ปธ.คมช.ดันเต็มที่กม.มั่นคง

อจ.จุฬาฯติงขาดถ่วงดุลอำนาจ คนทรท.ซัด"ทหาร"มุ่งสืบทอด ม็อบแตกตัว11จว.-รอบกทม.


"สนธิ" ปัดร่าง กม.มั่นคงให้อำนาจมากเกินไป ชี้ใช้ตามอำเภอใจไม่ได้ ต้องทำตามกรอบ กก.ที่มีนายกฯเป็นประธาน บอกให้นึกถึงชาติก่อนสิทธิมนุษยชน นักวิชาการติงไม่มีการถ่วงดุล ขาดการตรวจสอบการใช้อำนาจ

"สนธิ"ยันต้องใช้อำนาจตามกรอบ

ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) ระบุอย่าวิตกว่า ผอ.รมน.จะใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ เพราะร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงภายใน ราชอาณาจักร พ.ศ... จะมีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน คอยกำกับดูแล ขณะที่นักวิชาการติงว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่มีมาตรการถ่วงดุลหรือตรวจสอบการใช้อำนาจ อาจจะทำให้เกิดความชอบธรรม


ในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)


และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในฐานะ ผอ.รมน.ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายใน ราชอาณาจักร พ.ศ... ที่หลายฝ่ายมองว่าให้อำนาจ ผอ.รมน.มากเกินไปนั้น มีกรอบการใช้อยู่ จะใช้อำนาจตามอำเภอใจไม่ได้ เพราะมีนายกรัฐมนตรีและคณะทำงานเป็นกรอบอยู่ ดังนั้น จะต้องทำไปตามภายใต้กรอบของคณะกรรมการใหญ่

ให้นึกถึงชาติก่อนสิทธิมนุษยชน

เมื่อถามว่า หลายฝ่ายห่วงใยเกรงว่าจะกระทบสิทธิมนุษยชน พล.อ.สนธิกล่าวว่า "เราต้องนึกผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นหลัก เรื่องอื่นไว้ทีหลัง" เมื่อถามว่า การมี พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการบริหารงานความมั่นคง โดยเฉพาะการดูแลม็อบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่ พล.อ.สนธิกล่าวว่า ความจริงแล้วเพิ่งได้อ่าน แต่ยังอ่านไม่ละเอียด แต่คิดว่าน่าจะดีขึ้น มันจะช่วยได้ในภาพรวมทั้งประเทศ

พล.อ.สนธิกล่าวว่า

ไม่ทราบว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะใช้เวลาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบันนี้นานเท่าใด เมื่อถามว่า อยากจะให้ สนช.ผ่าน 3 วาระรวดหรือไม่ เพื่อจะได้ดูแลกลุ่มม็อบต่างๆ พล.อ.สนธิกล่าวว่า ยังไม่ได้คิดจะต้องคุยกับ สนช.ก่อน ว่ามีกรอบของอำนาจได้แค่ไหน ซึ่งจะต้องศึกษาอีกนิดหนึ่ง เมื่อถามว่า ความจำเป็นที่จะต้องมี พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวคืออะไร เพราะขณะนี้มีทั้ง พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและกฎอัยการศึกอยู่แล้ว พล.อ.สนธิกล่าวว่า มันต้องแยกกันและต่างระดับ มันอาจจะเหนือกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินนิดหนึ่ง แต่อาจจะเล็กหรือน้อยกว่ากฎอัยการศึก


นักวิชาการติงดุลอำนาจไม่ชัดเจน


นายปณิธาน วัฒนายากร รองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจะออกกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ถือเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับประเทศที่จะต้องมีแผนแม่บท เพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงสมัยใหม่ ถ้าไม่มีกฎหมายพวกนี้เลยจะเกิดช่องว่างทางความมั่นคง และหลายประเทศก็มีตามบริบทของประเทศตนเอง เพื่อรักษาเสถียรภาพภายใน

นายปณิธานกล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญที่ต้องขบคิดตามมาคือ ช่วงเวลาในการออกกฎหมาย จะออกช่วงไหน

เพราะผู้พิจารณาคือ สนช.มาจากสายข้าราชการประจำ และทหาร ก็ไม่รู้ว่าหลักการและมาตรการในกฎหมายนี้จะเสียดุลหรือไม่ ถ้าอำนาจด้านความมั่นคงมากไปก็จะลิดรอนสิทธิประชาชน นอกจากนี้มาตรการต่างๆ ยังต้องเป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย มีการตรวจสอบการปฏิบัติจากฝ่ายศาล เช่น ข้อกำหนดเรื่องการขอหมายศาลหรือการลงโทษ และชดใช้ค่าเสียหายกรณีที่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.นี้ผิดพลาดโดยเจตนา ซึ่งเป็นหลักสากลในการป้องกันการใช้อำนาจไม่ชอบธรรม


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์