"บัน คี มูน" สายตรง "บิ๊กตู่" สอบถามคืบหน้าปัญหา "โรฮิงญา" ย้ำนักย้ำหนา คนกลุ่มนี้ต้องอุ้มชูอย่างดี -รัฐไทยรับปาก ช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม พร้อมประชุม 15 ปท.หาทางออกร่วมกัน
วันนี้ ( 17 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค ในฐานะทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้เวลาประมาณ 10.00 น ตามเวลาในประเทศไทย นาย บัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้โทรศัพท์ถึง พลเอกประยุทธ จันทร์โอนายกรัฐมนตรี เพื่อสอบถามและแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การอพยพของชาวโรฮีนจาที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้น โดยแสดงความเห็นว่าคนเหล่านี้ควรจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และมีสิทธิขั้นพื้นฐาน ในการใช้ดำรงชีวิต
ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์เช่นกันและได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าตรวจและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึบการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจเพื่อดูแลบริเวณน่านน้ำไทย ทั้งนี้ที่ผ่านมาเมื่อมีการตรวจพบเรือชาวโรฮีนจา ทางเจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบในเบื้องต้นถึงสภาพเรือ ความเป็นอยู่ พร้อมสอบถามความต้องการและเจตนารมณ์ของคนเหล่านี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม และตามความสมัครใจของคนเหล่านั้นเช่นกรณีล่าสุดเจ้าหน้าที่ไทยได้รับการร้องขอให้ช่วยเรื่องการซ่อมเรือ พร้อมทั้งขอสนับสนุนช่วยเหลือเรื่องอาหารและ น้ำเพื่อบริโภค-อุปโภค ยารักษาโรคและน้ำมันเพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศที่สามตามความสมัครใจของคนเหล่านั้น นายกรัฐมนตรี ยืนยันด้วยว่าการทำงานของหน่วยเฉพาะกิจเป็นไปตามขั้นตอนโดยมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นลำดับแรก จากนั้นจะสอบถามความสมัครใจของชาวโรฮีนจา
ทั้งนี้การปฏิบัติของไทยนอกจากจะอยู่บนพื้นฐานหลักมนุษยธรรมแล้วยังเป็นไปตามหลักกฏหมายสากล กฏหมายทางทะเลและกฏหมายระหว่างประเทศอื่นๆที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีย้ำว่าทุกประเทศต่างก็มีกฏหมายของตนในการปฏิบัติต่อสถานการณ์ดังกล่าว ดังนั้นการดำเนินการใดๆจะต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ด้วย
พล.ต.วีรชน กล่าวว่า เลขาธิการสหประชาติ ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยและสอบถามถึงการประชุมวาระพิเศษเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย พร้อมกันนี้ได้กล่าวชื่นชมว่าเป็นความริเริ่มที่สำคัญของไทยในการแสวงความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้อธิบายว่ารัฐบาลไทยตระหนักดีถึงความเร่งด่วนในเรื่องนี้และเห็นว่าการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกประเทศและทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสหประชาติที่ต้องมีบทบาทสำคัญในการประสานความร่วมมือ โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอให้สหประชาชาติให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความยากจน เน้นการพัฒนาขั้นพื้นฐาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยหวังให้คนเหล่านี้สามารถดำรงชีวิตได้ตามสิทธิขั้นพื้นฐาน และเห็นว่าการประชุมร่วมของ 15 ประเทศ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 พ.ค. นี้น่าจะเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางเพื่อแสวงหาแนวทางและข้อสรุปของการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ที่สำคัญกว่านั้นเวทีนี้จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียนในการแสดงความรับผิดชอบต่อมวลมนุษยชาติ
ในตอนท้ายของการพูดคุยดังกล่าวนายกรัฐมนตรียังได้ขอให้เลขาธิการสหประชาชาติช่วยทำความเข้าใจกับองค์กรต่างๆให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างรอบคอบเน้นความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาทางสังคมตามหลักมนุษยธรรมบนพื้นฐานของกฏหมายที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆที่ก่อให้เกิดความข้ดแยังทางการเมือง ซึ่งเลขาธิการสหประชาติ กล่าวพร้อมสนับสนุนแนวความคิดนี้และพร้อมร่วมมือเพื่อให้การประชุมของ 15 ประเทศ ประสบผลสำเร็จรวมทั้งขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทยและอาเซียนด้วย