สตช. ป่วนหนัก!! ปมถอดยศ ทักษิณ หวั่น!หมดความน่าเชื่อถือจาก ปชช.

สตช. ป่วนหนัก!! ปมถอดยศ ทักษิณ หวั่น!หมดความน่าเชื่อถือจาก ปชช.

ความไม่ชัดเจนในการทำงานเรื่องการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  ระหว่าง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่ปรึกษา(สบ10)ในฐานะประธานคณะกรรมการ

พิจารณาถอดยศข้าราชการตำรวจ นอกจากจะนำพามาซึ่งความสับสนของคนไทยทั้งประเทศแล้ว ด้านหนึ่งยังเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะการที่ พล.ต.อ.สมยศ ตีกลับรายงานของพล.ต.อ.ชัยยะ ถึง 2 รอบนั้น เป็นการให้เหตุผลในเรื่องงานธุรการไม่ใช่เนื้อหาสาระของการพิจารณา

แต่ทว่านายตำรวจระดับ พลตำรวจเอกทั้ง 2 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกลับออกมาให้สัมภาษณ์ โยนกันไปโยนกันมาผ่านสื่อมวลชน ทั้งๆที่น่าจะเป็นเรื่องซึ่งควรไปจัดการเป็นการภายในให้เรียบร้อย ก่อนที่จะออกมาให้ข่าวกับสื่อมวลชน

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้า คดีการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมกับยืนยันว่า ในเรื่องที่ตนเองได้ส่งมติของคณะกรรมกลับไปให้ พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่ปรึกษา (สบ 10) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณานั้น ไม่ได้มีปัญหาความขัดแย้งกับที่ปรึกษา (สบ 10) หรือเพื่อดึงเวลา แต่อย่างใด เพียงแต่ได้แนะนำให้ชี้แจงองค์ประกอบความผิดให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ตามระเบียบว่าด้วยการถอดยศข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2547 ที่ต้องมีองค์ประกอบความผิด ให้ครบตามหลักเกณฑ์ จึงจะมีการเซ็นคำสั่ง เพราะในการทำคดีนี้ ตนเองกับ พล.ต.อ.ชัยยะ มีการพูดคุยกันมาโดยตลอด และแนะนำให้ทำสำนวนอย่างรอบคอบ

อย่างไรก็ตาม คาดว่า หาก พล.ต.อ.ชัยยะ ส่งสำนวนกลับมาให้พิจารณาอีกก็จะให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการตรวจสอบ ว่ามีการแก้ไขตามที่ได้ให้คำแนะนำไว้หรือไม่ ส่วนเรื่องการตัดสินใจ ยืนยันว่า จะใช้ดุลยพินิจ ให้ดีที่สุด เพราะเมื่อพิจารณาแล้วผิดกฎหมาย ก็ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ แต่ทั้งนี้ต้องทำสำนวนให้มีความรอบคอบเช่นกัน

ทั้งนี้ คาดว่า พล.ต.อ.ชัยยะ จะส่งสำนวนคดีถอดยศอดีตนายกทักษิณกลับมาให้พิจารณา ก่อนวันที่ 11 มิ.ย. นี้ เพราะก่อนหน้านี้ ยังไม่มีการยื่นขอขยายเวลาในการตรวจสอบเพิ่มเติมแต่อย่างใด

อย่างที่นำเรียนกับคุณผู้ชมว่าความไม่ลงตัวของกระบวนการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ในครั้งนี้เป็นเรื่องทางธุรการดังต่อไปนี้

เหตุผลการตีกลับรายงานครั้งที่ 1 เพราะไม่มีการลงมติรับรองรายงาน

เหตุผลการตีกลับรายงานครั้งที่ 2 เพราะไม่มีมติรับรองเรื่องพฤติกรรมของบุคคลที่ไม่สมควรดำรงอยู่ในยศตำรวจ และสร้างความเสื่อมศักดิ์ศรีของตำรวจ

ด้วยเหตุผลเพียงเท่านี้จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการที่บุคคลทั้ง 2 มีตำแหน่งสำคัญและมียศเป็นถึงระดับ พล.ต.อ.ทั้งคู่ก็ยิ่งทำให้สังคมเกิดความคลางแคลงใจว่าแท้ที่จริงแล้วกับความไม่ลงตัวที่เกิดขึ้น เป็นเพราะว่ามีเหตุผลบางอย่างซ่อนเร้นอยู่หรือไม่

เพราะถ้าหากย้อนกลับไปพิจารณาจากกฎหมายและกฎระเบียบที่มีอยู่ เรื่องการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเรื่องที่มีความชัดเจนอยู่แล้ว

พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547  มาตรา 28 ระบุว่า  การถอดหรือการออกจากยศตำรวจชั้นสัญญาบัตร ให้เป็นไปตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้ทำโดยประกาศพระบรมราชโองการ

ดังนั้นจึงมีการตราระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตำรวจและประกาศใช้ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2547

ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วย  การถอดยศตำรวจพ.ศ.2547 เนื่องจากผู้ที่ดำรงอยู่ในยศตำรวจ สมควรจะประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์    มิฉะนั้น  ย่อมเป็นทางนำความเสื่อมเสียมาสู่หมู่คณะ โดยเหตุผลดังกล่าว หากผู้ใดประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ไม่ได้ ก็ไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศตำรวจต่อไป

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (4) มาตรา 28 และมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจ แห่งชาติ พ.ศ.2547  จึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ1การเสนอขอถอดยศตำรวจทั้งแก่ผู้ที่อยู่ในราชการตำรวจ และที่พ้นจากราชการตำรวจไปแล้ว ให้กระทำได้เมื่อมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังต่อไปนี้

(1) ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด ว่าทุจริตต่อหน้าที่ราชการ แม้ศาลจะพิพากษารอการกำหนดโทษ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ก็ตาม

(2)ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่ ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท

(3) ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย เพราะก่อให้เกิดหนี้สินขึ้นโดยทุจริต

(4) กระทำผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ

(5) ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ

(6) ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ

(7)ถูกสั่งให้ออกจากราชการ เพราะขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ก่อนได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจ

เมื่อพิจารณาจากพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547ประกอบกับระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วย  การถอดยศตำรวจพ.ศ.2547 ในข้อที่1(1)(2)เป็นที่ชัดเจนว่าพ.ต.ท.ทักษิณ เข้าเกณฑ์ที่จะถูกถอดยศเพราะเป็นผู้ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดว่าทุจริตต่อหน้าที่และต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก

เพราะฉะนั้นเมื่อองค์ประกอบในการถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณครบถ้วนแล้ว ก็ต้องไปพิจารณากันถึงขั้นตอนและการดำเนินการกันต่อ

ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วย  การถอดยศตำรวจพ.ศ.2547 ข้อ 2 หน้าที่ความรับผิดชอบในการพิจารณาและดำเนินการถอดยศตำรวจ

(1) ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ให้กองวินัย หรือผู้บังคับบัญชาที่ได้รับมอบอำนาจในการดำเนินการทางวินัยมีหน้าที่รับผิดชอบในการพิจารณาว่า ผู้ใดมีเหตุที่จะต้องดำเนินการถอดยศตามข้อ 1 แล้วแจ้งผลการพิจารณาพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ให้กองทะเบียนพลดำเนินการรวบรวมเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาถอดยศ เว้นแต่กรณีตามข้อ 1 (7) เมื่อมีคำสั่งให้ออกจากราชการแล้วให้หน่วยต้นสังกัด ดำเนินการส่งเรื่องให้กองทะเบียนพล รวบรวมเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาถอดยศต่อไป

(2) ข้าราชการตำรวจชั้นประทวนให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งยศเป็นผู้รับผิดชอบในการพิจารณาว่า  ผู้ใดมีเหตุที่จะต้องดำเนินการถอดยศตามข้อ 1 แล้วดำเนินการสั่งถอดยศ พร้อมทั้งรายงานให้สำนักงานตำรวจ แห่งชาติ (ผ่านกองทะเบียนพล) ทราบ

(3) ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่รับทราบข้อมูลการต้องหาคดีอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา หรือถูกฟ้องในคดีล้มละลายอันเนื่องมาจากการก่อหนี้สินขึ้นโดยทุจริตของผู้ที่ดำรงยศตำรวจทั้งในส่วนของผู้ที่พ้นจากราชการไปแล้ว หรือยังคงรับราชการอยู่ในหน่วยงานอื่นของรัฐหาข้อมูลเบื้องต้นให้แน่ชัดแล้วส่งเรื่องให้กองวินัยพิจารณา หากเห็นว่าผู้ใดมีเหตุที่จะต้องดำเนินการถอดยศก็ให้ส่งเรื่องไปยังกองทะเบียนพลดำเนินการรวบรวมเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณา ถอดยศต่อไป

ท้ายที่สุดก็ต้องจับตาดูว่าการตีกลับรายงานมติคณะกรรมการพิจารณาการถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณ ในรอบที่ 2 ทางคณะกรรมการพิจารณาการถอดยศจะทำการแก้ไขรายละเอียดอย่างไร และเมื่อรายงานนั้นถูกส่งกลับมายัง พล.ต.อ.สมยศ อีกครั้งจะมีการแก้ไขหรือท้วงติงเป็นรอบที่ 3 หรือไม่

เพราะหากย้อนกลับไปในอดีต ตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเรื่องของการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกพูดถึงและพิจารณาโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาโดยตลอด แต่ยังไม่เคยมีผู้บัญชาการตำรวจคนไหนทำสำเร็จมาก่อน

ปมการถอด-ไม่ถอดยศ พลิกไปพลิกมาตามอำนาจการเมือง แม้กระทั่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการเซ็นถอดยศ ก็ถูกเปลี่ยนเก้าอี้มาแล้วถึง 8 นาย ซึ่งก็ประกอบไปด้วย

1.พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ

2.พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์

3.พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ

4.พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี

5.พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์

6.พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว

7.พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ
 
8.พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง

เพราะฉะนั้นก็ต้องจับตามองกันต่อไป ว่ากระบวนการในการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ จะได้ข้อสรุปภายในวันที่ 11 มิ.ย. ตามที่ พล.ต.อ.สมยศ ได้ระบุเอาไว้หรือไม่

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์