"ลดาวัลลิ์" โต้รธน.ฉบับใหม่ ไม่ได้ดีสมคำร่ำลือ ตาม 4 ป. -ได้รบ.ผสมที่อ่อนแอ แถมนายกคนนอก สว.ลากตั้ง ไม่เปิดโอกาสให้ปชช.มีสิทธิ์ตามปชต. ในการเลือกตั้ง 100%
วันนี้ ( 21 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่านางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสาระในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังอภิปรายกันในที่ประชุม สปช.ขณะนี้ ว่าได้ให้อำนาจพลเมืองไว้มากมายมหาศาล ตามคำโอ้อวดของ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และตามคำอภิปรายของบรรดาสมาชิก สปช. ที่ต่างก็กล่าวชื่นชมว่าเป็น รธน.ที่ดีที่สุด ดีกว่าทุกฉบับที่เคยประกาศใช้ โดยเฉพาะนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรัฐมนตรีและอดีต ส.ส.ปชป.ถึงกับสรุปความดีไว้ 4 ป. คือเป็น รธน.ที่ ปฏิรูปประเทศ เป็นประชาธิปไตย ประชาชนหรือพลเมืองเป็นใหญ่ และเป็นประชามติ
ทั้งนี้แต่ละ ป.ไม่เป็นความจริงขึ้นได้เลย นั่นคือ ปฏิรูปประเทศจะเกิดได้อย่างไรในเมื่อจะได้รัฐบาลผสมที่อ่อนแอขาดเสถียรภาพ จะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไรในเมื่อให้คนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีและ ส.ว.มาจากการสรรหาก่อนจึงให้ประชาชนเลือก ทำให้ประชาชนไม่มีสิทธิ์เต็ม 100%ในการเลือกตั้ง และยังไม่มีความแน่ชัดว่าจะจัดทำประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญเลย และมีทีท่าว่าจะไม่ทำประชามติด้วยซ้ำ
นางลดาวัลลิ์ กล่าวอีกว่า รู้สึกไม่สบายใจเมื่อ นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต. และ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม หรือ ก.บ.ศ. เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา แสดงจุดยืนของศาลยุติธรรมที่มีความเห็นแตกต่าง ต่อร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ในหลายมาตรา ที่สำคัญ คือมาตรา 225 เรื่ององค์กรบริหารงานบุคคล ของผู้พิพากษาหรือตุลาการ ที่กำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งไม่เคยเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการ และไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการซึ่งเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลนั้น เห็นว่าการกำหนดสัดส่วนดังกล่าวอาจเกิดการแทรกแซงการบริหารงานบุคคล และกระทบต่อความอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการ และอาจเกิดการแทรกแซงในคดี กระทบต่อการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน
"ประเด็นนี้ต้องรับฟังความเห็นของฝ่ายตุลาการเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีความต่างๆปราศจากการแทรกแซงจากบุคคลที่ไม่ใช่ผู้พิพากษาโดยตรง แม้ว่าเป็นเรื่องดีที่พลเมืองจะได้รับสิทธิ์ตาม รธน.เข้าไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิฯ แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่าผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละคนจะมีความเป็นธรรมและเป็นกลางและจะไม่รับใบสั่งเข้ามาแทรกแซงในคดีต่างๆจนกระทบต่อความยุติธรรมของทั้งโจทก์และจำเลย ตามความห่วงใยและออกมาทักท้วงของศาลยุติธรรม"นางลดาวัลลิ์กล่าว??นางลดาวัลลิ์ กล่าวในตอนท้ายว่า สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ควรรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญจากทุกคน ทุกฝ่าย นอกเหนือจาก สมาชิก สปช.ด้วยกันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรรับฟังข้อเสนอของคนที่เห็นต่างทางการเมืองด้วย ตนเชื่อว่าคงจะมีฝ่ายการเมืองเสนอความคิดเห็นเพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่าง รธน.ให้ดีที่สุด ในช่วงเวลานี้ไปจนถึงวันที่ 25 พ.ค.