ปธ.ศาลฎีกาตั้งคณะสอบสินบน

จากกรณีที่ปลัดกระทรวงยุติธรรมออกมาเปิดเผย


เกี่ยวกับการติดสินบนตุลาการรัฐธรรมนูญในคดียุบ พรรคการเมืองนั้น วานนี้ (19 มิ.ย.) ที่ศาลฎีกา นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะโฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม ส่งเอกสารหลักฐานเรื่องที่มีข้าราชการพยายามติดสินบนตุลาการรัฐธรรมนูญในการตัดสินคดียุบพรรคให้กับสำนักประธานศาลฎีกา



เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมานั้น


วันนี้นายปัญญา ถนอมรอด ประธานศาลฎีกา ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าว ประกอบด้วยผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่รวม 3 คน สำหรับการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 68 โดยคณะกรรมการชุดนี้ จะต้องดำเนินการตามภารกิจหลัก 3 ประการ คือ
1. สอบสวนข้อเท็จจริงว่า มีข้าราชการพยายามติดสินบนตุลาการรัฐธรรมนูญในการตัดสินคดียุบพรรคจริงหรือไม่
2. ข้อเท็จจริงมีมูลที่จะลงโทษทางวินัยข้าราชการตุลาการหรือไม่
3. ข้อเท็จจริงมีมูลที่จะดำเนินคดีในความผิดอาญาหรือไม่ โดยประธานศาลฎีกา สั่งการให้คณะกรรมการสอบสวนฯ ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน



แฉหลักฐานเป็นของปลอม


โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า สำหรับหลักฐานที่นายจรัญส่งมานั้นมีจำนวน 2 แผ่น

โดยแผ่นที่ 1 เป็นเอกสารที่นายจรัญเขียนเป็นรายงานชี้แจงให้ทราบว่าได้รับข้อมูลที่มีข้าราชการพยายามเสนอสินบนให้ ตุลาการรัฐธรรมนูญ แต่นายจรัญไม่ระบุชื่อผู้เสนอสินบนว่าเป็นใคร และตุลาการรัฐธรรมนูญที่ถูกเสนอให้สินบนเป็นใคร

ส่วนแผ่นที่ 2 เป็นบันทึกที่มีข้อความระบุถึงประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 1 พ.ย.49 ซึ่งปรากฏการลงลายมือชื่อ ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ รองประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็นหนึ่งในตุลาการรัฐธรรม เป็นผู้รับบันทึก โดยบันทึกดังกล่าวระบุเป็นข้อความ 4 ข้อ ซึ่ง 3 ข้อเป็นการอ้างถึงกระบวนการพิจารณาของตุลาการรัฐธรรมนูญในการตัดสินคดียุบพรรคว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร ส่วนข้อที่ 4 อ้างถึงนิติศาสตร์ รุ่น 09 โดยเอกสารหลักฐานทั้ง 2 แผ่น ที่นายจรัญส่งมาให้ ตนยืนยันว่าไม่มีการอ้างถึงชื่อตุลาการรัฐธรรมนูญ และบุคคลที่เป็นนิติศาสตร์ รุ่น 09 ซึ่งเรื่องบันทึกดังกล่าวนั้น

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายปัญญา ประธานศาลฎีกา


ได้ชี้แจงยืนยันต่อที่ประชุม ก.ต. แล้วว่า ไม่เคยปรากฏว่ามีบันทึกดังกล่าว ขณะที่ประธานศาลฎีกาได้สอบถาม ม.ล.ไกรฤกษ์ รองประธานศาลฎีกา ที่มีชื่อปรากฏในบันทึกนั้นแล้วว่า มีผู้เสนอยื่นบันทึกให้และได้ลงลายชื่อรับบันทึกหรือไม่ ซึ่ง ม.ล.ไกรฤกษ์ปฏิเสธกลางที่ประชุม ก.ก.ต.ยืนยันว่าไม่เคยได้รับบันทึกและไม่ได้ลงลายมือชื่อรับบันทึก ดังนั้นข้อเท็จจริงเรื่องการรับบันทึกที่ว่าประธานศาลฎีการับทราบเรื่องความพยายามเสนอให้สินบนแล้วตั้งแต่ 1 พ.ย.49 จึงยังมีความคลาดเคลื่อน ที่ข้อเท็จจริงขัดกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะกรรมการสอบสวนจะได้พิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงต่อไป


ชี้ทำให้สถาบันศาลเสื่อมเสีย


นายสราวุธเปิดเผยว่า ขอขอบคุณที่นายจรัญส่งเอกสารทั้ง 2 แผ่นมาให้ แต่เอกสารหลักฐานที่ได้รับอาจให้เบาะแสได้ไม่มากนัก เพราะเอกสารหลักฐานทั้ง 2 แผ่น กลับไม่ได้เอ่ยถึงชื่อบุคคลเลยว่าใครเสนอสินบน ตุลาการคนใดถูกเสนอให้สินบน เชื่อว่าคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงจะสอบสวนและสรุปผลได้ เพราะไม่มีอะไร ซับซ้อน ซึ่งข้อกล่าวหานี้ถือเป็นเรื่องที่กระทบต่อความน่าเชื่อถือในสถาบันตุลาการที่ประชาชนเชื่อมั่นศรัทธา และประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก ดังนั้นเชื่อว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้นโดยเร็ว



ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ




เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์