ปชป.ไม่เชื่อปาก แม้ว ยอมถอย - ท้าจริงใจต้องลาออกทันที
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 4 เมษายน 2549 13:57 น.
พรรคประชาธิปัตย์ ไม่วางใจลูกเล่น แม้ว ชี้ เป็นข้อเสนอหลังจากเจอทางตันแล้ว ย้ำต้องแสดงความจริงใจด้วยการประกาศลาออก หรือยอมเว้นวรรคการเมืองทันที เพื่อเปิดทางให้มีการสมานฉันท์ โดยสามารถกลับมาลงสนามแข่งขันใหม่หลังการปฏิรูปการเมือง ขณะเดียวกัน ยอมรับได้หากมีการเสนอชื่อคนอื่นในพรรคไทยรักไทยขึ้นมานั่งนายกฯขัดตาทัพแทนชั่วคราว ชี้ ทำให้ ระบอบทักษิณ จางลง ระบุไม่มีอะไรที่ต้องได้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์
วันนี้ (4 เม.ย.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่เสนอเงื่อนไขตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อหาทางออกทางการเมือง และให้ฝ่ายพันธมิตรประชาธิปไตย ยุติการชุมนุมและฝ่ายค้านต้องส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง จึงจะยอมเว้นวรรคทางการเมือง ว่า ในเบื้องต้นจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ คือ ยึดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง เมื่อตอนยุบสภา เราก็พยายามช่วยเหลือในการหาแนวทาง เพื่อจะจับมือกันแก้ปัญหาบ้านเมืองโดยการชักชวนให้ลงสัตยาบันปฏิรูปการเมือง แต่เมื่อมาถึงจุดนี้ก็ออกมาอย่างที่เราคาดหมายตั้งแต่แรกว่าจะไม่เรียบร้อย เพราะเชื่อว่าจะเลือกตั้งอีกกี่ครั้งก็ได้ไม่ครบ 500 ดังนั้น โอกาสที่จะเปิดสภาเพื่อเลือกนายกฯตามแนวทางปกติจะทำไม่ได้ ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีทางเลือกในการที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯจึงมีข้อเสนอเมื่อวานนี้ที่บอกว่าพร้อมที่จะไม่รับตำแหน่งทางการเมือง
หากถามความเห็นส่วนตัวผมเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ดีแต่นายกฯที่เคยพูดอะไรมาหลายเรื่อง ความเชื่อถือก็ลดน้อยลง เพราะฉะนั้นสิ่งที่นายกฯจะต้องทำ คือ แถลงให้ชัดเจนว่าจะไม่รับตำแหน่ง พูดเดี๋ยวนี้โดยไม่รับเงื่อนไข แต่คำพูดของนายกฯกลับมีเงื่อนไขทำให้คนแปลยาก มีการโยนว่าจะต้องถามคน 16 ล้านคน ว่า จะยอมหรือไม่ หรือจะต้องโยนมาให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องรับปากก่อน หากนายกฯตั้งใจจริง อยากเห็นบ้านเมืองสงบขอให้แสดงความเป็นผู้นำประกาศไม่รับตำแหน่งนายกฯเพื่อความสมานฉันท์ อย่างนี้พวกผมจะขานรับได้เลย เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้นายกฯ พรรคร่วมฝ่ายค้าน และกลุ่มพันธมิตรฯลงสัตยาบัน ในแนวทางสมานฉันท์ นายสุเทพ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เกี่ยงอยู่แล้ว เพราะอยากเห็นบ้านเมืองไปได้ดี แต่นายกฯพูดออกมามีเงื่อนไขมาก พูดดูดีแต่เมื่อลงไปในรายละเอียดกลับน่ากลัว และทำให้คนอื่นรับยากจุดยืนของพรรคได้บอกแล้วว่าระบอบทักษิณเป็นอันตราย เพราะใช้อำนาจมืดข่มเหงรังแก ฉ้อโกงต่อบ้านเมือง แต่ก็ยอมรับได้ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ ยอมเว้นวรรคจะทำให้ระบบทักษิณจางไป และควรจะต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบควบคู่ไปด้วยกัน ซึ่งนายกฯก็บอกแล้วว่าพร้อมจะให้การตรวจสอบ
เมื่อถามว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ยอมวางมือ และเอาคนของพรรคไทยรักไทยขึ้นมาเป็นนายกฯแทน นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่เป็นปัญหาเราจะเอาอะไรให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ทุกอย่างคงไม่ได้ แต่ขอให้ประชาชนไปคิดให้ลึกซึ้ง ว่า นายกฯมีการวางแผนวางเกมเอาไว้หมดแล้วแทบจะบอกชื่อได้เลยว่ากรรมการสมานฉันท์จะต้องเป็นใครบ้างเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ เพราะขนาด นายอานันท์ ปันยารชุน ตกเป็นเหยื่อมาครั้งหนึ่งแล้ว ก็ต้องระวังตัวกันต่อไป แต่เชื่อว่าทุกฝ่ายของบ้านเมืองพร้อมที่จะยอมรับ หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ประกาศอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ถ้าประกาศอย่างเป็นทางการจะไม่มีใครกล้าปฏิเสธได้
ต่อข้อถามว่า หากนายกฯเว้นวรรคแล้วกลับมาลงเลือกตั้งอีกจะยอมได้หรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า การเมืองหลังการปฏิรูปการเมืองแล้วเป็นการปฏิรูปที่แท้จริง จึงสิทธิของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่จะทำได้ แต่ถ้าหากบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนและรัฐธรรมนูญโดยการเข้าไปแทรงแซงองค์กรอิสระและสื่อมวลชน คนก็จะไม่ยอมรับ
นายกฯทักษิณ ไม่ได้เสียสละ แต่เป็นเพราะไม่มีทางไปมากกว่า แต่เมื่อท่านอุตส่าห์มีแก่ใจก็ลองเชื่อดูอีกที แต่นายกฯต้องแสดงก่อนเลย นายสุเทพ กล่าว
ส่วนกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เสนอให้ตำแหน่งรัฐมนตรีกับพรรคประชาธิปัตย์จะยอมรับได้หรือไม่ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ไม่สนใจ เราไม่ต้องการตำแหน่งหรือไปร่วมรัฐบาลข้อเสนอนี้ไม่ต้องมาเสนอกับพรรคประชาธิปัตย์ เอาแค่ พ.ต.ท.ทักษิณ ประกาศว่าไม่เป็นนายกฯก็ช่วยชาติได้เยอะแล้ว เมื่อถามว่า ทางพรรคร่วมฝ่ายค้านจะไปหารือกับกลุ่มพันธมิตรฯหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ต้องดูความจริงใจจากนายกฯก่อนว่าตัดสินใจแน่หรือยัง ถ้าตัดสินใจแบบมีลูกล่อลูกชนจะคิดเรื่องอื่นก็ป่วยการ
ด้าน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรค กล่าวว่า วันนี้ อดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมจะหารือกันภายในพรรค ถึงเรื่องที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เปิดใจเมื่อคืนวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา เพราะมีหลายเรื่องที่จะต้องนำมาพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป ซี่งเราพร้อมที่จะร่วมมือในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ซึ่งกำลังเป็นวิกฤตอยู่ในขณะนี้ ถึงแม้ว่าวิกฤตของปัญหาจะเกิดขึ้นจากปัจจัยสำคัญ คือ ตัวนายกฯก็ตาม ฉะนั้น ข้อเสนอของนายกฯพรรครับฟังและนำมาพิจารณา แต่ในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันต้องยอมรับว่าคำพูดของนายกฯหลายครั้งเชื่อถือไม่ได้ หรือเชื่อถือได้น้อยลงตามลำดับ
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในเบื้องต้นจึงไม่แน่ใจว่าสิ่งที่นายกฯพูดเมื่อวันที่ 3 เม.ย.ในวันนี้หรือพรุ่งนี้จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ และที่สำคัญอีกส่วนหนึ่ง คือนายกฯมีเงื่อนไขอะไรพิเศษอยู่หรือไม่ ถึงแม้ฟังการเปิดใจแล้วจะไม่มีเงื่อนไขอะไรมาก แต่ก็ต้องมาดูด้วยว่าจะเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน
เรายินดีที่จะพบปะพูดคุยเพื่อช่วยให้ปัญหาของประเทศคลี่คลาย แต่สิ่งสำคัญที่สุดต้องพิจารณาบนพื้นฐานของความจริงใจ และแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริงไม่ใช่เฉพาะหน้า ผมไม่แน่ใจว่านายกฯหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดเพียงเพื่อให้สภาเปิดได้หรือไม่ เพราะให้ความรู้สึกว่าเปิดสภาไปเถอะคนจะครบ 500 หรือไม่ครบ จะเลือกมาครบ 20% หรือไม่ แต่พอเลือกนายกฯไปแล้วท่านอาจเปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่ ตรงนี้คือปัญหาสำคัญ อีกเรื่องหนึ่งคือคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นมานั้นสามารถสั่งนายกฯได้หรือไม่ และเป็นกลางจริงหรือไม่เพราะถ้าไม่เป็นกลางประเทศชาติจะยุ่งเหยิงมาขึ้น เพราะประชาชนจะไม่เชื่อถือ นายองอาจ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯเสนอให้ 4 พรรคการเมืองพูดคุยกัน โดยมีพรรคไทยรักไทยร่วมด้วยคิดว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ นายองอาจ กล่าวว่า ในส่วนของพรรคไม่เคยปฏิเสธการพูดคุยกับใคร แต่ตนฟังจากคำพูดของนายกฯก็ไม่แน่ใจว่าจะพลิ้ว หรือจะมีลูกเล่นอะไรหรือไม่ หรือพูดลอยๆขึ้นมาในจอโทรทัศน์ ตรงนี้ควรมีความชัดเจน ยืนยันเป็นเรื่องเป็นราวมากกว่านี้ ส่วนนายกฯควรจะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่นั้น ตนคิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ น่าจะตัดสินใจได้ว่าจะใช้วิธีการไหนที่ให้คนรู้สึกว่าเชื่อถือ
ส่วนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เสนอตั้งกรรมการสมานฉันท์ขึ้นมา 1 ชุด โดยมีอดีตนายกฯ อดีตประธานรัฐสภา อดีตประธานศาลฎีกา ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองนั้น นายองอาจ กล่าวว่า ไม่มีความชัดเจนว่าจะให้มาทำหน้าที่อะไร มาตรวจสอบปัญหาค้างคาใจของประชาชนหรือไม่ หรือจะทำหน้าที่พิจารณาปฏิรูปการเมือง อย่างไรก็ตาม ตนอยากจะฝากไปยังนายกฯว่าผู้นำประเทศไม่ได้อยู่ได้ด้วยเฉพาะการชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แต่ต้องอยู่ด้วยความชอบธรรมที่ประชาชนมอบให้