คาดโทษโคตรโกง นายกฯลั่นใครไม่หยุดโดน ย้ำต่อจากนี้ไปต้องไร้ทุจริต
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง คาดโทษโคตรโกง นายกฯลั่นใครไม่หยุดโดน ย้ำต่อจากนี้ไปต้องไร้ทุจริต
นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดโครงการประกาศเจตนารมณ์ ต่อต้านการทุจริตสร้างจิตสำนึกไทยไม่โกง ที่ทำเนียบรัฐบาล“บิ๊กตู่”ยังไม่พอใจแก้โกงได้90% โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ปัญหาทุจริตมีหลายรูปแบบจะแก้ได้ทั้ง 100% หรือไม่ แต่เชื่อว่าเกิน 90% ทำได้แล้ว ทั้งนี้การทุจริตสร้างความเสียหายทุกด้าน โดยเฉพาะความเชื่อมั่น เช่น ค่าอำนวยความสะดวก ซึ่งต่อไปนี้ถ้าใครเสียให้มาแจ้งที่หน่วยราชการ ต้องสกัดค่านิยมโกงให้ได้ ทุกคนต้องมีหิริโอตัปปะ ละอายและเกรงกลัวต่อบาป แต่วันนี้คนที่ละอายกลายเป็นคนจน คนไม่อายก็รวยขึ้น จึงต้องลดช่องว่างให้ได้
ทั้งนี้ ไทยได้รับการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นประจำปี 2557 ได้คะแนน 38 จาก 100 อยู่ในอันดับที่ 85 จาก 175 ประเทศทั่วโลก เป็นอันดับที่ 12 จาก 28 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากการอันดับปี 2558 ไทยได้อันดับดีขึ้นโดยเฉพาะในอาเซียนที่ไทยมาอยู่อันดับที่ 3 จาก 9 ประเทศในอาเซียน
“แม้คะแนนประเทศจะสูงขึ้นดีใจ แต่ก็ยังไม่พอใจ ไม่อยากอวดว่าคสช.เข้ามาแล้วอันดับประเทศดีขึ้น แต่ต้องเอาให้ได้อันดับดีในอาเซียนก่อน”นายกฯกล่าว
ประกาศกร้าวต้องไร้ทุจริต
และย้ำว่า วันนี้รัฐบาลแก้ปัญหาทุจริตทั้งระบบ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกนำไปเชื่อมโยงกับธุรกิจสีเทา แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว ตนจำเป็นต้องจัดการทั้งหมดและไม่ได้ต้องการคะแนนเสียง ต้องการความพึงพอใจ และอย่าคิดเตรียมการใดๆ ตนรู้ว่าใครเตรียมการประท้วง วันนี้ตนเป็นคนกำหนดกติกา ดังนั้น ทุกคนต้องทำให้ได้ วันนี้ต้องไม่มีการทุจริต และได้สั่งให้รัฐมนตรีไปตรวจสอบในหลายโครงการ
คาดโทษใครไม่หยุดเล่นงานหมด
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ในการตรวจสอบการทุจริต มีคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) มาตรวจสอบ วันนี้รัฐมนตรีไม่ใช่นักการเมืองต้องแก้ไขให้ได้ ยืนยันไม่ได้เลือกข้างแต่ต้องดูว่าทำผิดหรือไม่ วันนี้ตนอยู่ข้างประเทศไทย คนที่ไม่ยอมรับกฎหมายต้องเล่นงานเอาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้ทั้งหมด ขณะนี้มีคณะทำงานตรวจสอบ 3-4 คณะที่ติดตามเรื่องทุจริต วันนี้ต้องชัดเจน ต้องหาหลักฐานให้ดี ส่วนการดำเนินการจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรม ตนไม่เคยสั่ง หากตรวจพบความผิดชัดเจนก็ต้องถูกดำเนินการ แต่ถ้าไม่ผิดก็กลับเข้ามาได้ ยืนยันทุกอย่างว่าตามกระบวนการ ไม่ใช่การแก้แค้น
อย่าเหมาขรก.โกง-ชี้มีทุกที่
ภายหลังเป็นประธานประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริต พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาข้าราชการทุจริตคอร์รัปชั่นว่า มีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน อย่ามาโทษภาคราชการอย่างเดียว ฉะนั้น จะลงโทษทั้งคู่ถือเป็นการสมยอม ตนก็เป็นข้าราชการ คนดีก็มีอยู่ ชอบพูดนักทหาร ตำรวจ ข้าราชการ แล้วคนดีอยู่ไหน มันเลวทั้งหมดหรืออย่างไรเขียนให้ดีบ้าง
กำลังตรวจ152ชื่อไม่กำหนดเวลา
ส่วนรายชื่อข้าราชการทุจริตชุดที่ 2 จำนวน 152 รายชื่อ ที่พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.)เสนอมานั้น นายกฯกล่าวว่า ตนได้รับนานแล้ว ก่อนจะย้อนถามผู้สื่อข่าวว่า “แล้วทำไมจะให้ฆ่าทั้งหมดเลยหรือ กำลังดำเนินการอยู่บุคคลใดอยู่ในตำแหน่งหน้าที่หลักก็เอาออกมาและสอบสวนลงโทษ ซึ่งการตรวจสอบ 152 รายชื่อมีขั้นตอนการ แต่มันง่ายนักหรือ ทำไมต้องไปเร่งกฎหมายว่าต้องเสร็จวันนั้นวันนี้ คนผิดก็เอาเข้าคุกตรวจสอบไป ถ้าถูกก็เอาอออกมา ไม่เห็นจะเป็นจะตายอะไร ต้องทำอย่างไรให้คนอยู่ทำงานได้ รัฐบาลที่แล้วทำไมไม่ไปไล่เขาทำบ้าง แต่ทำไมเหลือมาถึงวันนี้”นายกฯกล่าวอย่างมีอารมณ์
แย้มบัญชีขรก.โกงมีปลัดฯติดโผ
ด้าน นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการ ศอตช.กล่าวว่า เมื่อรายชื่อ 152 ข้าราชการส่อทุจริตชุด 2 ที่ส่งถึงมือนายกฯแล้ว ขั้นตอนต่อไป จะมีกระบวนการตรวจสอบภายในเหมือนครั้งแรกที่ต้องแบ่งแยกประเภทความผิด ส่วนจะใช้เวลาเท่าใดคงตอบแทนไม่ได้ ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใสเป็นธรรมกับทุกคน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาบ้าง ดังนั้น ขอให้รอฟังจากการประกาศพร้อมกันในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ ใน 152 รายชื่อ มีส่วนหนึ่งที่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว)2557ดำเนินการ และบางส่วนจะส่งให้ต้นสังกัดพิจารณาความผิดเอง ซึ่งนายกฯยึดหลักว่า ต้องตรวจสอบหลายชั้นให้เป็นธรรม
ผู้สื่อข่าวถามว่ารายชื่อข้าราชการทุจริตชุด 2 มีระดับใดบ้าง นายประยงค์กล่าวว่า มีทั่วไปคละกันหมด เมื่อถามย้ำว่ามี ข้าราชการระดับสูง เช่น ปลัดกระทรวงอีกหรือไม่ เลขาฯป.ป.ท.กล่าวว่า ก็มีอยู่ด้วย แต่ขอไม่พูด ตอนนี้กำลังดำเนินการให้โปร่งใสตามกรอบวินัย ถ้าตนไปพูดหรือก้าวก่ายจะผิดวินัยเหมือนกัน
อุบไต๋ชงล็อต3-ชี้ยังมีต้องสะสาง
ส่วนจะมีรายชื่อข้าราชการส่อทุจริตชุดที่ 3 หรือไม่ เลขาฯป.ป.ท.กล่าวว่า ตามนโยบายรมว.ยุติธรรม จะพูดคุยกันทุกเดือน ถ้าพบแล้วสงสัยว่าใครเข้าไปเกี่ยวข้องบ้าง ถ้าปล่อยไว้จะเกิดปัญหาส่งผลต่อการรวบรวมพยานหลักฐานและความเสียหายเพิ่มเติมก็ต้องเอาออก ฉะนั้นตราบใดที่ยังมีการทุจริตอยู่ก็ต้องทำอย่างนี้ เพราะเป็นกระบวนการที่กฎหมายเดิมกำหนดไว้ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้นำมาบังคับใช้อย่างจริงจัง
มท.ลับมีดรอเชือดปมยาฆ่าแมลง
ด้านพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างยาปราบศัตรูพืชที่แพงเกินจริง กรณีเกิดภัยพิบัติฉุกเฉินช่วงปี2554ว่า ถ้าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว กระทรวงมหาดไทย ก็มาพิจารณาทางวินัยได้ทันที แต่ถ้าเรื่องใด บุคคลใด ที่หน่วยเกี่ยวข้องส่งมาเป็นรายชื่อ ยังไม่ได้ดำเนินการ ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้วแต่ระดับ ขณะนี้ปลัดกระทรวงมหาดไทยยังไม่ได้รายงานมาว่าสอบสวนถึงใคร
โยนปปช.ไต่สวน2สนช.
ส่วนกรณีอดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเปิดเผยว่ามีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) 2 ราย เข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างยาปราบศัตรูพืชสมัยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด(ผวจ.)นั้น พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ถ้าสตง.ยังไม่ได้ดำเนินการภายใน180วัน ก็ต้องเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)พิจารณาไต่สวน ลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญาได้ ส่วนการเรียกร้องให้ลาออกนั้น คงต้องไปถามนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.
ปปช.พร้อมไต่สวน2สนช.
ความคืบหน้าการตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างยาปราบศัตรูพืช กรณีเกิดภัยพิบัติหลายจังหวัดนั้น
นายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ตนยังไม่ได้รับทราบข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ที่ไต่สวนเรื่องดังกล่าว ส่วนกรณีอดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเปิดเผยว่ามีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) 2 ราย เข้าไปเกี่ยวข้อง สมัยเป็นผู้ว่าฯนั้น ถ้าจะส่งข้อมูลดังกล่าวมาที่ป.ป.ช.เราก็ต้องรับเรื่องไว้ เพื่อนำมาพิจารณาว่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้หรือไม่ เพราะการทำงานของป.ป.ช.หากมีหลักฐานก็สามารถไต่สวนไปตามประเด็นนั้นๆได้
แจงแนวทางถอดถอน
ผู้สื่อข่าวถามว่าก่อนหน้านี้อดีตผู้ว่าฯที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวถูกกระทรวงมหาดไทยดำเนินการทางวินัยไปแล้ว แล้วกรณี 2 สนช.ที่เคยเป็นอดีตผู้ว่าฯต้องถูกดำเนินการอย่างไร ถอดถอนได้หรือไม่ นายณรงค์กล่าวว่า ต้องแล้วแต่รัฐบาล สำหรับกรณีถอดถอนนั้นมีกระบวนการอยู่ว่าส.ส.หรือสนช.ต้องเข้าชื่อกัน 1 ใน 4 ยื่นมาที่ ป.ป.ช.หรือประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 20,000 คนเข้าชื่อและร้องมา ป.ป.ช.ถึงจะทำได้ ถ้าไม่มีก็ทำไม่ได้ หรืออีกทางคือต้องดำเนินคดีอาญาไปจนจบ แล้วป.ป.ช.จึงจะส่งให้ สนช.ถอดถอน
เรียก“ปู”รับข้อหาเงินเยียวยาแดง
วันเดียวกัน มีรายงานข่าวจาก ป.ป.ช.ว่า หลัง ป.ป.ช.มีมติแจ้งข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) 34 ราย กรณีจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง 2548 - 2553 โดยมิชอบ และนัดผู้ถูกกล่าวหามารับทราบข้อกล่าวหา และให้ถ้อยคำเบื้องต้นระหว่างวันที่ 9-30 มิถุนายน ซึ่งเวลา 09.00 น.วันที่ 9 มิถุนายน ป.ป.ช.จัดลำดับให้น.ส.ยิ่งลักษณ์มารายงานตัวต่อป.ป.ช. รวมถึงนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางนลินี ทวีสิน อดีตรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี