38 เขต 15 จังหวัดเลือกตั้งใหม่ 9 เม.ย.

38 เขต 15 จังหวัดเลือกตั้งใหม่ 9 เม.ย.

โนโหวตพรึบ ทรท.15 จังหวัด 38 เขตไปไม่ถึงฝั่งได้คะแนนไม่ถึง 20% กกต.ประกาศเลือกตั้งใหม่ 9 เม.ย. ขณะที่ 14 จังหวัดภาคใต้พร้อมใจต้านทักษิณกาช่องไม่เลือกใคร ส่วนคนกรุงตบหน้าไทยรักไทย สอนบทเรียนสุดแสบกาช่องไม่เลือกสูงกว่าคะแนนผู้สมัครถึง 29 เขต

ผลการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศในวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมา ได้แสดงอะไรหลายอย่างต่อความไม่มั่นใจในการบริหารของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะการเลือกตั้งแบบโนโหวตที่ประชาชนพร้อมใจไม่ลงคะแนนเลือกผู้สมัครไทยรักไทย ล่าสุดหลังจากเจ้าหน้าที่เริ่มนับคะแนนตลอด 2 วันที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกประกาศว่ามีผู้สมัครคนเดียวที่ไม่ผ่านเกณฑ์การเลือกตั้งร้อยละ20 ตามที่กฎหมายจำนวนทั้งสิ้น 38 เขตใน 15 จังหวัด และพร้อมจะจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 9 เมษายนทันที


เลือกตั้งซ่อมใหม่ 38 เขต


เมื่อวันที่ 3 เมษายน พล.ต.ต.เอกชัย วารุณประภา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงผลการนับคะแนนกึ่งทางการว่า จังหวัดที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียว และได้คะแนนไม่ถึง 20% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้นๆ มีจำนวน 38 เขตใน 15 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ เขต 1, 2, 3 ชุมพร เขต 1, 3 ตรัง เขต 1, 2, 4 นครศรีธรรมราช เขต 1, 2, 3, 6, 8 นราธิวาส เขต 1, 2, 4 ปัตตานี เขต1, 2 พังงา เขต 1 พัทลุง เขต 2, 3 ภูเก็ต เขต 1, 2 ยะลา เขต 1, 3 สงขลา เขต 1, 2, 3, 4, 6, 7, 8 สตูล เขต 1 สุราษฎร์ธานี เขต 3, 4, 6 ประจวบคีรีขันธ์ เขต 3 และเพชรบุรี เขต 1

ส่วนการเลือกตั้งใหม่ที่ต้องมีขึ้นนั้น พล.ต.ต.เอกชัย กล่าวว่า กกต.ยังไม่มีการประชุมเพื่อลงมติ และยังไม่มติว่า จะเปิดรับสมัครใหม่หรือไม่ ซึ่งจะมีการพิจารณาวันที่ 4 เมษายนนี้ อย่างไรก็ตาม กกต.จะจัดเลือกตั้งใหม่พร้อมกัน รวมทั้งเขต 3 นนทบุรี ที่ไม่มีผู้สมัครด้วย

ทั้งนี้ มีรายงานว่า กกต.จะจัดให้ 15 จังหวัดใน 38 เขต ทำการเลือกตั้งใหม่โดยเร็วที่สุด ซึ่งเชื่อว่า กตต.จะประกาศวันเลือกตั้งซ่อมในวันที่ 9 เมษายน


ภาคใต้ไม่เอาทรท.ร่วงเพียบ


ผู้สื่อข่าวรายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 2- 3 เมษายนนั้นเป็นไปอย่างคึกคัก เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ เนื่องจากพบว่าประชาชนเริ่มไม่พอใจต่อระบบการบริหารประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในส่วนของพื้นที่ภาคใต้พบว่าใน 14 จังหวัดภาคใต้มีการเลือกตั้งทั้งหมด 56 เขตเลือกตั้ง โดยเขตที่มีผู้ลงสมัครคนเดียว 41 เขต ตรวจสอบผลผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการใน 41 เขต ปรากฏว่า ผ่านเกณฑ์ 20 เปอร์เซ็นต์ 12 เขต

ส่วนจังหวัดที่ไม่ผ่านเกณฑ์ 20 เปอร์เซ็นต์มีถึง 36 เขต ซึ่งเขตเลือกตั้งคนเดียวที่ไม่ผ่านเกณฑ์ 20% ใน 14 จังหวัดภาคใต้ คือ กระบี่ เขต 1,2, 3, ชุมพร เขต 1, 3, ตรัง เขต 1, 2, 4, นครศรีธรรมราช เขต1, 2, 3, 6, 8, นราธิวาส เขต1, 2,4 ปัตตานี เขต 1, 2, พังงา เขต 1, พัทลุง เขต 2, 3, ภูเก็ต เขต 1, 2, ยะลา เขต 1, 3, สงขลา เขต 1, 2, 3, 4, 6, 7, 8 ,สตูล เขต 1, สุราษฎร์ธานี เขต 3, 4, 6

สำหรับบรรยากาศทั่วไปของการเลือกตั้ง ส.ส.ในจังหวัดภาคใต้พบว่าในภาพรวมถือเป็นการพ่ายแพ้ของพรรคไทยรักไทยอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการชี้ชัดว่า หลายจังหวัดส่อเค้าต้องจัดเลือกตั้งใหม่ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีจำนวนเขตเลือกตั้งรวม 12 เขต และมีเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครลงสมัครคนเดียว 10 เขตเลือกตั้ง ซึ่งการตรวจสอบผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการใน 10 เขตที่มีคนลงสมัครคนเดียว ปรากฏว่าผ่านเกณฑ์ 20 เปอร์เซ็นต์ 6 เขต ส่วนอีก 4 เขต ไม่ผ่านเกณฑ์ 20 เปอร์เซ็นต์


ยะลาเด็กทรท.ร่วง 2 เขต


ทั้งนี้ในส่วนของ จ.ยะลาพบว่า เขตเลือกตั้งที่ 1 นายไพโรจน์ เฉลียวศักดิ์ ผู้สมัครพรรคไทยรักไทย หมายเลข 2 ได้คะแนน 12,090 คะแนน บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน 42,055 บัตร และบัตรเสีย 8,838 บัตร ซึ่งในเขตเลือกตั้งที่ 1 ซึ่งมีผู้สมัครเพียงรายเดียว ซึ่งผลคะแนนที่ออกมาปรากฏว่าไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่

สำหรับเขตเลือกตั้งที่ 2 มีนายซูการ์โน มะทา ผู้สมัครพรรคไทยรักไทย หมายเลข 2 ได้รับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ 25,354 คะแนน บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน 27,596 บัตร บัตรเสีย 19,411 บัตร ซึ่งในเขตเลือกตั้งที่ 2 ซึ่งมีผู้สมัครเพียงรายเดียวเช่นกัน แต่ผลการนับคะแนนปรากฏว่า นายซูการ์โนได้คะแนนเกิน 20 เปอร์เซ็นต์

ส่วนเขตเลือกตั้งที่ 3 นายบูราฮานูดิน อุเซ็ง ผู้สมัครพรรคไทยรักไทยหมายเลข 2 ได้รับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ 18,411 คะแนน บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน 33,577 บัตร และบัตรเสียจำนวน 15,393 บัตร ซึ่งในเขตเลือกตั้งที่ 3 ซึ่งมีผู้สมัครเพียงรายเดียว จึงไม่ผ่านเกณฑ์ 20 เปอร์เซ็นต์


ทรท.กระบี่ร่วงหมด 3 เขต


เช่นเดียวกับที่ จ.กระบี่ พบว่าผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยไม่สามารถได้คะแนนพ้นเกณฑ์ 20% ทั้ง 3 เขต เมื่อนางประหยัด ศรีบุญชู ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำ จ.กระบี่ กล่าวสรุปผลการเลือกตั้งว่า ผลการนับคะแนนเลือกตั้งเขตเลือกตั้งที่ 1 นายสฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง หมายเลข 2 พรรคไทยรักไทย ได้คะแนนทั้งสิ้น 13,853 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 16.03 เขตเลือกตั้งที่ 2 นายสุพจน์ นครป้อ หมายเลข 2 พรรคไทยรักไทย ได้คะแนนทั้งสิ้น 7,293 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 8.04 เขตเลือกตั้งที่ 3 นายอติพจน์ ศรีสุคนธ์ หมายเลข 2 พรรคไทยรักไทย ได้คะแนนทั้งสิ้น 11,340 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 12.59 ซึ่งทั้งหมดไม่ผ่านเกณฑ์ 20% ตามที่กฎหมายกำหนด

นางประหยัด กล่าวอีกว่า ส่วนการเลือกตั้งซ่อมทั้ง 3 เขตเลือกตั้งของ จ.กระบี่ เนื่องจากมีคะแนนไม่ถึงเกณฑ์กำหนดร้อยละ 20 ตามกฎหมายเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งกลาง ได้กำหนดเป็นการภายในให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำ จ.กระบี่ เตรียมการเลือกตั้งซ่อมขึ้นในวันที่ 9 เมษายนนี้


บัตรเสียเขียนด่า...ทักษิณ


ขณะเดียวกัน พบว่ามีประชาชนผู้ไปลงคะแนนจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่จะกาช่องไม่เลือกผู้สมัคร ซึ่งเจ้าหน้าที่เริ่มนับคะแนนตั้งแต่เวลา 21.21 น. พบว่ามีผู้ลงคะแนนบัตรผู้สมัครพรรคไทยรักไทยเพียงแค่หลักพันเท่านั้น ส่วนที่ จ.พังงา ผลการนับคะแนนเขตเลือกตั้งที่ 1 จ.พังงา ที่โรงเรียนอนุบาลพังงา มีการนับคะแนนผ่านไปแล้ว 1 หมื่นคะแนนแรกเสร็จสิ้นไปแล้ว ปรากฏว่าบัตรที่กาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนมีจำนวนทั้งสิ้น 7,580 ใบ กาช่องผู้สมัครเบอร์ 2 จำนวน 1,268 ใบ และบัตรเสียจำนวน 1,125 ใบ

วันเดียวกันที่ จ.ปัตตานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การนับคะแนนผลการเลือกตั้งในพื้นที่ จ.ปัตตานี โดยเขตแรกที่เริ่มนับไปก่อนคือเขตเลือกตั้งที่ 3 โดยเริ่มนับตั้งแต่เวลา 21.40 น. ส่วนเขตอื่นๆ เริ่มนับหลังจากเขตเลือกตั้งที่ 3 ห่างกันไม่เกิน 1 ชั่วโมงเศษ โดยผลการนับคะแนนล่าสุดในพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 1 นับไปได้ประมาณไม่ถึง 1 รอบ พบว่าบัตรลงคะแนนส่วนใหญ่กาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนเสียง แต่ที่สร้างความฮือฮาให้เจ้าหน้าที่นับคะแนนและผู้สังเกตการณ์ ที่กระดานที่ 1 คือมีบัตรเสียเขียนข้อความด่านายกฯ ทักษิณ

สำหรับเขตเลือกตั้งที่ 2 ก็ผลคะแนนกาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนเป็นส่วนใหญ่ ล่าสุดผลการนับคะแนนเขตเลือกตั้งที่ 2 จ.ปัตตานี ซึ่งนับไปได้กว่า 13 เปอร์เซ็นต์ มีผู้สมัครไทยรักไทยเพียงลงสมัครคนเดียวคือ พ.ต.ท.เจ๊ะอิสมาแอ เจ๊ะโมง ได้คะแนน 1,340 คะแนน บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน 5,907 คะแนน และบัตรเสีย 2,754 ใบ

เขต 1 ชุมพร ทรท.หมดลุ้น

ขณะเดียวกันในส่วนของ จ.ชุมพร ผลการนับคะแนนของเขตเลือกตั้งที่ 1 โดยในเขตเลือกตั้งนี้มีผู้สมัครเพียงคนเดียว คือ นายธวัช บุรินทร์วัฒนา พรรคไทยรักไทย เขต 1 ชุมพร นับคะแนนเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ กกต.จังหวัดยังไม่รับรองให้เป็นทางการ ปรากฏว่าผลการนับคะแนน นายธวัช ได้คะแนนเสียง 10,359 คะแนน ไม่ประสงค์ลงคะแนน 51,206 คะแนน โดยในเขตเลือกตั้งที่ 1 จ.ชุมพร มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้จำนวน 68,219 คน คิดเป็นร้อยละ 63 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่ กกต.จังหวัดตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 75 ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ นายธวัช มีคะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละ 20 จึงไม่ได้เป็น ส.ส.

ส่วนที่ จ.สตูล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คะแนนเขตเลือกตั้งที่ 1 จ.สตูล รอบ 2หมื่นบัตร มีประชาชนเลือกผู้สมัครพรรคไทยรักไทย 5,121 คะแนน ไม่ประสงค์ลงคะแนนสูงถึง 11,773 คะแนน บัตรเสีย 3,103 ใบ


ตรังเลือกตั้งใหม่ 3 เขต


ขณะที่ จ.ตรัง พบว่า ผลการนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ต้องนับแบบข้ามวันข้ามคืน ปรากฏว่า นายไกรสิน โตทับเที่ยง ผู้สมัครพรรคไทยรักไทยเขตเลือกตั้งที่ 1 และนายทวี สุระบาล ผู้สมัครพรรคไทยรักไทยเขตเลือกตั้งที่ 2 ได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ร้อยละ 20 ทำให้ต้องเลือกตั้งใหม่

อย่างไรก็ตาม ในเขตเลือกตั้งที่ 1 ทราบว่ายังคงมีปัญหาความวุ่นวายเป็นระยะๆ มีการโห่ร้องโจมตีการทำงานของเจ้าหน้าที่ กกต.เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ช่วงค่ำที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งตำรวจต้องระดมกำลังกว่า 300 นาย มารักษาความปลอดภัย ทำให้การนับคะแนนล่าช้าออกไป ขณะเดียวกันในช่วงเช้าวันนี้มีการสับเปลี่ยนกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจนับคะแนนชุดใหม่มาแทนที่เจ้าหน้าที่ชุดเก่าแล้ว

ส่วนเขตเลือกตั้งที่ 3 นั้นไม่มีปัญหาสำหรับผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทย เพราะมีพรรคประชากรไทยร่วมลงสมัครด้วยทำให้ นางทัศนีย์ สุนทรนนท์ ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงเพียง 7,431 คะแนน น้อยกว่าบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนที่มีถึง 46,977 ใบ ส่วนบัตรเสียก็มีสูงถึง 11,404 ใบ

ขณะที่เขตเลือกตั้งที่ 4 พบว่านายพีระพล ลังเมือง อดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จากพรรคไทยรักไทย ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเพียง 9,882 คะแนน ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ในขณะที่บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนมีถึง 52,000 ใบ ส่วนบัตรเสียมี 10,876 ใบ ซึ่งถือว่าสูงสุดกว่าทุกๆ เขตเลือกตั้ง


สุราษฎร์ธานีไม่ลงคะแนนยอดพุ่ง


ทั้งนี้ในส่วนบรรยากาศการนับคะแนนเขต 1 อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี นั้น เจ้าหน้าที่ได้ใช้อาคารโรงยิมเนเซียมสนามกีฬากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นสถานที่นับคะแนนและใช้กำลังทหารจากค่ายวิภาวดีรังสิต จังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานี เป็นผู้นับคะแนนรอบละ 1 หมื่นคะแนน 20 กระดาน กระดานละ 500 คะแนน โดยเริ่มนับคะแนนรอบแรกตั้งแต่เวลา 21.30 น. วันที่ 2 เมษายน จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 114,356 คน ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 66,356 คน หรือ 57.99% ปรากฏว่ารอบแรก ส.ส.แบบแบ่งเขต มีคะแนนช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนมาเป็นอันดับ 1 ประมาณ 60% ขณะที่นายภานุ ศรีบุศยกาญจน์ ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยคะแนนมาเป็นอันดับที่ 2 ประมาณ 35% อีก 5% เป็นคะแนนของ น.ส.สุมิตรา แก้วอินทร์ ผู้สมัครพรรคคนขอปลดหนี้ และบัตรเสีย

ขณะที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อพบว่าคะแนนช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนมากกว่า 90% ที่เหลือเป็นคะแนนจากพรรคไทยรักไทยและพรรคเล็กๆ และบัตรเสียและเริ่มนับคะแนนรอบที่ 2 ในเวลาประมาณ 22.30 น. วันที่ 2 เมษายน คะแนนอันดับ 1 ยังเป็นคะแนนไม่ประสงค์ลงคะแนนประมาณ 99% ที่เหลือเป็นพรรคไทยรักไทย ท่ามกลางประชาชนที่มาดูการนับคะแนนค่อนข้างเบาบางประมาณ 100-150 คน

สำหรับพื้นที่เขตอื่นๆ เริ่มนับคะแนนเช่นเดียวกันในเวลาประมาณ 22.00 น. วันที่ 2 เมษายน ยกเว้นเขต 2 ซึ่งมีพื้นที่เกาะสมุย และเกาะพะงันรวมอยู่ด้วย ต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ขนหีบบัตรระหว่างเกาะบริวาร จากนั้นเช่าเหมาลำเรือเฟอร์รี่มาที่ท่าเทียบเรือ อ.ดอนสัก ก่อนที่จะเช่ารถตู้คอนเทนเนอร์บรรทุกหีบบัตรไปยังที่นับคะแนนที่โรงเรียนกาญจนดิษฐ์วิทยาคม อ.กาญจนดิษฐ์ ท่ามกลางสภาพอากาศที่มีฝนตกหนัก ทำให้การนับคะแนนล่าช้าออกไปและเริ่มนับคะแนนได้ในเวลาประมาณ 23.00 น. โดยช่วงแรกคะแนนไม่ประสงค์ลงคะแนนมาเป็นอันดับ 1 ทั้งบัญชีรายชื่อและ ส.ส.แบบแบ่งเขต โดยแบ่งโซนคนละด้านและนับพร้อมกัน


เขต 6 สงขลาวุ่นพบหีบบัตรมีพิรุธ


อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าช่วงเช้าวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา ที่ศาลาประชาคม อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา ซึ่งเป็นสถานที่ตรวจนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.เขตเลือกตั้งที่ 6 ได้เกิดความวุ่นวายขึ้น เนื่องจากหีบบัตรลงคะแนนใบหนึ่งจากหน่วยเลือกตั้งหน่วยหนึ่งที่มาจากพื้นที่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา มีความไม่ชอบมาพากล เนื่องจากเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจนับคะแนนเปิดหีบบัตรออกพบว่า บัตรลงคะแนนเลือกตั้งไม่ได้คละกัน แต่กลับมีการเรียงซ้อนกันเป็นกองๆ ไว้อย่างเป็นระเบียบ ทำให้ทีมงานของ นายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อดีต ส.ส.เขต 6 ที่เฝ้าสังเกตการณ์อยู่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจรับหีบบัตรสังเกตเห็น จึงไม่ยอมรับหีบบัตรใบนี้ เพราะถือว่ากระทำตามขั้นตอนไม่ถูกต้อง สงสัยว่าจะมีการเปิดหีบบัตรตรวจนับมาก่อนแล้ว

นายถาวร กล่าวว่า หลังจากที่รับทราบเรื่องจากทีมงานที่ไปเฝ้าสังเกตการณ์ว่า มีหีบบัตรลงคะแนนใบหนึ่งที่มาจากพื้นที่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา มีความพิรุธไม่ชอบมาพากล เนื่องจากเมื่อเปิดหีบบัตรออกมากลับพบว่ามีบัตรลงคะแนนจัดเรียงซ้อนกันเป็นกองๆ ไว้อย่างมีระเบียบ ซึ่งก็ไม่ทราบว่ามาจากหน่วยเลือกตั้งใดนั้น ในส่วนนี้ก็ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ กกต.แล้ว และคิดว่าอาจจะเกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งดังกล่าว ที่ไม่ทราบรายละเอียด และได้แกะหีบบัตรตรวจนับก่อนที่จะมาส่งให้เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจนับที่สถานที่ตรวจนับคะแนนที่กำหนด

"เรื่องนี้ไม่อยากจะให้มีปัญหามากนัก จึงบอกกับเจ้าหน้าที่ กกต.ไปว่า ให้มีการตรวจนับได้ตามปกติ เพียงแต่มีข้อแม้ว่าหากผลการนับคะแนนในหีบบัตรใบนี้มีความผิดปกติ คือ เมื่อนับแล้วพบว่ามีแต่หมายเลข 2 เป็นส่วนใหญ่ ก็ขอให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ กกต.ก็รับปาก และดำเนินการตรวจนับคะแนนต่อไปทันที"นายถาวร กล่าว


วีระ ยอมรับภาคใต้แพ้


วันเดียวกัน นายวีระ มุสิกพงศ์ คณะกรรมการดูแลพื้นที่การเลือกตั้งภาคใต้ พรรคไทยรักไทย กล่าวถึงผลการเลือกตั้งภาคใต้ว่า ไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์อะไรเลย เพราะรู้ล่วงหน้าแล้วว่า ผลจะออกมาเป็นอย่างไร คือได้น้อยหรือไม่ได้เลย เนื่องจากเป็นพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่แข็งมากๆ

"ฐานเสียงเขาก็แน่น นี้ขนาดชกข้างเดียว แล้วเรายังแพ้ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ส่วนคะแนนโนโหวตที่เยอะมากนั้น ก็คงไม่ต้องวิเคราะห์ เพราะรู้กันอยู่แล้วว่ากลุ่มนั้นเป็นคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์ พวกผมชินกับการแพ้ในพื้นที่ภาคใต้มานานแล้ว ทั้งนี้หวังว่าการเลือกตั้งซ่อม จะเป็นหนทางให้เราชนะ โดยระหว่างนี้ทางพรรคจะประกาศเชิญชวนหาพรรคการเมืองอื่นมาลงแข่ง ซึ่งคงจะเป็นหนทางเดียว ที่จะทำให้เราได้ผู้แทน แม้จะดูไม่ชอบธรรม แต่เราก็ถือว่าชนะ" นายวีระ กล่าว

คนกรุงตบหน้าทรท.โนโหวตพรึ่บ


ด้านความคืบหน้าผลการนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. 36 เขตในกรุงเทพมหานคร พบว่า คนกรุงเทพฯ ได้สอนบทเรียนให้พรรคไทยรักไทยแบบสุดแสบเมื่อผลการนับคะแนนปรากฏว่า ประชาชนได้ลงคะแนนในช่องไม่เลือกใครสูงถึง 26 เขต ขณะที่ผู้สมัครไทยรักไทยสามารถสอบผ่านอย่างฉิวเฉียดเพียงแค่ 10 เขตเท่านั้น นอกจากนี้ยังพบบัตรเสียจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ทั้งนี้บรรยากาศผลการนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. 36 เขตในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏว่า คะแนนของผู้สมัครของพรรคไทยรักไทยที่ได้มากกว่าคะแนนไม่เลือกใคร มีทั้งสิ้น 10 เขต ได้แก่ เขต 1, 2, 12,13,14,15, 24, 25, 34 และ 36 โดยเขต 25 มีนบุรี-คลองสามวา นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ได้คะแนนสูงสุด 54,012 คะแนน ขณะที่คะแนนไม่เลือกใครก็สูงถึง 53,012 คะแนน บัตรเสีย 5,700 คะแนน (นับไปแล้ว 96%) รองลงมา ได้แก่ เขต 34 บางขุนเทียน-บางบอน นายสากล ม่วงศิริ ได้ 52,406 คะแนน ไม่เลือกใคร 46,067 คะแนน บัตรเสีย 5,134 คะแนน (96%)


26 เขตกทม.แพ้โนโหวต


ขณะที่คะแนนของผู้สมัคร ส.ส.พรรคไทยรักไทย ที่ได้ต่ำกว่าคะแนนไม่เลือกใครมี 26 เขตด้วยกันคือ เขต 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9, 10, 11, 16, 17, 18, 19, 20, 21, 22, 23, 26, 27, 28, 29, 30, 31, 32, 33 และ 35 โดยเขต 4 ปทุมวัน ราชเทวี (ยกเว้นแขวงทุ่งพญาไท) น.ส.ยุวลักษณ์ อภิธนาคุณ ได้ 16,010 คะแนน ไม่เลือกใคร 29,267 คะแนน บัตรเสีย 1,563 คะแนน (100%) รองลงมาคือ เขต 7 บางคอแหลม นายพงษ์พิสุทธิ์ จินตโสภณ ได้ 16,176 คะแนน ไม่เลือกใคร 26,775 คะแนน บัตรเสีย 1,893 คะแนน (99%) และเขต 5 บางรัก สัมพันธวงศ์-ป้อมปราบศัตรูพ่าย-พระนคร นายจักรภพ เพ็ญแข ได้ 19,032 คะแนน ไม่เลือกใคร 47,718 คะแนน บัตรเสีย 1,897 คะแนน (90%)

ผลการนับคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏว่าหลายพื้นที่คะแนนของผู้สมัครพรรคไทยรักไทย กลับมีคะแนนน้อยกว่าคะแนนของผู้ที่ไม่ประสงค์จะเลือกพรรคใด และเกือบทุกเขตจะมีจำนวนบัตรเสียสูงเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้กรุงเทพฯ มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 4,146,300 คน โดยมีเขตที่มีผู้ลงสมัครคนเดียวทั้งสิ้น 7 เขต คือ เขต 7, 8, 21, 23, 25, 34 และเขต 35

อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครของพรรคไทยรักไทยสามารถฝ่าด่าน 20% ตามที่กฎหมายกำหนดได้ทั้งหมด ซึ่งคะแนนที่ได้จะสูงกว่าเกณฑ์ประมาณ 5-6 พันคะแนนเท่านั้น สำหรับ 29 เขตที่พรรคไทยรักไทยมีคู่แข่งพบว่า ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยชนะคู่แข่งทั้งหมด ส่วนผู้สมัครของพรรคไทยรักไทยที่ได้คะแนนมากกว่าผู้ที่ไม่เลือกใคร มีทั้งสิ้น 10 เขต ได้แก่ เขต 1, 2, 12,13,14,15, 24, 25, 34 และ 36 ขณะที่อีก 26 เขตปรากฏว่าผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทย ได้คะแนนต่ำกว่าคะแนนที่ไม่เลือกใคร


กกต.เผยยอดโนโหวตชนะทรท.


ล่าสุดภายหลังการนับคะแนน กกต.ได้รายงานผลการใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 36 เขตในกรุงเทพมหานครอย่างไม่เป็นทางการจากจำนวนประชาชนผู้มาใช้สิทธิจำนวน 2,631,802 คน จากผู้มีสิทธิทั้งสิ้น 4,146,300 คน โดยคิดเป็นร้อยละ 63.77 มีบัตรดีจำนวน 1,206,853 ใบ คิดเป็นร้อยละ 45.86 ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง และจำนวนบัตรเสีย 105,743 ใบ คิดเป็นร้อยละ 4.02 ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง

ส่วนจำนวนบัตรผู้ใช้สิทธิไม่ลงคะแนน มีสูงถึง 1,319,206 ใบ คิดเป็นร้อยละ 50.13 ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ โดยเฉพาะในเขตเลือกตั้งที่ 5 บางรัก-สัมพันธวงศ์ มีผู้มาใช้สิทธิไม่ลงคะแนนอัตราสูงสุดถึงร้อยละ 69.11 หรือจำนวน 56,277 ใบ จากจำนวนผู้มาใช้สิทธิ 81,430 คน

สำหรับเขตที่มีจำนวนผู้มาใช้สิทธิไม่ลงคะแนนสัดส่วนรองลงมา คือ เขต 4 ปทุมวัน-ราชเทวี ร้อยละ 61.84 หรือจำนวน 29,267 คน จากผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 47,324 คน ซึ่งเห็นได้ว่า ผู้มาใช้สิทธิไม่ลงคะแนนทั้ง 36 เขตกรุงเทพมหานคร มีจำนวนเฉลี่ยมากถึงร้อยละ 50.13 เมื่อเทียบกับจำนวนบัตรดีทั้งหมดที่เฉลี่ยแล้วได้เพียงร้อยละ 45.86 เท่านั้น

สำหรับการลงคะแนนเลือก ส.ส.เป็นรายพรรค ปรากฏว่า เขตเลือกตั้งที่ผู้สมัครพรรคไทยรักไทยได้รับคะแนนมากกว่าคะแนนที่ไม่ประสงค์จะลงให้ใครเพียง 10 เขต คือ เขต 1, 2, 12, 13, 14, 15, 24, 25, 34 และเขต 36 ส่วนอีก 26 เขตที่เหลือคะแนนที่ไม่ประสงค์ลงคะแนนมีมากกว่าคะแนนของผู้สมัคร


เขต3ประจวบฯไม่ถึงเกณฑ์ร้อยละ20


ส่วนการนับคะแนนการเลือกตั้ง ส.ส.ในส่วนของภาคกลาง-ตะวันออกมีพื้นที่ที่น่าติดตามว่าผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยที่ไม่มีคู่แข่งจะได้คะแนนเข้าเกณฑ์ร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้นๆ หรือไม่ โดยเริ่มจากเขต 3 ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยเพียงคนเดียวคือ นายไพรสน ปานทอง พรรคไทยรักไทย ได้คะแนนรวม 15,172 คะแนน ส่วนคะแนนไม่เลือกใคร 44,753 คะแนน บัตรเสีย 9,486 ใบ ถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 20 ที่ต้องได้ 22,265 คะแนน จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งใหม่

ขณะเดียวกันระหว่างการนับคะแนนที่เขต 2 จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อคืนที่วันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมานั้นปรากฏว่า มีบัตรเลือกตั้งเพิ่มมากถึง 2 หมื่นใบ กกต.เขตจึงต้องสั่งตรวจสอบจึงสามารถเริ่มนับได้


เพชรบุรีเขต 1 ต้องเลือกตั้งใหม่


ทั้งนี้ที่ จ.เพชรบุรี เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ต้องลุ้นผลการนับคะแนนกันอย่างหืดจับตั้งแต่ต้นคือ เขต 1 เพชรบุรี ที่มีผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยเพียงคนเดียวเช่นกันคือ นายราชศักดิ์ คล้ายคลึง ได้คะแนน 19,937 ส่วนคะแนนไม่เลือกใครสูงถึง 48,913 และบัตรเสีย 10,759 ซึ่งผลการนับคะแนนของนายราชศักดิ์พบว่า แพ้คะแนนที่ไม่เลือกใครกว่าสองเท่าตัว อีกทั้งผลการนับคะแนนก็ไม่ผ่านเกณฑ์ 20% ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่

ส่วนบรรยากาศการนับคะแนนในเขตเลือกตั้งที่ 3 จ.เพชรบุรี นั้นมีผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยเพียงคนเดียวคือ นายปิยะ อังกินันทน์ เมื่อเจ้าหน้าที่นับไปได้ร้อยละ 81 ปรากฏว่า นายปิยะ ได้คะแนน 17,406 คะแนน ไม่เลือกใคร 27,666 คะแนน ปรากฏว่าช่วงโค้งสุดท้ายคะแนนของนายปิยะสามารถพลิกผ่านร้อยละ 20 อย่างพลิกผัน ทำให้นายปิยะได้เป็น ส.ส.เขต 3 จ.เพชรบุรี


กาญจนบุรีวุ่นบัตร-คะแนนไม่ตรงกัน


ขณะที่ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการที่ จ.กาญจนบุรี พบว่าผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยได้ที่นั่งไปทั้ง 5 เขตเช่นกัน ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตอย่างไม่เป็นทางการ เบื้องต้นพรรคไทยรักไทยได้ที่นั่งทั้ง 5 เขต ในส่วนของจำนวนบัตรเสียและไม่ลงคะแนนรวมกันแล้ว เทียบกับคะแนนที่ผู้สมัครได้ประมาณกึ่งหนึ่ง ยกเว้นเขต 4 ที่มีบัตรเสียน้อยกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่มาใช้สิทธิทั้งหมด

นางอารีย์ อิ้งจะนิล ประธานการเลือกตั้งประจำจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า แม้ว่าผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการจะออกมาแล้วก็ตาม ล่าสุดได้รับรายงานมาว่า เกิดความผิดพลาดเกี่ยวกับการนับคะแนนในเขตการเลือกตั้งที่ 1 เพราะจำนวนบัตรกับคะแนนทั้งหมดมีจำนวนไม่ตรงกัน กำลังรอรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรจาก ผอ.เขต 1 เพื่อจะได้เรียก กกต.จังหวัดประชุมหารือและรายงานให้ กกต.กลาง พิจารณาต่อไป ส่วนปัญหาการร้องเรียนในเบื้องต้นยังไม่มี


สระแก้ว-สุพรรณฯ คะแนนมากเกินคาด


นอกจากนี้ การเลือกตั้งที่ จ.สระแก้ว และ จ.สุพรรณบุรี เป็นพื้นที่ที่น่าจับตามากที่สุด เพราะว่า จ.สระแก้ว เป็นพื้นที่ของนายเสนาะ เทียนทอง แกนนำกลุ่มวังน้ำเย็นที่แยกออกจากพรรคไทยรักไทย แต่การเลือกตั้งทั้ง 3 เขตใน จ.สระแก้วดำเนินไปอย่างไม่มีปัญหา เนื่องผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยทั้ง 3 เขตมีคู่แข่งจากพรรคอื่นลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย ทำให้ผู้สมัครทั้ง 3 เขตได้เป็น ส.ส. โดยไม่ต้องคำนึงถึงเกณฑ์เลือกตั้ง 20% แต่อย่างใด

สำหรับผลการนับคะแนนที่ออกมา พบว่าผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยแต่ละคนได้คะแนนมากอย่างผิดสังเกต เขต 1 นายสุรศักดิ์ เกตุสุภะ ได้ 42,346 คะแนน ส่วนคะแนนไม่เลือกใครมีจำนวน 18,009 คะแนน และบัตรเสีย 9,083 คะแนน เขต 2 นายปัญญา ชาติปัญญาวุฒิ ได้ 49,195 คะแนน ไม่เลือกใคร 15,790 คะแนน และบัตรเสีย 4,420 คะแนน เขต 3 นายธานินทร์ ศุภศักดิ์มนตรี ได้ 51,671 คะแนน ไม่เลือกใคร 10,537 คะแนน และบัตรเสีย 3,005 คะแนน

ส่วน จ.สุพรรณบุรี 5 เขต เป็นพื้นที่ของนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งการเลือกตั้งของเขต 3 และเขต 5 มีผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยเพียงคนเดียว ทำให้ในเขตเลือกตั้งดังกล่าวถูกจับตามองว่า ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยจะได้คะแนนผ่านเกณฑ์ 20% หรือไม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาปรากฏกว่าผู้สมัครไทยรักไทยได้คะแนนสูงเกิน 20% โดยเขต 3 นายวิจิตร เกตุแก้ว ได้คะแนน 35,514 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 28.68 ส่วนคะแนนไม่เลือกใคร 31,277 คะแนน บัตรเสีย 14,053 คะแนน ขณะที่ เขต 5 นายสหรัฐ กุลศรี ได้ 48,673 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 38.76 ไม่เลือกใคร 22,242 คะแนน บัตรเสีย 14,929 คะแนน

ทั้งนี้สำหรับภาพรวมโดยสรุปของภาคกลาง และภาคตะวันออกพบว่า ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยที่ได้รับการเลือกตั้งนั้นมีคะแนนกำกึ่งกันกับคะแนนไม่เลือกใคร โดยบางเขตพบว่าคะแนนไม่เลือกใครมีมากกว่าคะแนนของผู้สมัครไทยรักไทยด้วย


ภาคเหนือกาไม่เลือกมากเกินคาด


วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศผลการนับคะแนนทางภาคเหนือซึ่งเป็นพื้นที่ของพรรคไทยรักไทย ทั้งนี้ในภาพรวม พบว่าผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยสามารถสอบผ่านได้ทุกเขต โดยเฉพาะที่ จ.เชียงใหม่ ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยได้รับเลือกเป็น ส.ส.ทั้ง 11 เขต แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีประชาชนกาช่องไม่ใช้สิทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉลี่ยในแต่ละเขตพบว่ามีประชาชนกาช่องโนโหวตประมาณ 2 หมื่นคน ทำให้ยอดรวมของผู้กาช่องโนโหวตใน จ.เชียงใหม่อย่างไม่เป็นทางการมีจำนวนกว่า 2 แสนคน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2548 ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ใช้สิทธิไม่เลือกใครเพียง 27,000 คนเท่านั้น

เช่นเดียวกับที่ จ.สุโขทัย เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 3 เมษายน ผลการนับคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ทั้ง 4 เขตเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการได้เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยผู้สมัครพรรคไทยรักไทยได้รับเลือกตั้งทั้งหมด และมีคะแนนเกินกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามหลักเกณฑ์ของ กกต.

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าในส่วนผู้ใช้สิทธิกาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนทั้ง 4 เขต มีจำนวนรวมกันสูงถึง 82,906 ใบ ถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่บัตรเสียรวมกันทั้งสิ้น 49,247 ใบ ส่วนผลคะแนนระบบบัญชีรายชื่อของพรรคไทยรักไทยที่ จ.สุโขทัย ได้จำนวน 157,005 คะแนน ผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนนก็สูงถึง 80,904 ใบ มีบัตรเสีย 20,388 ใบ

ขณะที่ จ.แพร่ พบว่าผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยได้รับการเลือกตั้งทั้ง 3 เขต ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้นับเป็นการเลือกตั้งที่มีผู้ใช้สิทธิมากถึง 70% แต่ปรากฏว่า หลังปิดหีบไม่มีผู้สนใจมาลุ้นคะแนน เนื่องจากมีผู้สมัครเพียงคนเดียวถึง 2 เขต มีเพียงคณะกรรมการเท่านั้นที่เริ่มอ่านคะแนนตั้งแต่เวลา 22.00 น.วันที่ 2 เมษายน และมาเสร็จสิ้นเมื่อเวลา 12.30 น.วันที่ 3 เมษายน 2549


อีสาน ทรท.กวาดแต่บัตรเสียเยอะ


ขณะเดียวกัน บรรยากาศการเลือกตั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือถือว่าเรียบร้อยที่สุด โดยผู้สมัครพรรคไทยรักไทยต่างตบเท้ายึดเก้าอี้ ส.ส.ครบทุกพื้นที่ โดยเฉพาะ จ.นครราชสีมา อุดรธานี ขอนแก่น บุรีรัมย์ มีคะแนนเสียงท่วมท้น

ทั้งนี้ในส่วนของ จ.ขอนแก่น พบว่ามีประชาชนบางส่วนไม่พอใจต่อการบริหารงานของนายกรัฐมนตรี โดยเขียนข้อความลงในบัตรเลือกตั้งด้วยข้อความต่างๆ ทั้งนี้พลทหารสุวรรณ กั้วเจริญ ทหารกองเกินกองประจำการมณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร์ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ในเขตเลือกตั้งที่ 2 พบบัตรเสียเกิดจากการเขียนข้อความที่ไม่พึงประสงค์ลงบนบัตรเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 23.30 น.วันที่ 2 เมษายน ร.ต.ท.ปรัชญามาศ ไชยสุระ ร้อยเวร สภ.อ.เมืองขอนแก่น ได้รับแจ้งจากกรรมการประจำเขตเลือกตั้งที่ 1 ที่ศาลาประชาคม จ.ขอนแก่น ว่ามีชายสภาพมึนเมา ถือเบียร์กระป๋องเข้ามาสถานที่นับคะแนน พร้อมกับประพฤติตนวุ่นวายพยายามจะไปแย่งบัตรคะแนนจากทหารที่กำลังนับคะแนน ตำรวจจึงควบคุมตัวไปที่ สภ.อ.เมืองขอนแก่น พร้อมกับตั้งข้อหาเมาสุราประพฤติตนวุ่นวาย และทำการเปรียบเทียบปรับ 100 บาท ก่อนปล่อยตัวไป

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์