เมื่อวันที่ 21 เมษายน สำนักข่าวบลูมเบิร์กนำเสนอรายงานเรื่อง "อะไรคือสิ่งที่ผิดพลาดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทย" เขียนโดยกองบรรณาธิการ ระบุว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของไทยซึ่งบอกว่าทำขึ้นเพื่อมอบทุกสิ่งที่ประชาชนทุกคนต้องการ กลับจะยิ่งทำให้ความขัดแย้งในประเทศยืดเยื้อออกไปอีก โดยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการที่จะปกป้องประเทศไทยจากการดำเนินนโยบายประชานิยมและการทุจริตคอร์รัปชั่น
โดยระบุว่าเกิดขึ้นตั้่งแต่ในสมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกมองว่าใช้เพื่อให้ผลประโยชน์กับชาวบ้านที่ยากจนในพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ เพื่อรักษาอำนาจไว้ในมือ หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณหลบหนีไปอยู่นอกประเทศ ไทยต้องเผชิญกับการปฏิวัติหลายครั้ง มีรัฐบาลที่อายุสั้น และมีการเผชิญหน้ากันบนท้องถนนระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนทักษิณกับคนเมืองและชนชั้นกลางของไทย
"เพื่อแก้ไขภาวะชะงักงันทางการเมือง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะทำให้อำนาจของนักการเมืองอ่อนแอลง มีการเลือกตั้งระบบสัดส่วนเพื่อให้ได้พรรคการเมืองขนาดเล็ก ซึ่งจะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลผสมในสภาล่าง ส่วนวุฒิสภาจะมาจากการเสนอชื่อโดยคณะกรรมาธิการหรือจากสาขาอาชีพ ซึ่งรวมถึงกลุ่มที่ถูกครอบงำโดยอดีตนายทหาร สามารถแต่งตั้งคนนอกรัฐสภามาเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบต่างๆ ต้องมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอำนาจเพื่อที่จะได้อำนาจมา ฉะนั้นกลุ่มคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจะสืบทอดอำนาจของตนเองต่อไป ไม่ใช่จากผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งซึ่งถูกมองว่าเป็นพวกที่หวั่นไหวง่ายไปกับนโยบายประชานิยม" สำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุ และว่า
ระบบเช่นว่าทำให้หวนนึกถึงความล้มเหลวของประเทศไทยในอดีต ทั้งเรื่องนายกรัฐมนตรีและวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง รวมถึงสภาล่างที่อ่อนแอที่ทำให้ไทยมีรัฐบาลผสมถึง 25 รัฐบาล นับตั้งแต่ปี 2522 กระทั่งทักษิณชนะเลือกตั้งในปี 2544 เนื่องจากคนไทยจำนวนมากได้เคยลงคะแนนเสียงภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีเสรีมาแล้ว กระทั่งคนจนเริ่มชินกับความคิดที่ว่าเสียงของตนมีความหมาย จึงเป็นเรื่องยากที่จะคาดหวังให้พวกเขาไว้ใจที่จะปล่อยให้กลุ่ม "ผู้รู้" ในกรุงเทพฯ เป็นคนกำหนดชะตาชีวิตของพวกเขา
สำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุอีกว่า ไม่มีเหตุผลใดที่จะทำให้เชื่อว่าการบิดรัฐธรรมนูญเช่นนี้จะช่วยขจัดความชั่วร้ายภายใต้ระบอบทักษิณได้ เพราะแม้แต่รัฐบาลทหารก็แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งยังต้องหันไปพึ่งนโยบายประชานิยมอย่างง่ายดายเหมือนกับรัฐบาลอื่นๆ ขณะที่การทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ได้เพิ่งเริ่มขึ้นพร้อมกับการก้าวเข้ามาของทักษิณ และจะไม่ยุติลงเมื่อตระกูลชินวัตรออกไปพ้นเวทีการเมือง เพื่อที่จะขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่น เราจำเป็นต้องมีความโปร่งใส เช่นเดียวกับกระบวนการอิสระที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง ซึ่งมีหลักฐานให้เห็นน้อยมากกว่ารัฐธรรมนูญใหม่ของไทยที่ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้
สำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุอีกว่า ทางออกไม่ใช่การทำให้นักการเมืองหมดอำนาจราวกับว่าพวกเขาเป็นสิ่งมีชีวิตที่้ร้ายกาจ เพราะมีเพียงประชาชนที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งเท่านั้นที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลได้ และความจริงแท้เดียวที่จะตรวจสอบอนาคตของรัฐบาลไทยในอนาคตคือความเสี่ยงที่จะแพ้การเลือกตั้ง หนทางเดียวสำหรับพรรคฝ่ายค้านที่จะเอาชนะความนิยมของทักษิณคือการทำงานหนักเพื่อพัฒนาประเด็นที่เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับพรรคของตน รัฐธรรมนูญใดๆ ก็ตามที่พยายามหลีกเลี่ยงพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยจะเป็นเพียงสิ่งรับประกันว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นอีกเท่านั้น