๘๗/๒๕๔๖
เรื่อง นโยบายการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี


เนื่องจากความขัดแย้งในสังคมไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ขณะที่พฤติกรรมของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนกติกาทางสังคม วิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ความไม่ไว้วางใจระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก ความขัดแย้งภายในประเทศที่มีมากและหลากหลายรูปแบบ เป็นสัญญาณบอกเหตุว่า สังคมไทยต้องเร่งรีบเตรียมการทบทวนและพัฒนาวิธีจัดการกับความขัดแย้งที่เคยใช้ในอดีต ซึ่งดูจะไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะทำให้สังคมสงบ เป็นธรรม และอยู่เย็นเป็นสุขทั่วหน้าในปัจจุบัน การใช้ความรุนแรงในสังคมจะมีต้นทุนทางสังคมสูง เพราะทำให้เกิดความเกลียดชัง และความแตกแยกที่ยากจะสมาน นับเป็นปัญหาความมั่นคงที่ร้ายแรง

เพื่อให้มีความพร้อมยิ่งขึ้นในการพัฒนาและแสวงหาวิธีจัดการความขัดแย้งในรูปแบบใหม่ และเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น วิธีการจัดการความขัดแย้งที่เหมาะสม จึงเป็นหัวใจสำคัญที่มีผลต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมืองที่ปรารถนา ดังนั้นยุทธศาสตร์สันติสันติวิธีเพื่อความมั่นคงของชาติจึงต้องได้รับความสนใจจากทุกฝ่าย และป้องกันการขาดศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตย

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหาราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

๑. ให้องค์กรรัฐให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามนโยบายการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ซึ่งเป็นการนำเสนอนวัตกรรมความมั่นคงของชาติที่ให้ความสำคัญในการปกป้องวิถีชีวิต ด้วยสายสัมพันธ์ที่เข้มแข็งทั้งระหว่างผู้คนทุกผู้เหล่า และระหว่างรัฐกับประชาชนด้วยสันติวิธี ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบัน ลดความขัดแย้งที่ไม่จำเป็นในอนาคตและเป็นการฟื้นฟูความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อรัฐ

คำสั่งนี้จะเป็นการเชื่อมโยงแนวทางสำคัญของ ยุทธศาสตร์สันติวิธีเพื่อความมั่นคงของชาติ กับ นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ ที่เน้นการเสริม สร้างพลังความสามัคคีบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในบรรยากาศของการมีทัศนคติที่ดี ห่วงใย เอื้ออาทร ทำให้คนในชาติอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขบนพื้นฐานของความหลากหลายในวิธีคิด วิถีชีวิต และวัฒนธรรม โดยอาศัยจินตนาการและพลังปัญญา พร้อมเผชิญและเรียนรู้การแก้ไขปัญหาร่วมกัน และไม่ใช้ความรุนแรงต่อกันเมื่อเกิดความขัดแย้งโดยความเห็นต่างกัน

หลักการ
๒.๑ บรรทัดฐานการจัดการความขัดแย้ง ต้องยึดมั่น สันติวิธี เป็นวิธีเดียวที่เป็นธรรมและสร้างความสงบสุขที่ยั่งยืนโดยเริ่มต้นที่รัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อน

๒.๒ ทัศนคติที่จะรองรับสันติวิธี คือ การลดอคติ และไม่มีความเกลียดชังต่อคนที่มีความแตกต่าง โดยไม่เห็นว่าเป็นศัตรู แต่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เป้าหมายในการใช้สันติวิธีต้องเป็นธรรม ฝ่ายรัฐต้องยอมรับภาระบางประการเพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติ และความอยู่เย็นเป็นสุขที่ยั่งยืนของประชาชน

๒.๓ บรรยากาศและเวทีที่จะนำไปสู่การเกิดความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเกิดการเรียนรู้และพัฒนารูปแบบวิธีการจัดการที่เหมาะสมกับสังคมไทย โดยเฉพาะจากภูมิปัญญาที่หลากหลายและมีคุณค่าในสังคมไทย ต้องอยู่บนฐานคิดที่ว่า ความหลากหลายทางความเห็นและความแตกต่างทางวัฒนธรรมเป็นฐานพลังของสังคมไทย ซึ่งจะทำให้มีทางเลือกหลายทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง

วัตถุประสงค์
๓.๑ สร้างบรรทัดฐานใหม่ ให้กับสังคมในการจัดการความขัดแย้ง ด้วยการสร้างเกณฑ์ที่ทำให้องค์กรรัฐปรับเปลี่ยนวิธีคิด และวิธีการทำงาน รวมทั้งการปรับกลไกการทำงาน และมีกระบวนการดำเนินการที่สามารถตรวจสอบและประมวลผลการดำเนินการได้

๓.๒ ฟื้นคืนความไว้วางใจ ระหว่างรัฐและประชาชน ซึ่งจะทำให้บทบาทของภาครัฐและภาคประชาชนได้รับการยอมรับโดยไม่แบ่งพรรคแยกพวก เพื่อความมั่นคงที่ยั่งยืนในสังคมไทย

๓.๓ ขจัดความเกลียดชังหรืออคติที่เริ่มปรากฏขึ้นในสังคมไทย เมื่อความขัดแย้งขยายตัวไปกระทบกับความแตกต่างทางวัฒนธรรม หรือเมื่อมีการให้คุณค่ากับการดำเนินวิถีชีวิตที่แตกต่าง

กลุ่มเป้าหมาย
๔.๑ องค์กรรัฐที่มีโครงการขนาดใหญ่ หมายถึง โครงการที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง

๔.๒ องค์กรรัฐที่มีส่วนสำคัญในการจัดการความขัดแย้ง โดยเฉพาะฝ่ายปกครอง ตำรวจ และทหาร

แนวทางการปฏิบัติและเกณฑ์การประเมินผล
ให้องค์กรตามกลุ่มเป้าหมาย กำหนดแนวทางการปฏิบัติในการจัดการความขัดแย้ง เกณฑ์การประเมินผล และการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนี้

๕.๑ แนวทางการปฏิบัติ

๕.๑.๑ ประกาศวิสัยทัศน์ ปรัชญา และยุทธศาสตร์ขององค์กรที่สะท้อนถึงความเข้าใจในคุณค่าของการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี

๕.๑.๒ ให้มีบุคลากรที่มีความสามารถ ในการดำเนินการ ตามนโยบายการจัดการ ความขัดแย้งด้วยสันติวิธีทั้งในระดับบริหารและในระดับปฏิบัติ และให้มีการพัฒนาบุคลากร การจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี โดยให้มีการศึกษาและฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมความเข้าใจด้วยสันติวิธี ทั้งในเรื่องปรัชญาความคิดสันติวิธี การต่อสู้อย่างสันติวิธีของภาคประชาชน การเจรจาต่อรอง การไกล่เกลี่ยโดยอาศัยคนกลางและกระบวนการอื่นๆ เพื่อให้บุคลากรภาครัฐมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งโดยตรง และที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ซึ่งมีผลต่อความขัดแย้งมีความเข้าใจและมีทักษะในการเผชิญกับความขัดแย้งด้วยสันติวิธี

๕.๑.๓ วางระบบการจัดการปัญหาความขัดแย้ง ดังนี้
๑) ป้องกันความขัดแย้งมิให้กลายเป็นความรุนแรงด้วยความ โปร่งใส ของโครงการ โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของฝ่ายต่างๆอย่างแท้จริง

๒) จัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นด้วยการเคารพสิทธิของประชาชน และให้มีการสื่อสารสองทางระหว่างฝ่ายต่างๆ บนพื้นฐานของความเสมอภาค ปราศจากอคติและความเกลียดชัง เพื่อให้การจัดการความขัดแย้งมีความคืบหน้าอย่างสร้างสรรค์

๓) จัดการความขัดแย้งที่กำลังจะกลายเป็นความรุนแรง โดยอาศัยบุคลากรที่มีทัศนคติต่อคู่ขัดแย้งอย่างฉันท์มิตร มีความเข้าใจเรื่องสันติวิธีอย่างชัดเจน และมีทักษะในการเผชิญกับความขัดแย้ง

๕.๒ เกณฑ์การประเมิน
๕.๒.๑ มีระบบการประเมินผลภายในองค์กรเกี่ยวกับความก้าวหน้าของการดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติ ในข้อ ๕.๑

๕.๒.๒ ดำเนินการประเมินผลตนเองตามแนวทางปฏิบัติในข้อ ๕.๑ อย่างเป็นระบบปีละ ๑ ครั้ง แล้วนำเสนอผลการประเมินต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี (กยส.) เพื่อประมวลแล้วจัดทำรายงาน เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาและเปิดเผยการพิจารณาต่อสาธารณชน

๕.๓ ในการดำเนินการกำหนดแนวทางการปฏิบัติ และเกณฑ์การประเมินผลในการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี เป็นผู้ให้คำปรึกษาและแนะนำตามคำร้องขอ

๖. ให้ทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง ถือปฏิบัติตาม นโยบายการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี โดยให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการตามนโยบายนี้

บรรดาคำสั่ง ระเบียบ หรือข้อบังคับใดที่ขัดแย้งกับคำสั่งนี้ ให้ใช้คำสั่งนี้แทน

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖

พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์