เคาะแก้ไขรธน.ชั่วคราว 7ประเด็น! ผุดสภาขับเคลื่อนปฏิรูป

เคาะแก้ไขรธน.ชั่วคราว 7ประเด็น! ผุดสภาขับเคลื่อนปฏิรูป

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี(ครม.) และคสช.ว่าได้สั่งการในที่ประชุมว่า อะไรที่เป็นวาระเร่งด่วน โรดแมปมีแค่ไหนก็ดำเนินการไปเท่านั้นก่อน จึงไม่อยากให้ถามกันมากนักว่า รัฐบาล หรือคสช.จะอยู่ต่อหรือไม่อยู่ต่อ เพราะทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกและเสียกำลังใจ เพราะถึงอย่างไรวันหน้าประเทศไทยต้องเป็นประชาธิปไตย ต้องมีนักการเมืองมาบริหารประเทศอยู่ดี

‘บิ๊กตู่’ย้ำไม่คิดสืบทอดอำนาจ

‘ผมพูดอะไรมากกว่านี้ไม่ได้ เพราะจะเข้าเนื้อตัวเองหมด ทั้งที่ผมมีเจตนาบริสุทธิ์ในการทำงานให้บ้านเมืองเดินไปได้ ให้ได้นักการเมืองที่ดี ได้รัฐบาลที่ปฏิรูปได้ ผมพูดหลายครั้งแล้วว่า ไม่เคยคิดสืบทอดอำนาจ ถ้าเป็นคนอื่นอาจไม่คิดแบบนี้ อยากจะมีอำนาจ อยากจะอยู่ แต่ผมชินกับการมีอำนาจมามากพอแล้วตั้งแต่เป็น ผบ.ทบ.ผมเบื่อการใช้อำนาจมาพอสมควร แต่จำเป็นต้องใช้เพื่อการบังคับบัญชา แต่วันนี้ใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินและใช้อำนาจพิเศษที่มีอยู่เพื่อแก้ปัญหาให้รวดเร็ว’พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวและว่า

ทำเพื่อชาติ-รอรบ.ใหม่สานต่อ

วันนี้ต่างประเทศเข้าใจเรามากขึ้น ส่วนเรื่องการเมืองภายในต้องแก้ปัญหาให้ได้ ตนไม่อยากให้คนของเราเองไปเอาต่างชาติมากดดันกันเอง ยืนยันว่า สิ่งที่ทำทุกวันนี้ไม่เคยทำเพื่อตนเอง ไม่ได้ประโยชน์ใดๆและไม่เคยคิดถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นในวันหน้า แต่ทำเพื่อคนไทย ฉะนั้นรัฐบาลที่จะเข้ามาขอว่า ต้องทำให้ได้แบบที่ตนทำและขอประชาชนและสื่อมวลชนอย่าเปิดเวทีให้มีคนไม่หวังดีมาโจมตีในสิ่งที่เราทำใหม่ ซึ่งสิ่งที่เราทำใหม่ตนคิดว่าไม่มีใครมาทำอีก เพราะมีผลต่อคะแนนนิยม เป็นเรื่องการเมือง แต่ตนไม่ใช่การเมือง วันนี้ได้สั่งการให้ คสช.ไปสรุปผลการดำเนินงานตามโรดแมประยะที่1ว่า ทำอะไรไปแล้วบ้าง ส่วนระยะที่2 ครม.และคสช.ตนได้วางหัวข้อไว้แล้วทั้ง 5กลุ่มงาน โดยทุกกลุ่มงานต้องกำหนดให้ชัดเจน แล้วสรุปผลดำเนินงานให้ได้ภายในเดือนเมษายน2559 ส่วนเรื่องที่ไม่จบต้องส่ง สปช.ดำเนินการต่อ เพื่อส่งต่อให้รัฐบาลหน้า

อยากเลือกตั้งเร็วต้องผ่านรธน.

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า วันนี้ประเด็นหลักที่พูดคือ การแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวอย่างไรบ้าง ถ้าไม่ผ่านต้องทำอย่างไร ใครทำหน้าที่ต่อ ใครเป็นคนร่าง เป็นการเปิดทางเตรียมไว้ แต่ไม่ใช่เราเป็นคนเสนอ ถ้าจะแก้ ครม.ต้องทำเรื่องเสนอเข้า คสช.แต่ถ้า สปช.ผ่านร่างรัฐธรรมนูญก็จะไปสู่ขั้นตอนการทำประชามติ ส่วนเรื่องการทำกฎหมายลูกต้องทำอยู่แล้ว

“ผมยังไม่ได้เคลื่อนเวลาสักอันเดียว นับไปนับมาก็เมษายน-พฤษภาคม ถ้าทำประชามติก็บวกไปอีก 3-4เดือนและทำกฎหมายลูกอีก โรดแมปเป็นแบบนั้น ถ้าอยากจะเลือกตั้งเร็วๆง่ายนิดเดียว ผ่านรัฐธรรมนูญ ถ้าผ่านก็ต้องผ่าน สปช.และมาทำประชามติ ถ้าผ่านประชามติได้ก็เลือกตั้งตามกรอบของผม ถ้าไม่ได้ก็เสนอมาจะแก้ไขอย่างไร ซึ่งต้องไปแก้รัฐธรรมนูญ เรื่องทำประชามติก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ต้องประสานว่า จะทำประชามติก่อนหรือเปล่า หรือทำประชามติเรื่องอะไร เดี๋ยวต้องมาคุยกัน’พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

บิ๊กป้อมย้ำเดินตามโรดแมป

ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งว่า ตนไม่ทราบ คงต้องถามผู้ที่นำเรื่องดังกล่าวมาพูด ส่วนตนยืนยันว่าไม่มีและทุกอย่างเดินไปตามโรดแมป ขณะนี้ประเทศอยู่ได้ด้วยรัฐธรรมนูญชั่วคราว ดังนั้นรัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนไว้อย่างไรก็ต้องทำตามนั้น ไม่มีทางทำอย่างอื่น เรื่องนี้รัฐบาลไม่เกี่ยวและยืนยันว่าจะทำตามโรดแมป ส่วนผู้พูดให้รัฐบาลอยู่ก็พูดไป แต่รัฐบาลมีหลักและปฏิบัติตามโรดแมป ไม่ต้องมาพูดเรื่องจะให้อยู่ต่อและรัฐบาลจะไม่พูดเรื่องนี้แล้ว ใครอยากจะพูดก็พูดไป

เล็งใช้ไม้แข็งกำราบนศ.ยังป่วน

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงผลประชุมร่วม คสช. และครม.ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นห่วงกลุ่มนักศึกษาบางกลุ่มที่ยังพยายามแสดงออกในลักษณะที่ฝ่าฝืนกฎหมายและพยายามไม่เข้าใจต่อสถานการณ์ของบ้านเมืองในปัจจุบัน โดยที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้พยายามขอความร่วมมือ หรือใช้วิธีการว่ากล่าวตักเตือนด้วยความปรารถนาดี เพราะมองว่ากลุ่มนักศึกษายังคงเป็นบุคคลที่อยู่ในช่วงวัยการศึกษา ซึ่งควรต้องมีอนาคตที่สดใสเพื่อเติบโตต่อไปในวันหน้า แต่ถ้ากลุ่มนักศึกษาพยายามจะปฏิเสธความปรารถนาดีดังกล่าว เจ้าหน้าที่จำเป็นจริงๆที่จะต้องมีมาตราการดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความเหมาะสมมากยิ่งขึ้นตามลำดับ

‘วิษณุ’ส่งร่างแก้รธน.ให้สนช.แล้ว

ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังประชุมร่วมระหว่าง คสช.และครม.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ส่งร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวแก้ไขเพิ่มเติมไปยัง สนช.ซึ่งกติกาการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วย 1.ต้องเป็นมติเห็นชอบของ ครม.และคสช. 2 ต้องทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมฉบับเก่า แล้วส่งให้ สนช.จากนั้นต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 15วัน 3.สนช.มีอำนาจเพียงพิจารณาว่ารับหรือไม่รับ แต่อาจจะตั้งข้อสังเกตแนะนำวิธีปฏิบัติได้ แต่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงร่างไม่ได้ เว้นแต่ได้รับควาเห็นชอบจาก ครม.และคสช.4.การให้ความเห็นชอบให้แก้ไข สนช.ต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 111เสียงหรือมากกว่านั้น 5.นายกฯต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายใน 15วัน นับจากวันที่พิจารณาเสร็จ 6.เมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วก็ให้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาและบังคับใช้ได้ทันที ทั้งนี้ควรเสร็จสิ้นก่อนวันที่ 21กรกฎาคม หรือวันที่ 23กรกฎาคมนี้

รื้อที่มาสนช.-ลดภาระ’ในหลวง’

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่จะเสนอ สนช.มี 7ประเด็น คือ 1.ให้แก้ไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ สนช.จากเดิมที่ระบุว่า ต้องไม่เคยถูกถอดถอนสิทธิ์เลือกตั้ง ให้เป็นไม่อยู่ในระหว่างการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง จึงทำให้คนที่เคยถูกเพิกถอนสามารถเข้ามาเป็น สนช.กรรมการอื่น หรือแม้แต่ ครม.เพื่อให้สอดคล้องรัฐธรรมนูญใหม่ที่กำลังร่างอยู่ เพราะมองว่า ถ้าใช้คำว่าถูกเพิกถอนสิทธิ์แล้วไม่ให้เข้ามาเป็น สนช.ดูไม่ค่อยปรองดอง 2.ตำแหน่งบางตำแหน่งที่ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งปีหนึ่งมีจำนวนมาก เพื่อไม่ให้เป็นภาระมากเกินไป จึงแก้ไขให้อะไรก็ตามที่ต้องถวายสัตย์ฯ นอกจากถวายสัตย์ฯต่อหน้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังสามารถถวายสัตย์ฯ ต่อหน้ารัชทาญาติ หรือผู้แทนพระองค์

ยืดกมธ.แก้30วัน-กกต.ทำประชามติ

3.มีการขยายเวลาการทำงานให้ กมธ.ยกร่างฯจากเดิมที่ต้องพิจารณาข้อแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จภายใน 60วัน นับตั้งแต่วันที่ 24พฤษภาคม ซึ่งมองว่า เวลากระชั้นชิดเกินไป จึงขยายให้อีกไม่เกิน 30วัน รวมเป็น 90วัน โดยให้ กมธ.ยกร่างฯเป็นผู้มีมติว่า จะขยายเวลาหรือไม่ กี่วัน แล้วแจ้ง สปช.รับทราบ4.เมื่อ สปช.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องนำร่างไปทำประชามติ โดยให้ กกต.กำหนดหลักเกณฑ์ กติกา เงื่อนไข โดยผ่านความเห็นชอบของ สนช.แต่ถ้ามีการขัดขวางการทำประชามติ กตต.ไม่สามารถกำหนดโทษได้ โดยต้องนำ พรบ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 มาบังคับใช้ ส่วนจะทำประชามติเมื่อใดนั้น กำหนดให้ต้องมีการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์อย่างน้อยร้อยละ80 หรือ19ล้านครัวเรือน จากนั้น กตต.จะเป็นผู้กำหนดวันออกเสียงประชามติ โดยต้องไม่น้อยกว่า 30วัน แต่ไม่ช้ากว่า 45วัน ซึ่งคาดว่าจะออกเสียงประชามติได้ช่วงปลายเดือนมกราคม หรือต้นเดือนกุมภาพันธ์2559

ตั้งคำถามปชช.ได้มากกว่า1ข้อ

“นอกเหนือจากคำถามว่า จะรับหรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ อาจจะสอบถามประชามติในประเด็นอื่นด้วย โดย สปช.และสนช.สามารถทำคำถามเข้ามาได้ฝ่ายละ 1คำถาม จากนั้นให้ส่งมายัง ครม.ถ้า ครม.เห็นชอบ ก็จะให้ กกต.จัดทำประชามติในครั้งเดียวกัน แต่ถ้าผลของประชามติของคำถามอื่นขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญก็กำหนดให้ กมธ.ยกร่างฯปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องคำถามอื่นภายใน 30วันและส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สอดคล้องกับประชามติหรือไม่ จากนั้นก็ส่งมาให้นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯ” นายวิษณุ กล่าว

ผุด’สภาปฎิรูปปท.’สมาชิก200คน

ประเด็นที่5 เมื่อ สปช.ได้ลงมติไม่ว่าจะลงมติเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม เมื่อลงมติเสร็จถือว่าภารกิจเสร็จสิ้นก็ให้ยุบ สปช.พร้อมให้ตั้ง“สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ” มีสมาชิกไม่เกิน 200คน โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งและไม่ต้องนำความขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งเคยเป็นสปช.ชุดเดิมก็ไม่ขัดข้อง ทำหน้าที่เสนอแนะการปฏิรูปเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญอีก โดยอายุของสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ จะมีอายุตามที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ระบุ

กมธ.ยกร่างฯหมดอายุให้ตั้งใหม่

ประเด็นที่6 ถ้ากมธ.ยกร่างฯ36คน สิ้นสุดลงไม่ว่ากรณีใด ให้ตั้ง กมธ.ยกร่างฯ21คน ประกอบด้วย ประธาน 1คน กรรมการ 20คน อาจตั้งกมธ.ยกร่างฯคนเดิมได้ด้วย เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และรับฟังความเห็นประชาชนภายใน 180วัน เมื่อร่างเสร็จก็ให้ทำประชามติอีกครั้ง ทั้งนี้ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ก็อาจหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมา และประเด็นที่7 แก้ไขถ้อยคำภาษาเลขมาตราที่เคลื่อน ทั้งนี้ คาดว่าจะส่งให้ประธาน สนช.พิจารณาภาย 1-2วันนี้ โดย สนช.ไม่สามารถปรับแก้ร่างได้ เพียงแค่เสนอแนะตั้งข้อสังเกตได้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมนี้ ยังคงมี 48มาตรา ซึ่งมาตรา44 ก็ยังมีอยู่

‘สปช.-สนช.’สกรีนคำถามที่ไม่ดี

เมื่อถามว่า การเปิดให้ถามคำถามอื่นควบคู่การทำประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หมายถึงคำถามที่ว่า จะให้ คสช.และรัฐบาลอยู่ต่อ 2ปีด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ใช่ อาจเป็นคำถามอื่นด้วยก็ได้ ซึ่งประเด็นถามให้อยู่ต่อ 2ปีหรือไม่ ก็ถามได้ แต่คำถามนี้ต้องผ่านด่าน สปช.และสนช.ให้ได้ก่อน เพราะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง เมื่อผ่านแล้วก็ต้องมาผ่าน ครม.ให้ได้ด้วย ซึ่งครม.จะไปดันแปลงคำถาม หรือถามด้วยก็ไม่ได้ ครม.ดูแค่ว่ามาถูกกาลเทศะหรือไม่ในภาวะที่บ้านเมืองเป็นแบบนี้ ซึ่งในเมื่อจะเสีย 3พันล้านบาทแล้วก็ต้องให้คุ้ม

ร่างรธน.ไม่ผ่าน2ครั้ง-งัดของเก่าใช้

เมื่อถามว่า หากเป็นคำถามต่ออายุรัฐบาลจริง จะเป็นเรื่องผลทับซ้อนของ ครม.หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็อาจจะมองอย่างนั้นได้ แต่ขึ้นอยู่กับการตั้งคำถาม ถามเป็นหรือไม่ เมื่อถามว่า หากการทำประชามติครั้งที่2 ของ กมธ.ยกร่างฯที่ตั้งขึ้นใหม่ 21คน ไม่ผ่านอีกจะทำอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้ที่ประชุม ครม.และคสช.มีการสอบถามเหมือนกัน ตรงนี้คงไม่ตั้ง กมธ.ยกร่างฯใหม่ แล้วทำประชามติอีก แต่อาหยิบยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมา อย่างรัฐธรรมนูญปี40 และปี50 มาปรับใช้ แต่เวลานี้คงไม่ใช่เวลาที่จะมาคิดตอนนี้ เพราะผลยังไม่ออกมา

สนช.ถกประชามติ18หรือ25มิ.ย.

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช. ) แถลงหลังประชุมวิป สนช.ว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ได้แจ้งและกำหนดวันพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อเปิดให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ในวันที่ 18มิถุนายน หรือวันที่ 25มิถุนายน โดยจะพิจารณา 3วาระรวดในวันเดียว ทั้งนี้ จะเชิญตัวแทนของรัฐบาล คาดว่าจะเป็น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เข้าชี้แจงในวิป สนช.ก่อนจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม สนช.

ยื่น5หมื่นชื่อหนุนปฏิรูปก่อนลต.

มีความเคลื่อนไหวของ พระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ได้เข้ายื่นหนังสือสนับสนุนให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดโอกาสให้ทำประชามติให้รัฐบาลอยู่ต่อเพื่อปฏิรูปให้สำเร็จแล้วจึงเลือกตั้ง พร้อมทั้งรายชื่อผู้สนับสนุน 5หมื่นชื่อ โดยมี นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ เป็นผู้รับหนังสือ พระพุทธะอิสระ กล่าวว่า ได้รวบรวมรายชื่อประชาชน 5หมื่นชื่อ เพื่อเรียกร้องให้ทำประชามติหนุนปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หากรายชื่อไม่พอ เราจะเอามาอีก 5ล้านชื่อ เพื่อสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทำงานต่อเพื่อความสงบสุข มั่นใจว่า คสช.จะคืนความสุขให้ประชาชนและความปลอดภัยให้กับแผ่นดิน ให้ปฏิรูปจนสำเร็จแล้วค่อยเลือกตั้ง

นัด‘ปู’แจงเยียวยาแดง30มิ.ย.

วันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) นัดเข้าชี้แจงข้อกล่าวหาจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบการชุมนุมทางการเมืองปี2547-2558 แต่ได้ส่ง นายบุญเฉลียว ดุษฎี เป็นตัวแทน เข้ายื่นเอกสารขอเลื่อนรับทราบข้อกล่าวหา อ้างว่าติดธุระสำคัญเร่งด่วน

ต่อมา นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ปปช.กล่าวว่า องค์คณะไต่สวนหารือกันแล้วและได้กำหนดใหม่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มารับทราบข้อกล่าวหาวันที่ 30มิถุนายน หากยังไม่มารับทราบข้อกล่าวหาอีกต้องดำเนินการตามกระบวนการกฎหมาย หลังมารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีเวลามาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15วัน ส่วนจะลงมติเสร็จทันเดือนกรกฎาคมหรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้ แต่ ปปช.จะดำเนินการให้เสร็จเร็วที่สุด ส่วน ครม.คนอื่นๆ บางส่วนได้ทำหนังสือขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหามาแล้ว เช่น พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา อดีตรองนายกฯ เป็นต้น

ปปช.จ่อสอบ2สนช.พันยาฆ่าแมลง

ขณะที่ นายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ปปช.กล่าวถึงความคืบหน้าการไต่สวนกรณีโครงการจัดซื้อจัดจ้างยาปราบศัตรูพืชกรณีเกิดภัยพิบัติในหลายจังหวัด ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการไต่สวน ส่วนกรณีสมาชิก สนช.2ราย ที่เคยเป็นอดีตผู้ว่าฯและถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวนั้น อยู่ในข่ายที่ ปปช.กำลังเร่งดำเนินการ แต่ต้องขอเวลาไต่สวนระยะหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ออกมาระบุว่า นายชาญวิทย์ วสนยางกูร อดีตผู้ว่าฯมุกดาหารและนายพรศักดิ์ เจียรณัย อดีตผู้ว่าฯ เลย ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิก สนช.มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการจัดซื้อจัดจ้างยาปราบศัตรูพืชดังกล่าว มูลค่ากว่า 7.8พันล้านบาท โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์