21 เม.ย.58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
มีมติอายัดทรัพย์ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และนางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ จำนวน 40.95 ล้านบาท ไว้ตรวจสอบเป็นการชั่วคราว กรณีมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจะมีการโอน ยักย้าย แปรสภาพ หรือซุกซ่อนทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการร่ำรวยผิดปกตินั้น ทั้งนี้ จากการตรวจสอบคดีความต่างๆ ที่นายธาริตตกเป็นจำเลย และผู้ถูกกล่าวหา ในหน่วยงานความยุติธรรม พบว่ามีอย่างน้อย 6 คดี มี 3 คดีที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ และมี 3 คดีที่นายธาริตชนะคดี ดังนี้
1.คดีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ยื่นฟ้องนายธาริตต่อศาลอาญา กรณีผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 , 90 , 157 และ 200 ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา
จากกรณีเมื่อช่วงปี 54 - 55 ดีเอสไอได้สรุปสำนวนนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ในข้อหาก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าโดยเจตนา จากการที่ออกคสั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ใช้กำลังเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพเห็นว่า ดีเอสไอไม่มีอำนาจ ต้องเป็นการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ซึ่งล่าสุด ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องนายธาริต เนื่องจากเห็นว่ากระทำไปตามพยานหลักฐาน ไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่บิดเบือนและกลั่นแกล้ง
2.คดีที่ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ 44 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นฟ้องนายธาริตต่อศาลอาญา ศาลปกครอง และคณะกรรมการ ป.ป.ช.กรณีที่ดีเอสไอรื้อคดีการหักบัญชีเงินเดือน ส.ส.เพื่อบริจาคเข้าพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาทำอีกครั้ง ภายหลังที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ยุติการพิจารณาคดีดังกล่าวไปแล้ว โดยคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการไต่สวนของศาลอาญา ศาลปกครอง และการแสวงหาข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
3.คดีที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ยื่นฟ้องนายธาริตต่อศาลอาญา กรณีที่นายธาริตแถลงข่าวหมิ่นประมาทในการโฆษณา กล่าวหาว่าทุจริตโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน โดยกรณีนี้ นายธาริตแถลงข่าวใส่ความนายสุเทพ ทำนองว่าเป็นผู้มีคำสั่งไม่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารสถานีตำรวจทดแทน จำนวน 396 แห่ง แต่กลับให้รวมสัญญา จากรายภาคเป็นรายเดียว ทำให้บริษัทที่ประมูลได้ดำเนินการไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ล่าสุด ศาลอาญา พิพากษายกฟ้องนายธาริต เนื่องจากเป็นการให้ความเห็นทางกฎหมาย และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่ในการสรุปความคืบหน้าของคดีตามพยานหลักฐาน
4.คดีที่ พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ อดีต ผบ.สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา ดีเอสไอ ยื่นฟ้องนายธาริต กับพวกต่อศาลอาญา กรณีเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น โดยกรณีดังกล่าว เมื่อช่วงปี 55 นายธาริตเสนอย้าย พ.อ.ปิยะวัฒก์ ให้ไปดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ ประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นการย้ายตำแหน่งที่ต่ำกว่าเดิม โดยอ้างว่า พ.อ.ปิยะวัฒก์ ทำผิดวินัย ซึ่ง พ.อ.ปิยะวัฒก์ ได้ร้องต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ซึ่งได้มีคำวินิจฉัยว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการไต่สวนของศาลอาญา
5.กรณีที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม สั่งการให้ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการใช้ดุลยพินิจสั่งคดีโดยมิชอบของนายธาริต กับพวก ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ ในการสั่งไม่ฟ้องคดี บริษัท อันตน จำกัด นำเข้าไม้สักแปรรูปจากประเทศพม่า มูลค่ากว่า 204 ล้านบาท โดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย
โดยกรณีนี้ ดีเอสไอได้รับเป็นคดีพิเศษไว้เมื่อปี 53 และมีคำสั่งแต่งตั้ง นายชาติชาย โทสินธิติ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษ ภาคเหนือ เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน
แต่ต่อมาได้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงให้ นายชำนาญ ฉันทวิทย์ ผบ.สำนักคดีภาษีอากร เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน จากนั้นได้สรุปสำนวนสั่งฟ้องบริษัท อันตน กระทำผิดกฎหมาย แต่รองอธิบดีดีเอสไอขณะนั้นได้ทำความเห็นเสนอไปยังนายธาริต ว่าสมควรสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่ได้เป็นการหลีกเลี่ยงภาษี ส่วนไม้สักของกลางให้อายัดไว้จนกว่าคดีจะสิ้นสุด ต่อมาในการพิจารณาชั้นอัยการก็มีความเห็นไม่สั่งฟ้อง และคืนไม้สักของกลางให้บริษัท อันตน
อย่างไรก็ดี คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีบริษัท อันตน ทำรายงานถึงปลัดกระทรวงยุติธรรม พบความผิดปกติในคดีดังกล่าวถึง 5 ประเด็น
รวมไปถึงประเด็นใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในชั้นสอบสวนของดีเอสไอ จึงเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า บริษัท อันตน จงใจฝ่าฝืนกฎหมาย โดยล่าสุด กรณีดังกล่าว พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ได้ส่งเรื่องไปให้ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีดีเอสไอ สั่งการให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานคดีนี้ใหม่อีกครั้ง นอกจากนี้ คดีบริษัท อันตน ยังอยู่ในชั้นการไต่สวนของคณะอนุกรรมการไต่สวนคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่มี นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนอีกด้วย
6.คดีที่ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตจเรตำรวจแห่งชาติ เข้ายื่นฟ้องนายธาริต กับพวกต่อศาลอาญา ในข้อหาแจ้งความเท็จ และปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณียื่นขอถอนประกันตัวชั่วคราว คดีร่วมกันอุ้มฆ่า นายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย โดยคดีนี้ ดีเอสไออ้างว่า พล.ต.ท.สมคิด ใช้อำนาจข่มขู่พยานคือ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก พยานปากสำคัญ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทำให้พยานรู้สึกหวาดกลัว ซึ่งไม่เป็นความจริง ล่าสุด ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องนายธาริต เนื่องจากการให้สัมภาษณ์ของนายธาริต เป็นการแถลงความคืบหน้าของคดี ทำไปตามอำนาจหน้าที่ในฐานะอธิบดีดีเอสไอ แสดงความคิดเห็นโดยบริสุทธิ์ ไม่ใช่การไส่ความต่อบุคคลที่สามให้เสื่อมเสียชื่อเสียง
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา
ขุดคุ้ย6คดีธาริตอดีตอธิบดีDSI ก่อนถูกป.ป.ช.สั่งยึดทรัพย์40ล.
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง ขุดคุ้ย6คดีธาริตอดีตอธิบดีDSI ก่อนถูกป.ป.ช.สั่งยึดทรัพย์40ล.