'ป.ป.ช.'ส่งหนังสือนัด 'อนุพงษ์-ถวิล' ให้ปากคำคดีสลายม็อบ 53 'วิชา'แจงดีเอสไอ เพิ่มทหารเป็นกรรมการ 99 ศพ เป็นขั้นตอนวิธีการ
เมื่อวันที่ 14 เม.ย. ที่สำนักงานป.ป.ช. นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)
กล่าวถึงความคืบหน้าคดีถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กรณีสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ว่า ตามที่นายอภิสิทธิ์ได้อ้างพยาน 2 คน คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทางป.ป.ช.ได้มีหนังสือไปแล้ว และกำลังประสานอยู่ว่าทั้งสองจะมาตามนัด หรือจะส่งเอกสารชี้แจง ส่วนนายสุเทพนั้นไม่ได้กล่าวอ้างพยานแต่อย่างใดบอกเพียงว่าขอรับผิดชอบเพียง ผู้เดียว
นายวิชา กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่จะซักถาม คือ
กรณีที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาไปว่า ได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการสลายการชุมนุมที่อ้างว่าไม่ใช่สลายการชุมนุมแต่ เป็นการก่อการร้ายในเมือง ซึ่งการก่อการร้ายคงไม่ได้มีทุก ๆ ผู้ชุมนุม เพราะบางคนก็มาร่วมด้วยที่คิดว่า เป็นการชุมนุมปกติธรรมดา แต่เมื่อพบว่ามีการก่อการร้ายหรือใช้อาวุธสงครามนั้นได้มีการปรับเปลี่ยน วิธีการ เปลี่ยนยุทธการ ยุทธศาสตร์อย่างไร เป็นเรื่องของทางทหารอย่างไร ทั้งนี้หากพยานทั้งสองมาให้ถ้อยคำกับป.ป.ช.แล้วเราก็จะนำมาพิจารณาประกอบ พยานหลักฐานอื่น ๆ หากมีความจำเป็นก็อาจจะต้องเรียกมาอีก
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ
เพิ่มเติมกรรมการที่เป็นทหารเข้าไปในการสอบสวนคดี 99 ศพ นั้นจะส่งผลต่อการไต่สวนคดีของป.ป.ช.หรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า ถือว่าเป็นวิธีการ เป็นกระบวนการของดีเอสไอที่จะแต่งตั้งกรรมการร่วมสอบ อย่างไรก็ตามทางป.ป.ช.ได้ดำเนินการขอรายละเอียดมาทั้งหมด พอได้ข่าวว่ามีการทำคดีเพิ่มเติมเราก็ต้องขอมาทั้งหมด รวมทั้งคดีของตำรวจในกรณีที่มีการควบคุมตัว 5 ชายชุดดำที่เป็นข่าวออกมานั้นป.ป.ช.ก็ขอไปด้วย ดังนั้นเมื่อได้พิจารณาหลักฐานจากเรื่องที่ได้มานี้แล้วก็อาจจะมีการเรียก พยานมาให้ถ้อยคำเพิ่มเติมได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากแกนนำนปช. ต้องการที่จะมาให้ถ้อยคำเพิ่มเติม
นายวิชา กล่าวว่า หากมีการขอมา ป.ป.ช.ก็ต้องพิจารณาดูตามที่ป.ป.ช.มีอำนาจพิจารณาในการแสวงหาข้อเท็จจริง อยู่แล้ว สามารถหาพยานหลักฐานได้อย่างกว้างขวาง หากเขาจะมาเราก็จะนำมาประกอบ ว่า จะมาให้ถ้อยคำในแง่ไหนอย่างไร ต้องดูว่าเกี่ยวข้องคดีหรือไม่ ไม่ใช้ให้ถ้อยคำไปเรื่อย ๆ ป.ป.ช.ก็ต้องพิจารณาก่อนว่า จะอนุญาตพยานนั้นหรือไม่.